เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เล่าผ่านลายผ้า

“ให้ฮักแพงกันไว้ เด้อชาวไทย สิเฮืองฮุ่ง

ให้หุงข้าวน้ำ ยามไทบ้านอื่นมา

บุญบ้านเฮามาฮอดแล้ว เสียงแซวๆ คนมาร่วม

รวมพลังเด้อพี่น้อง เสียงกลองฆ้องสนั่นเมือง

สามัคคีกันเอาไว้ โฮมหัวใจให้เป็นหนึ่ง

บุญมาฮอดมาถึง ของบ้านเฮาเทื่อนี้ มีคุณค่าให้จื่อจำ

ให้ตุ้มโฮมกันเอาไว้ บุญบ้านเฮายามใด๋ให้คนส่า

บ่อึดเหล้า อึดยา ผลหมากรากไม้ อาหารพร้อมอยู่สู่แนว”

คํากวีบันทึกบรรยายลายผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามของตระกูล “วงศ์ปัดสา” ท้ายคำกวีบันทึกมีความต่อท้ายว่า

อัญญา วัง วงศ์ปัดสา…และชาว…ผู้มัดหมี่ยังมีผ้าลายอื่นอีกที่ลงท้ายชัดเจนว่า

อัญญา บุญทอง วงศ์ปัดสา ผู้แต่งกลอน

เข้าใจว่าสองสามี-ภรรยาคู่นี้คือ นายบุญทองและนางวัง เป็นผู้ให้กำเนิดลายผ้า โดยนางวังเป็นผู้ทอผ้าและมัดหมี่เป็นลายต่างๆ แล้วผู้สามีคือนายบุญทองเป็นผู้แต่งกลอนพร้อมเล่าเรื่องประกอบลายผ้านั้นๆ

คำ “อัญญา” นั้นหมายถึงผู้สืบเชื้อสายจากอัญญาผู้ปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานี ที่ปัจจุบันคือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

บัดนี้ผู้รับมรดกสืบทอดผ้าทอมัดหมี่จากลายโบราณรุ่นปู่ย่าตายายมาถึงรุ่นหลานก็คือ “ป้าติ๋ว” หรือนางขนิษฐา วงศ์ปัดสา ผู้สามีคือนายรังสฤษณ์ และบุตรชายคือนายพิฆเณศ วงศ์ปัดสา เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม

ป้าติ๋วนั้นนอกจากสืบทอดวิชาทอผ้ามัดหมี่ลายโบราณตามมรดกผืนผ้าได้ทุกลายแล้ว ยังคิดประดิษฐ์ลายใหม่ๆ เหมาะสมยุคสมัยอีกหลายลายด้วย

บทกวีบรรยายลายผ้าลายนี้ชื่อลาย “ตุ้มโฮม” หรือชื่อเต็มว่า “ลายตุ้มโฮม ฮักแพงแบ่งปัน”

คุณครูไพศาล วงศ์ปัดสา บิดาของป้าติ๋วบันทึกเล่าเรื่องลาย “ตุ้มโฮม ฮักแพงแบ่งปัน” ว่า

“เกิดจากการตีกลองร้องป่าว ในสมัยก่อน การรวมตัวของชาวบ้านเมื่อได้ยินเสียงกลองตุ้มโฮมที่วัดเพื่อจัดงานบุญของทุกปี เพื่อความสามัคคี รักใคร่ปรองดองของคนในหมู่บ้าน เวลาค่ำแลงลง ชาวบ้านก็รวมกัน กองประชุมทุกครัวเรือนก็จะส่งลูกชายเพื่อร่วมแรงร่วมใจกัน การรำครั้งแรกของชาวบ้าน กงพะเนียง คือการรำตุ้มพาง เกิดจากชาวบ้านร่วมกันทำบุญ ตีฆ้องร้องป่าว และจุดธูปเทียน ขอเชิญพญานาคขึ้นมาร่วมบุญ นางหนึ่งเกิดเป็นลมล้มลง แล้วลุกขึ้นมาฟ้อนรำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านจึงถามว่า รำอะไรสวยงามมาก นางจึงตอบว่า “รำตุ้มพาง” มีท่ารำ”

ลายตุ้มโฮมจึงมีท่ารำตุ้มพางเป็นเรื่องเล่าประกอบ

คํา “ตุ้ม” ก็คือเสียงกลองที่ตีดัง “ตุ้ม ตู้มๆๆ” อันเป็นที่มาของคำ “ทุ่ม” ที่บอกโมงยามนั่นเอง

คำ “โฮม” หมายถึง “รวม” ในภาษาอีสาน

ตุ้มโฮมจึงหมายถึงสัญญาณการประชุมรวมตัวกันที่วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของประชาคมชาวบ้านแต่โบราณ

เรื่องเล่าจากลายผ้าทำนองนี้ ยังมีเช่น “ลายนาคน้อย”

พ.ศ.2427 เกิดขึ้นพร้อมกับมีชาววงศ์ปัดสาสร้างวัดกลางเมื่อนานมาแล้ว ข่าวเล่าขานกันอยู่มิขาดระยะ คือชาวบ้านโคกกงพะเนียงได้พบเห็นนางสองนางมายืมฟืม ในเวลาบ่ายคล้อยเกือบค่ำ วันศีล 5 พอดี วันนั้นมีลมพัดโชยมาเยือกเย็นผิดปกติ นางฟางนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน นางทั้งสองสวยผิวขาวเหลือง มีปิ่นปักผม 3 ช่อ ข้างหูทั้งสองข้าง ผมยาวกลางหลัง นางยิ้มและพูดว่า “ข้ามาขอยืมฟืมเจ้าไปทอผ้าสัก 5-6 วันแล้วจะเอามาส่งคืน” นางฟางตอบว่า “ทำไมเร็ว จะทออะไรถึงได้ทอ 5-6 วัน” นางบอกว่า “ข้าจะทอผ้ามัดหมี่ลายนาคน้อย”

“เจ้าให้ยืมเถิด ข้าจะทอลายนาคน้อยมาให้เจ้าดู” แล้วนางฟางก็ถามว่า บ้านเจ้าอยู่ที่ใด นางตอบ “อยู่ฝั่งห้วยใกล้ๆ นี่เอง” นางฟางคิดว่าเป็นชาวบ้านท่าปัดซุมฝั่งลาวนั่งเรือมายืมจึงให้ไป

5 วันต่อมาอากาศอึมครึม ลมเย็นๆ เช่นเดิม เวลาเดิม นางทั้งสองเดินเข้ามา “ข้าเอาฟืมมาส่งแล้ว” นางก็อวดผ้าซิ่น นางฟางรีบเดินมาขอดูใกล้ๆ ก็ตกใจ ลายผ้าเป็นตัวนาคน้อยจริงๆ นางบอกว่า “เจ้าทอลายนี้นะ ข้าจะอวยพร ใส่แล้วชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข”

ถ้าเจ้าเห็นบั้งไฟผุดขึ้นเหนือน้ำ เจ้าอย่าพากันตกใจ คือพญานาคท่านมาอวยพรให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน แล้วนางก็เดินจากไป นางฟางคิดว่าทำไมจึงอวยพรอย่างนี้ จึงรีบชวนนางจันนางยืนแอบตามไปส่องทางดูว่าจะกลับไปบ้านใด นางย่องไปจนถึงฝั่งโขงเห็นสองนางโบกมือลา นางฟางตกใจว่า กูอยู่ในป่ากล้วยแท้ๆ ทำไมนางถึงได้เห็น ภาพที่นางฟางได้เห็นคือ นางเดินลงน้ำ เห็นแต่เส้นผมฟูน้ำหายไป…ฯ”

เรื่องเล่าในแต่ละลายผ้าฝากภูมิประวัติที่เป็นตำนานน่าศึกษาจดจำ โดยเฉพาะจากลายนี้ชื่อ “ลายช่อเทียน”

เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ของเมืองสยาม ชาวบ้านโคกกงพะเนียงอยู่ในศีลกินในธรรมมาโดยตลอด ผู้ชายก็ออกรบอยู่ไม่ขาด ถ้าทางราชการต้องการก็จะส่งคนที่เก่งฟันดาบคาถาอาคมไปช่วยอยู่มิขาด

เมื่อนางนวลตั้งท้องได้ 3 เดือน สามีของนางถูกส่งไปช่วยเหลือราชการแดนไกล เมื่อไปแล้วถูกส่งไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองหลวง เพราะสามีนางเก่งกาจวิชาอาคมบู๊บุ๋น

นางสวดมนต์ภาวนาเสมอ นางเป็นผู้นำชาวบ้านลงวัดผู้นำขึ้นบทสวด ผู้นำร้องสรภัญญะ เสียงของนางไพเราะ ใสเหมือนระฆัง นางเลี้ยงลูกได้ 9-10 ปี มีทหารขี่ม้าส่งข่าวสารเขียนว่า

“ข้าสบายดี จะได้กลับบ้านเราแล้ว ให้นำข่าวไปบอกญาติๆ ข้าด้วย คิดถึงทุกชั่วทุกยาม” ข้าคำหาญ

นางดีใจจนสุดที่จะบรรยาย นางได้จุดเทียนสวดมนต์ด้วยน้ำตา และตั้งใจว่าจะมัดหมี่ลายช่อเทียนเป็นครั้งแรกโดยจำลองเอาเทียนที่ตนไหว้พระสวดมนต์มาทำแนวลายมัดหมี่ นางมัดหมี่เพื่อจะใส่อวดสามีตอนกลับมา นางมัดเวลาพลบค่ำจนถึงไก่ขันจึงเสร็จ แสงเทียนนางสว่างทั้งคืน นางมัดเสร็จภายในคืนเดียว ตื่นเช้ามานางย้อมคราม นางมีเจตนาว่า ถ้าผู้ใดได้ใส่ผ้ามัดหมี่ลายนี้ นางขออวยพร

มีกวีประกอบลายช่อเทียนว่า

“เบิ่งแสงเทียนส่องไปในผืนผ้า เปรียบกับกาลเวลา

ผู้คอยถ่าสิเมิดห่วง ผู้ไม่อยู่เมืองหลวง เผิ่นสิคืนต่าวด้ง

มาบ้านถิ่นสถาน คนเมืองเขมผู้จากบ้าน ให้คืนมา

บริหารบ้านเมือง ให้ก้าวใหม่ ชีวิตลูกหลานต้องสดใส

นำความวิไลมาฮอดแล้วแสงเทียนได้ดอกฮุ่งเฮือง ฯ*

เด้อ เมืองเขมเด้อ”

ยังมีอีกหลายลายผ้า แต่ละลายมีเรื่องเล่าต่างๆ กันล้วนเป็นตำนานภูมิบ้านภูมิเมืองเขมราษฎร์ธานี ก่อนจะมาเป็นเขมราฐในปัจจุบัน

อันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยืนหยัดในความเป็นตัวของตัวเองน่าศึกษาและชื่นชมยิ่ง

ทุกชุมชนและทุกที่มีเรื่องเล่า ขาดแต่การเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะ เรื่องเล่าผ่านลายผ้าจึงเป็น “ศิลปะการเล่าเรื่อง” อันเป็นหนึ่งใน

ทุนวัฒนธรรมอันอุดมของแผ่นดิน