ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 เทศกาลศิลปะกลางแจ้ง ที่หลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลีน (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ (Thailand Biennale Krabi 2018)

ยังมีผลงานศิลปะที่หลอมรวมตัวอย่างกลมกลืนไปกับธรรมชาติ, สภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกระบี่อีกหลายต่อหลายชิ้น

ไม่ว่าจะเป็น ผลงานของศิลปินไต้หวัน ตู้เหว่ยเจิ้ง (TU Wei-cheng) อย่าง Giant Ruins ในถ้ำบนเขาขนาบน้ำ ที่เป็นประติมากรรมทำเลียนแบบโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ถูกขุดพบในถ้ำโดยนักโบราณคดี (ซึ่งเคยมีการขุดพบจริงๆ) ได้อย่างสมจริง

Giant Ruins ผลงานของตู้เหว่ยเจิ้ง , เขาขนาบน้ํา

เพียงแต่กระดูกที่ว่านั้น เป็นโครงกระดูกมนุษย์ขนาดมหึมา มีเขี้ยวโง้งเหมือนยักษ์ ที่ถูกโครงกระดูกงูยักษ์เลื้อยรัดอยู่ยังกับในหนังยังไงยังงั้น!

Giant Ruins ผลงานของ ตู้เหว่ยเจิ้ง , เขาขนาบน้ํา

ในถ้ำยังมีชิ้นส่วนกระดูกและวัตถุโบราณที่ทำจากสำริด, ดินเผา ตั้งโชว์ไว้ในตู้กระจกเหมือนในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีของจริง

Giant Ruins ผลงานของตู้เหว่ยเจิ้ง , เขาขนาบน้ํา

แต่ถ้าดูให้ดีๆ ข้างในตู้ดันมีตุ๊กตาสำริดรูปตัวละครการ์ตูนสมัยใหม่อย่างเฮลโลคิตตี้, นกฮูกแสนรู้ และช้างน้อยแสนซนอยู่ด้วยเนี่ยสิ!

เรียกว่าเป็นงานศิลปะที่แฝงตัวแนบเนียนไปกับสภาพแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการล้อเลียนได้อย่างยียวนจริงๆ อะไรจริง!

หรือผลงานของศิลปินไทย ดุษฎี ฮันตระกูล อย่าง I”m waiting on for the future of more water to come ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific Installation) ในรูปสปริงบอร์ดกระโดดน้ำ และบันไดสระว่ายน้ำ ที่ติดอยู่บนโครงสร้างอาคารเก่าทิ้งร้าง กลางสวนสาธารณะธารา เขตเทศบาลส่วนใต้

I’m waiting on for the future of more water to come ผลงานของดุษฎี ฮันตระกูล , สวนสาธารณะธาราเทศบาลส่วนใต้

ผลงานอันพิลึกพิลั่นชิ้นนี้ของเขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการพยากรณ์ถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ไม่อาจป้องกันได้

ได้ยินว่าไอเดียแรกของงานชิ้นนี้ ดุษฎีคิดจะติดปริงบอร์ดและบันไดสระบนหน้าผาริมทะเลในกระบี่

แต่ทางผู้จัดงานไม่อนุมัติ แหม.. ถ้าทำได้จริงคงแซบน่าดูชม!

หรือผลงานของศิลปินกรีซ วาเลนตินา คาร์กา (Valentina Karga) อย่าง Coming Community บนเกาะกลาง ประติมากรรมจัดวางในรูปของกลุ่มเสาที่ก่อขึ้นจากอิฐดินเผาและเสาระเบียงกระเบื้องเคลือบ ที่เธอใช้เวลาร่วมกับเด็กๆ และชาวบ้านในชุมชน กับช่างท้องถิ่นในโรงงานบนเกาะทำขึ้นมา

Coming Community ผลงานของวาเลนตินา คาร์กา,เกาะกลาง

“ฉันใช้เวลาหนึ่งเดือนร่วมใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่นในชุมชนบนเกาะกลาง เพราะฉันต้องการมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่นี้ เพราะตัวฉันเองมาจากประเทศในยุโรปที่มีบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และฉันไม่มีทางมีส่วนร่วมกับพวกเขาได้เลย ถ้าฉันไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับพวกเขา เสาแต่ละต้นเหล่านี้เป็นตัวแทนของคุณค่าใหม่ๆ ภายในชุมชน โดยได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของกรีก ที่เป็นสัญลักษณ์ของการค้ำจุนบางสิ่งบางอย่าง ทั้งในเชิงสถาปัตยกรรมและอารยธรรม”

“เสาเหล่านี้เป็นเหมือนคุณค่าทางจิตใจ ที่ค้ำจุนชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงค้ำจุนโลกใบนี้ในยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรากำลังล่มสลาย, เปลี่ยนแปลง และเต็มไปด้วยความหวาดกลัว”

“ฉันมีความเชื่อว่า สิ่งใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ และเราต้องสนับสนุนพวกเขาทั้งทางความคิด, จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึก เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง”

วาเลนตินา คาร์กา กล่าวถึงผลงานอันลึกซึ้งชุดนี้ของเธอ

หรือผลงานของศิลปินไทย ยุรี เกนสาคู อย่าง Nagabi Transferry (นาวาพญานาคาแห่งกระบี่)

นาวาพญานาคาแห่งกระบี่ผลงานของยุรี เกนสาคู,ท่าเรือขนาบน้ํา(ปูดํา) ภาพถ่ายโดย อรุณ เพิ่มพูนโสภณ

ผลงานจิตรกรรมจัดวางบนเรือหัวโทง เรือท้องถิ่นของกระบี่ ที่ท่าเรือขนาบน้ำ (ปูดำ) ยุรีวาดภาพสีสันสดใสเปี่ยมเอกลักษณ์ของเธอทั่วตัวเรือด้านใน

นาวาพญานาคาแห่งกระบี่ ผลงานของยุรีเกนสาคู , ท่าเรือขนาบน้ํา (ปูดํา) ภาพถ่ายโดยอรุณ เพิ่มพูนโสภณ

ส่วนด้านนอกหุ้มประดับด้วยแผ่นสเตนเลสมันวาวที่สะท้อนภาพท้องทะเลรอบด้านยามล่องเรือ

แถมหัวเรือยังหุ้มด้วยประติมากรรมไฟเบอร์กลาสรูปพญานาคหน้าตาน่ารักเปี่ยมสีสันอีกด้วย

“ชื่องานชิ้นนี้ได้มาจากชื่อของ Naga (พญานาคในภาษาอังกฤษ) ผสมกับคำว่ากระบี่ รวมกันเป็นชื่อ Nagabi หรือ พญานาคแห่งท้องทะเลกระบี่ แนวคิดเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ก็คือ ปกติเราจะวาดรูปความไม่ชอบหรือความกลัวของตัวเองมาตลอด โดยผสมกับเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว ซึ่ง “น้ำ” ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรามีความกลัวอยู่ลึกๆ มาตลอด”

“พอเราได้รู้ว่าต้องทำงานในพื้นที่นี้ เราจึงเลือกทำงานกับเรือ เพราะเรือเป็นเหมือนพื้นดินหรือที่ปลอดภัยที่ลอยอยู่ในน้ำ และในอดีตเรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินหรือกวีสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงถูกใช้ในการทำมาหากินของผู้คน”

“เราจึงมองว่าเรือเป็นสิ่งพิเศษ เป็นสัญลักษณ์ของอะไรหลายๆ อย่าง, ในอดีต จังหวัดกระบี่เองก็ใช้เรือหัวโทงเป็นเรือประมงมาก่อน จนภายหลังมันถูกปรับใช้เป็นเรือโดยสาร เราเลยเลือกทำเรือชนิดนี้ออกมาในลักษณะที่เชื่อมโยงกับงานของเราให้มากที่สุด”

“คือการใช้ภาพวาดเป็นส่วนสำคัญของงาน โดยได้แรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้านเรื่อง “นางเบญจา” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหลายจังหวัดทางภาคใต้, ที่เราทำหัวเรือเป็นรูปพญานาค ก็เพราะตำนานนางเบญจามีพญานาคเป็นตัวละครหลัก”

“พญานาคก็เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งกระบี่ก็เป็นจังหวัดที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร, ด้วยความที่เราอยากให้เรือมีสีสันสนุกสนาน เราเลยเลือกที่จะทำพญานาคให้เป็นสีรุ้งอย่างที่เห็น”

“เราอยากเปรียบเปรยให้เรือลำนี้เป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นที่พาคนดูงานศิลปะในเทศกาล หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือการจินตนาการถึงผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นชื่อธีมของเทศกาลครั้งนี้”

ยุรีกล่าวถึงผลงานเรือศิลปะอันเปี่ยมสีสันสดใสสนุกสนานของเธอ

อ้อ ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เพียงให้ดูด้วยตาอย่างเดียวนะ แต่มันถูกใช้งานเป็นเรือข้ามฟากให้ผู้ชมงานโดยสารกันตลอดระยะเวลา 4 เดือนของเทศกาลนี้อีกด้วย ชมวิดีโอผลงานนี้ได้ที่นี่ https://bit.ly/2zhuciE

หรือผลงานของศิลปินรัสเซีย วลาดิมีร์ อาร์คิพอฟ (Vladimir ARKHIPOV) อย่าง OTmusuemThai ที่เขาหยิบยืมข้าวของเครื่องใช้แบบดีไอวายที่คนทั่วไปทำขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างอ่างล้างหน้าทำจากยางรถยนต์ ม้านั่งทำแพซ่อมแพทำจากทุ่นลอยน้ำ ฯลฯ มาแสดงในพื้นที่สาธารณะบนถนนคนเดินคลองแห้ง หาดนพรัตน์ธารา ในฐานะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต

OTmusuemThai ผลงานของวลาดิมีร์อาร์คิพอฟ , ถนนคนเดินคลองแห้งหาดนพรัตน์ธารา

“ผมสนใจเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้แบบดีไอวาย ที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อใช้เองเป็นประจำ ข้าวของเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มันอาจจะดูแปลกและแตกต่างจากของสำเร็จรูปที่มีอยู่ทั่วไป แต่มันก็ใช้งานได้จริง”

OTmusuemThai ผลงานของ วลาดิมีร์ อาร์คิพอฟ , ถนนคนเดินคลองแห้ง หาดนพรัตน์ธารา

“เวลาผมไปเจอข้าวของเหล่านี้ที่ไหน ผมก็จะไปติดต่อขอสัมภาษณ์ ว่าพวกเขาทำมันขึ้นมาเมื่อไหร่, เพื่ออะไร, ใช้งานยังไง เหมือนเป็นการเล่าเรื่องราวโดยผู้ที่ทำมันขึ้นมา และผมก็ยืมมันไปแสดงในสภาพเดิมโดยไม่มีการดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ควบคู่ไปกับบทสัมภาษณ์ ภาพถ่าย ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าของผลงาน เพื่อให้ผู้ชมงานโทร.ไปสอบถามเกี่ยวกับของชิ้นนั้นๆ ได้ เมื่อแสดงเสร็จ ข้าวของเหล่านี้ก็จะถูกส่งกลับคืนสู่เจ้าของ”

“ผมต้องการให้ผู้ชม รวมถึงคนที่ทำข้าวของเหล่านี้ขึ้นมาเกิดความคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองว่าของเหล่านี้คืออะไร? หรือแม้แต่ตั้งคำถามว่า ศิลปะคืออะไร? และมีหน้าที่อะไรกันแน่?”

วลาดิมีร์ อาร์คิพอฟ กล่าวถึงผลงานอันสุดแสนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของเขา

หรือผลงานของศิลปินเยอรมัน อราม บาร์ธอลล์ (Aram Bartholl) ผู้สำรวจสภาวะของมนุษย์ในยุคดิจิตอลได้เจ็บแสบที่สุดคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน อย่าง Petfect Brach HD ศิลปะแสดงสดประกอบฉากไวนิล พิมพ์รูปชายหาดเขตร้อนสวยแบบเว่อร์ๆ ที่คนมักจะใช้เป็นภาพสกรีนเซฟเวอร์หรือวอลล์เปเปอร์บนจอคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาสามฉาก

Petfect Brach HD ผลงานของ อราม บาร์ธอลล์ , หาดไร่เลย์

ให้นักแสดงเดินยกออกไปบนชายหาดไร่เลย์ให้นักท่องเที่ยวดู ให้พวกเขาโพสท่าถ่ายรูปคู่เปรียบระหว่างหาดดิจิตอลกับหาดจริงที่อยู่ตรงหน้า

“ผลงานชุดนี้ของผมเป็นการแสดงสดบนชายหาดที่ใช้ฉากไวนิลขนาดใหญ่พิมพ์รูปชายหาดเขตร้อนสวยๆ ที่ผมหามาจากอินเตอร์เน็ต หลายภาพเป็นภาพที่ถูกตกแต่งและตัดต่อขึ้นมาใหม่”

Petfect Brach HD  ผลงานของอราม บาร์ธอลล์  , หาดไร่เลย์

“บางภาพมีต้นปาล์มอยู่บนชายหาด ซึ่งถูกตัดต่อต้นปาล์มต้นเดิมลงไปอีกมุมของภาพเพื่อความสวยงามลงตัวจนดูน่าขัน ชายหาดเขตร้อนเหล่านี้เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนในยุโรป ภาพของชายหาดเขตร้อนเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่อันพิเศษและสมบูรณ์แบบ”

“เมื่อผมให้นักแสดงแบกฉากพวกนี้ออกไปที่ชายหาด มันเลยเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าขัน เพราะคุณอยู่บนชายหาดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนแบกภาพของชายหาดจากที่อื่นออกมาข้างหน้า ปฏิกิริยาของคนที่เห็นก็มีทั้งงุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการให้พวกเขาสงสัยและตั้งคำถาม, บางคนก็ขบขัน หรือรำคาญ”

“แต่ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคนมาถ่ายรูปหน้าฉากชายหาดเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจด้วยเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็น่าตลก เพราะเอาจริงๆ พวกเขาก็อยู่บนชายหาดจริงๆ อยู่แล้ว”

“ในปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับโลกสองมิติบนจอ เมื่อคุณดูรูปในอินเตอร์เน็ตที่มี #แฮชแท็กเป็นชายหาดต่างๆ คุณจะเห็นรูปเป็นตันๆ ของผู้คนที่อยู่ริมทะเลที่โพสท่าถ่ายรูปเหมือนกัน กระโดดตัวลอยแบบเดียวกัน จนกลายเป็นแบบแผนซ้ำๆ ที่ทุกคนต้องทำเมื่อไปเที่ยวทะเล ผมต้องการทำลายแบบแผนเหล่านี้ลงน่ะนะ”

อราม บาร์ธอลล์ กล่าวถึงผลงานสุดแสบสันของเขา ดูวิดีโอผลงานนี้ได้ที่นี่ https://bit.ly/2DAIMVd

ในเทศกาลยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมายหลายคน อย่างผลงานของศิลปินญี่ปุ่น อากิ อิโนมาตะ (Aki INOMATA) ที่ใช้ตัวบีเวอร์ทำประติมากรรม

ผลงานของศิลปินไทย คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่เป็นห้องกระจกสะท้อนภาพทะเลได้อย่างงดงามน่าอัศจรรย์

หรือแม้แต่ผลงานที่ไม่ได้ทำขึ้นมาจริงๆ ของศิลปินตุรกี ไอเซ่ แอ็กมัน (Ay?e Erkmen) และผลงานหนังสั้นของศิลปินไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ถูกเซ็นเซอร์และห้ามฉายโดยผู้จัดงาน (ซึ่งเราจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ จัดขึ้นในจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2018 – 28 กุมภาพันธ์ 2019 ใครสนใจจะไปชม ก็เข้าไปดูรายละเอียดของสถานที่ติดตั้งงาน, ข้อมูลศิลปิน, ตารางกิจกรรม หรือดาวน์โหลดไกด์บุ๊กของงานได้ที่ http://thailandbiennale.org/th/ กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย/ศิลปิน ยุรี เกนสาคู