วิเคราะห์ : เลือกตั้งไม่ราบรื่น ? ประหวั่นเงาทะมึนครอบ จับตา กกต.พิสูจน์-เป็นกลาง

เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งแล้ว ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

หากปฏิทินการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ปที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น

หน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการร่วมกำหนดอนาคตประเทศในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งปัจจุบัน กกต.มีด้วยกัน 7 คน โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ เข้ามาทำหน้าที่เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม

ส่วนอีก 2 ท่านคือ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และนายฐิติเชษฐ์ นุชนารถ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

หากดูจากระยะเวลาในการเข้ามาทำงานกับภาระหน้าที่ที่ต้องจัดการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นงานหินพอสมควรสำหรับ กกต.ชุดนี้

เพราะนอกจากจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบบการเลือกตั้ง กฎ กติกาใหม่ๆ

อีกสิ่งหนี่งที่ท้าทายการทำงานเป็นอย่างมาก คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเป็นกลาง ความสุจริต และความเที่ยงธรรม สามารถทำงานได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายใด

ทว่าแค่เริ่มต้น การทำงานของ กกต.ก็เหมือนจะสะดุด พบแต่อุปสรรค ไม่ค่อยราบรื่น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ไล่มาตั้งแต่เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ากว่ากำหนด จนเป็นเหตุให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องออกมาตรา 44 ยืดเวลาให้ กกต.ได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เหมาะสมมากขึ้น เกิดความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทุกพรรคการเมืองเท่าเทียมกัน เนื่องจากมีหลายเขตเลือกตั้งถูกร้องเรียนและแสดงความเห็นคัดค้านกับรูปแบบที่ กกต.กำหนด

ต่อมาคือประเด็นบัตรเลือกตั้ง ที่จู่ๆ มีกระแสข่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนกาเลือก ส.ส. จะไม่มีชื่อพรรคและโลโก้พรรคปรากฏอยู่ในบัตรเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่า “การใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการขนส่งบัตรเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะที่ผ่านมาเคยเจอกับปัญหาเรื่องส่งบัตรเลือกตั้งไปต่างประเทศแล้ว แต่มีปัญหาในการจัดส่ง และ กกต.จะต้องจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ทัน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเป็นแบบโหล

ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อใช้ด้วยกันได้ทั้งประเทศ จึงสามารถส่งบัตรสำรองได้ทัน

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เบอร์ของผู้สมัครแต่ละพรรคจะแตกต่างกันในแต่ละเขต การจะส่งบัตรเลือกตั้งไปต่างประเทศจะต้องส่งบัตรเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิ โดยจะต้องดูจากภูมิลำเนาเดิมว่าอยู่จังหวัดไหน มีสิทธิในเขตไหน แล้วจึงส่งบัตรเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ไปให้

แต่หากระหว่างขนส่งเกิดปัญหา ก็มีความกังวลว่า กกต.อาจจะจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองไปให้ไม่ทัน เพราะจะต้องเป็นบัตรเฉพาะตัวของแต่ละคน ไม่ใช่บัตรโหลที่ใช้ด้วยกันได้

สำนักงาน กกต.จึงมีข้อเสนอให้ตัดชื่อและโลโก้พรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง ให้เหลือแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น

แน่นอนว่า หลังจากปรากฏข่าวนี้ออกมา พรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ต่างพาเหรดออกมารุมถล่ม กกต.กันยกใหญ่

เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่าการตัดชื่อพรรคและโลโก้ออกจากบัตรเลือกตั้งนั้นน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

รวมทั้งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สร้างภาระ รวมทั้งจะยิ่งสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก

เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครของพรรคจะมีหมายเลขแตกต่างกัน ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า การตัดชื่อและโลโก้ออกนั้น มีใบสั่งหรือถูกใครแทรกแซงการทำงานหรือไม่ หรือต้องการลดทอนคะแนนของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งมีคะแนนหรือไม่

ต้องการเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดหรือไม่

จากเสียงสะท้อนและเสียงวิจารณ์ที่ค่อนไปทางติดลบดังกล่าว ส่งผลให้สำนักงาน กกต.ต้องรีบออกมาชี้แจงว่าแนวทางดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อยุติ เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น กระทั่งในที่สุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กกต.นำเรื่องบัตรเลือกตั้งเข้าหารือในที่ประชุมและมีมติไม่เอาด้วยกับแนวคิดการตัดชื่อพรรคและโลโก้พรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง

ยืนยันว่าบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งนั้นจะมีทั้ง “ชื่อพรรค หมายเลข และโลโก้” อย่างแน่นอน

ซึ่งกรณีนี้นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า

“บัตรเลือกตั้งครั้งนี้ขอเรียกว่าเป็นบัตรประวัติศาสตร์ หรือบัตรไฮบริด เพราะที่ผ่านมามีบัตร 2 อย่าง คือ บัตรดั้งเดิม เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งมีตัวเลขกับช่องกากบาท จนกระทั่งปี 2544 มี ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น บัตรเลือกตั้งจึงถูกศัลยกรรมให้มีหน้าตา แต่งหน้าให้ด้วย โดยมีชื่อและโลโก้ ดังนั้น ในการประชุมลงมติรูปแบบบัตรเลือกตั้ง กกต.อยากเห็นบัตรที่มีทั้งชื่อ โลโก้ และหมายเลข หรือรวมเอาบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบมาไว้ในบัตรใบเดียว พิมพ์บัตรแตกต่างกัน 350 เขต เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

“ซึ่งทางโรงพิมพ์ยืนยันว่าสามารถจัดพิมพ์บัตรได้ตามกรอบเวลา กกต.จึงมีมติให้พิมพ์บัตรซึ่งแต่ละเขตจะไม่ซ้ำกัน โดยมีทั้งชื่อ หมายเลข และโลโก้พรรค”

ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจและต้องจับตาดู โดยเฉพาะประเด็นที่ กกต.นัดพรรคการเมืองมาหารือใน 3 ประเด็นหลักคือ

1. การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10-70 ล้านบาท

2. การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ การกำหนดสถานที่ หรือที่ปิดประกาศแผ่นป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง

และ 3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งเวทีดังกล่าว ทาง กกต.เปิดให้พรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งพรรคขนาดใหญ่และพรรคเล็กได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และเมื่อได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกันและเหมาะสม กกต.ก็จะนำข้อมูลที่ได้รับไปประมวลและจัดทำร่างระเบียบต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าร่างระเบียบที่ กกต.จะออกมานั้น จะเป็นที่พอใจของนักการเมืองหรือไม่ หรือจะมีแนวคิดพิสดารอะไรออกมาจนทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกหรือไม่

ภารกิจจัดการเลือกตั้ง นับเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นกลางของ กกต.ชุดนี้เป็นอย่างมาก