ผลโพลกระทรวงดีอี พบ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นนโยบายรัฐประชาชนรับรู้มากสุด กว่า 97%

เผยผลโพลกระทรวงดีอี พบ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นนโยบายรัฐประชาชนรับรู้มากสุด กว่าร้อยละ 97 ปชช.ส่วนใหญ่พอใจการทำงาน-เชื่อมั่นรัฐบาล ในระดับมากถึงมากที่สุด ไม่พอใจ-ไม่เชื่อมั่น ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 4 ปี และของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 6,250 คน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน 2561 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ สรุปได้ 6 ประเด็น ดังนี้ 1.การติดตาม/รับรู้เกี่ยวกับนโยบายและข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า นโยบาย/โครงการที่ประชาชนรับรู้การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามากที่สุด คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 97.7 รองลงมา คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 96.5 ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ต ในการติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 41.4 ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดตามฯ โดยสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ในการติดตามมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก ร้อยละ 37.5 รองลงมา คือ ไลน์ ร้อยละ 25.8 อินสตาแกรม ร้อยละ 2.8 และทวิตเตอร์ ร้อยละ 2.0 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 58.6 ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดตาม โดยให้เหตุผล เช่น ร้อยละ 32.1 ต้องการรับข้อมูลข่าวสารเป็นข้อความสั้น (SMS) ทางโทรศัพท์มือถือ

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับมาก – มากที่สุด ร้อยละ 59.7 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 34.5 ขณะที่ไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 0.7 และประชาชนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลมากที่สุด คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 63.4 ประเด็นที่ 3 เรื่องที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนในรอบปี 2561 มากที่สุด คือ สินค้าอุปโภค-บริโภคมีราคาแพง ร้อยละ 41.7 รองลงมา คือ การทำเกษตรกรรม เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ราคาปุ๋ย/ยาปราบศัตรูพืชราคาแพง ร้อยละ 34.9 ประเด็นที่ 4 ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2562 ที่ต้องการจากรัฐบาลมากที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภค – บริโภค ไม่ให้มีราคาแพง ร้อยละ 48.0 รองลงมา คือ การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชผลตกต่ำ ราคาปุ๋ย/อาหารสัตว์แพง จัดหาตลาดรองรับ ร้อยละ 30.4 ประเด็นที่ 5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับเชื่อมั่นมาก – มากที่สุดร้อยละ 55.9 เชื่อมั่นปานกลางร้อยละ 37.2 ขณะที่ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 0.9

นายพุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ 6 เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะ เพื่อวางแผนกำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เช่น ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร รายการของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผ่านช่องทางอื่น ๆ ให้มีความหลากหลายน่าสนใจ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ การส่งข้อมูลข่าวสารเป็นข้อความสั้น (SMS) ทางโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานรัฐ/เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในกลุ่ม ต่าง ๆ ทราบและรับรู้ เช่น ประชาชนที่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย อีกทั้ง ควรมีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากขึ้นและทั่วถึง เช่น แก้ปัญหาสินค้าอุปโภค – บริโภคที่มีราคาแพง แก้ปัญหาด้านการเกษตร และช่วยเหลือเงินทุนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมและประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น เช่น โครงการสินเชื่อในด้านต่าง ๆ โครงการส่งเสริมนโยบายการเงินให้แก่ประชาชน โครงการดูแลผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล

มติชนออนไลน์