อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สิทธิมนุษยชนหรือความมั่นคง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หนังสือพิมพ์ New York Times ตั้งคำถามการจับกุม นาง Meng Wanzhou เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน หัวเว่ย (Huawei) โดยการประสานงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกาที่ประเทศแคนาดาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชนหรือความมั่นคง1 กันแน่

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวชี้ว่า ในอดีต รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเวลาเผชิญหน้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหรัฐมากกว่าอย่างอื่นคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และความมั่นคง (Security)

แล้วเรื่องการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีน “หัวเว่ย” ครั้งนี้มาจากสาเหตุอะไร

 

บริษัทเทคโนโลยี
พรรคคอมมิวนิสต์และสายเหยี่ยว

มีการตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาประสานงานกับทางการแคนาดาดำเนินการจับกุมนาง Meng Wanzhou โดยไม่ได้บอกกล่าวหรือให้ข้อมูลล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่จะส่งสารสำคัญนี้ระหว่างการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้นเชียวหรือ

การเจรจาครั้งนั้นซึ่งมีผลให้มีการชะลอการขึ้นภาษีของทางการสหรัฐอเมริกาต่อสินค้าจีนออกไป 90 วัน นี่เป็นเพียงการขัดขวางการเจรจาการค้าของสายเหยี่ยวสหรัฐอเมริกาที่วางกับดักฝ่ายประนีประนอมของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นหรือ

ข้อกล่าวหาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาในการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหัวเว่ยครั้งนี้คือ บริษัทหัวเว่ยละเมิดการแซงก์ชั่นการค้าขายกับอิหร่าน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วบริษัทการค้าจีนทำการค้ากับทางการอิหร่านเป็นประจำอยู่แล้ว

คำถามคือ บริษัทหัวเว่ยขายเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาไปให้อิหร่านหรือขายให้อิหร่านในลักษณะอื่น

จริงๆ แล้วทางการสหรัฐอเมริกาทั้งทำเนียบขาว เอฟบีไอ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง อนุกรรมาธิการวุฒิสภาด้านความมั่นคงติดตามเรื่องเทคโนโลยีของบริษัทจีนกับความมั่นคงของสหรัฐอเมริกามานานแล้ว ทางการเอฟบีไอมองถึงบริษัทหัวเว่ยว่าเจ้าหน้าที่หัวเว่ยทำงานในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอฟบีไอมีการประชุมเรื่องบริษัทหัวเว่ยเกือบทุกวัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ย้ำถึงการก้าวทะยานของพลังอำนาจเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเชื่อมโยงเรื่องการค้ากับความมั่นคงแห่งชาติ (national security) มากขึ้น

ทำเนียบขาวได้จำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐอเมริกาและขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 250 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อ่อนไหว เช่น ชิ้นส่วนปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเซมิคอมดักเตอร์2 (semiconductor)

ในอดีต ทางการสหรัฐอเมริกาจัดการเรื่องนี้ในบางกรณีโดยเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ของพรรคความมิวนิสต์จีน

แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงอเมริกันตั้งคำถามเกี่ยวกับความใกล้ชิดระหว่างบริษัทหัวเว่ย คือ หน่วยงานด้านความมั่นคงของจีนและกองทัพประชาชนปฏิวัติ (People”s Liberation Army)

แล้วพบว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยและเป็นบิดาของนาง Meng คือ Ren Zhengfei อดีตวิศวกรกองทัพบกจีน ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน3

ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐอเมริกาได้รณรงค์ต่อต้านบริษัทหัวเว่ย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรรมาธิการด้านกิจการความลับของวุฒิสภาได้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีจัสติน ทูรโด แห่งแคนาดาให้เขาป้องกันไม่ให้บริษัทหัวเว่ยจำหน่ายอุปกรณ์เครือข่าย 5G ให้กับแคนาดา

ถ้าหากนาง Meng ถูกขับออกนอกประเทศจากแคนาดาแล้วเข้ามาระบบไต่สวนในระบบยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา อัยการสหรัฐอาจต้องพยายามแสดงความเชื่อมโยงบริษัทหัวเว่ยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและหน่วยงานต่างๆ ของทางการจีน เพื่อให้เกิด “ดราม่า” ความเป็นไปได้ของประเด็นความมั่นคง

ตอนนี้ทั่วโลกทราบอยู่แล้วว่า ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่พอใจอย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งโดยการปฏิเสธและยังเป็นการฉีกหน้าท่ามกลางการเจรจาช่วงที่ผู้นำทั้งสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน4 มีสิ่งที่ควรติดตามต่อไปคือ

ราคาหุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสำคัญต่างๆ น่าติดตาม ท่าทีของบริษัทและทางการไทยโดยโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงไทย ซึ่งในงบประมาณมหาศาลเรื่อง cyber security แต่ไม่ทราบว่าใช้อุปกรณ์ยี่ห้ออะไร “หัวเว่ย” หรือเปล่า

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยคิดอย่างจริงจังเรื่องเทคโนโลยีและความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างไร

ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นความลับที่ดังไปทั่วเช่นนี้ แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยไม่เคยอธิบายอะไรเลย

ที่สำคัญไปกว่านี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนยังดำเนินต่อไป แล้วหญ้าแพรกอย่างไทยจะเหลืออะไร

อยากได้ยินนโยบายที่จับต้องได้ของว่าที่นายกรัฐมนตรีไทยจังเลยครับ

ได้โปรด

———————————————————————————————————————————
(1) Mark Lander, Edward Wong and Katie Benner, “Arrest of Chinese Executive Intensifies Trade War Fears” New York Times, 6 December 2018.
(2) Ibid.,
(3) Ibid.,
(4) “China protests against top Huawei exec”s arrest in Canada” Business Times, 6 December 2018.