พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มิติ การปิดกั้นการแสดงออกบนโลกออนไลน์?

วิภาณี ชำนาญไพสณฑ์ และ อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ

ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ร่างแก้ไข พ.ร.บ.) กำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกำหนดการ คาดว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2559 และประกาศใช้ภายในเดือนเมษายน 2560

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (แอมเนสตี้ฯ) ได้ติดตามสถานการณ์การพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวมาโดยตลอด และมีความกังวลอย่างยิ่งว่า หากร่างแก้ไขพ.ร.บ. (ฉบับล่าสุดลงวันที่ 23 พฤศจิกายน) ผ่านการพิจารณา ร่างแก้ไขพ.ร.บ. นี้จะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนไทย อันไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ประการแรก ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ควรถูกบรรจุในร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่ผ่านมา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (มาตรา 14 (1)) มักถูกใช้ตีความอย่างกว้างขวาง และมักถูกพ่วงเข้ามาในการฟ้องร้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เว้นแม้แต่ในคดีที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น กรณีนายอานดี้ ฮอลล์ นักปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกสามปีและปรับ 150,000 บาท จากการเผยแพร่รายงานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดมนุษยชนอย่างรุนแรงของโรงงานไทย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวในเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง แก้ไขพ.ร.บ. ดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของมาตรา 14(1) คือ เพื่ออุดช่องว่างเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อบังคับใช้รองรับกับความผิดฐานหลอกลวง ฉ้อโกง ซึ่งไม่รวมไปถึงกรณีหมิ่นประมาท ทั้งนี้ การใช้มาตรา 14(1) กับฐานความผิดหมิ่นประมาท เป็นการผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของกฎหมายฉบับนี้ และส่งผลกระทบมากมาย

หนึ่ง เป็นการบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว และครอบคลุมถึงการกระทำความผิดบนอินเตอร์เน็ตด้วย

สอง อัตราโทษ ตามมาตรา 14(1) มีอัตราโทษสูงกว่าโทษทางความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนำมาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องในประเด็นการหมิ่นประมาท จึงทำให้จำเลยต้องแบกรับอัตราโทษที่หนักขึ้น

สาม คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ที่สามารถยอมความกันได้ แต่ความผิดตามมาตรา 14 ถือเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยจะตกลงกันได้ก็ตาม แต่ความผิดตามมาตรา 14 ก็ยังต้องดำเนินคดีด่อไป อันส่งผลกระทบต่อตัวจำเลย และทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น

ถึงแม้ว่าตามร่างแก้ไขพ.ร.บ. ล่าสุดฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมว่า การกระทำที่ผิดตามมาตรา 14 (1) จะเป็นความผิดอันยอมความได้หากเป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่หากเป็นการกระทำความผิดที่สร้าง “ความเสียหายแก่ประชาชน” ก็ยังไม่สามารถยอมความได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีเพียงฝ่ายเดียว

ในร่างแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับที่เผยแพร่วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ยังได้บัญญัติเพิ่มเจตนาพิเศษไว้ในมาตรา 14(1) ด้วยว่า ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง หรือเพื่อให้ผู้ถูกหลอกลวง ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ์ กรณีนี้จึงไม่สามารถตีความรวมไปถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ แต่จากร่างแก้ไขพ.ร.บ. ฉบับล่าสุดลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พบว่าเจตนาพิเศษดังกล่าวข้างต้นได้ถูกตัดออกไป

ทางคณะกรรมาธิการฯ เองได้ชี้แจงในงานประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนว่า คณะกรรมาธิการฯ จะเพิ่มเติมข้อสังเกตไว้ด้านท้ายร่างพ.ร.บ. ว่า มาตรา 14 (1) จะไม่ถูกใช้สำหรับกรณีหมิ่นประมาท อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นจากศาลปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือบริษัทให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ว่าเนื้อความมาตรา 14 (1) ยังคงความเคลือบคลุม สามารถตีความใช้สำหรับกรณีหมิ่นประมาทได้ แอมเนสตี้ฯ มีความกังวลอย่างยิ่งว่า มาตราดังกล่าวจะกลับไปเปิดช่องว่างในการตีความต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทได้อีกในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังกังวลในมาตรา 14(2) ที่ระบุถึงความผิดในการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จะเห็นได้ว่า คำนิยามดังกล่าวค่อนข้างกว้างและสามารถตีความได้ในหลายมิติมาก ซึ่งการให้คำนิยามที่กว้างเช่นนี้อาจนำไปสู่การตีความบทลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่แสดงความเห็นบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ แม้รัฐจะสามารถจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกได้ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่การจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ โดยหลักการทั่วไปนั้น บุคคลจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายจึงควรบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การกระทำอย่างไรบ้างที่ถือว่าเป็นความผิด โดยเฉพาะความผิดที่มีโทษทางอาญา

ประการที่สอง ผู้ให้บริการไม่ควรได้รับโทษเท่าผู้กระทำผิดในกรณีที่ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด แอมเนสตี้ฯ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหลายแห่งต่างมีความกังวลต่อมาตรา 15 ของร่างแก้ไขพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้ “ผู้ให้บริการ” ทางอินเตอร์เน็ต ต้องมีความผิดด้วย ในกรณีที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ว่าต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้ให้บริการที่จะต้องพิสูจน์ว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า กรณีใดที่ผู้ให้บริการพบเห็นข้อความที่มีความผิดตามมาตรา 14 แต่มีเจตนาที่จะให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้ข้อความดังกล่าวคงอยู่ต่อไป

นายอัครวิทย์ จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายงานกฏหมาย บริษัท DTAC ได้แสดงความกังวลในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ. “ชีวิตออนไลน์ ไปทางไหนดี” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ว่า “มาตรา 15 เองสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าผู้ให้บริการมีความผิด เว้นแต่จะได้พิสูจน์ว่า ตนได้ปฎิบัติตามประกาศรัฐมนตรีแล้วจึงจะไม่ต้องรับผิด ซึ่งจริงๆ ตามกฎหมายอาญา เราคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด” แอมเนสตี้ฯ เห็นว่า มาตราดังกล่าวอาจนำไปสู่การบังคับผู้ให้บริการต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในทางอ้อม เช่น การลบข้อความที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายการกระทำผิดทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งหรือพิสูจน์ว่า ข้อความดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิด รวมไปถึงอาจนำไปสู่การปิดกั้นไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเด็ดขาด อันถือเป็นการกีดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปโดยปริยาย

นอกจากสองมาตราที่ได้กล่าวถึง ก็ยังมีมาตราอื่นๆ ที่มีเนื้อหาคลุมเครือ ยากต่อการตีความ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ความเป็นส่วนตัวและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

หากร่างแก้ไขพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ. ก็จะคงอยู่ต่อไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วยในอนาคต เจตนารมณ์ที่แท้จริงของพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ก็จะถูกบิดเบือนไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังคงต้องได้รับการปรับแก้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัว