การศึกษา / ผ่าทางตัน ‘หลักสูตรครู 4 ปี’ ทางรอดของประเทศ??

การศึกษา

ผ่าทางตัน ‘หลักสูตรครู 4 ปี’

ทางรอดของประเทศ??

 

ที่สุดสถาบันผลิตครูที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยรัฐ 17 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง รวมจำนวน 55 แห่ง ก็ต้องยอมปฏิบัติตามนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สั่งการผ่าน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. อีกที หลังจากที่แสดงท่าทีต่อต้านมาพักหนึ่งโดยให้เหตุผลว่าคุณภาพของการผลิตครู ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปีของหลักสูตร ตลอดจนหวั่นว่าการเร่งรีบ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษา

อย่างนายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.นครราชสีมา ระบุว่า น่าสังเกตว่า นพ.ธีระเกียรติมีความพยายามที่จะให้บัณฑิตที่ไม่จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มีสิทธิสอบบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งครูผู้ช่วยมาตั้งแต่ปี 2560

แต่ครั้งนั้นถูกคัดค้านอย่างหนักจนสุดท้ายยินยอมให้สอบได้ในบางสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ กลุ่มสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐเดิม ยังพยายามที่จะเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อสนองแนวคิดรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ขณะที่ มรภ.ส่วนใหญ่ยังต้องการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี

และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังออกคำสั่ง ศธ.แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษา สาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ จากกลุ่มคณบดีที่สนับสนุนหลักสูตรครู 4 ปี คนคิดต่างแทบไม่มี และที่สำคัญคณะกรรมการคุรุสภาที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ได้ยกร่างกรอบมาตรฐานวิชาชีพครู เรียบร้อยแล้ว

“จะรีบอะไรนักหนา ทำราวกับว่าถ้าปรับหลักสูตรผลิตครูเป็น 4 ปีไม่ได้ภายใต้รัฐบาลนี้ ประเทศชาติจะล่มจม การเปลี่ยนหลักสูตรที่ส่งผลกระทบวงกว้างระดับประเทศ ต้องมีการศึกษา พัฒนา ทดลองใช้หลักสูตร ประเมินและปรับปรุง ซึ่งกระบวนการต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี ผมไม่ได้ขัดขวางหลักสูตร 4 ปี แต่ไม่อยากให้รีบร้อน ผิดพลาดมาใครจะรับผิดชอบ”

นายอดิศรกล่าว

 

กลุ่มนักวิชาการมองว่า การจะเปลี่ยนหลักสูตร ควรกำหนดโจทย์ก่อนว่าครูจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง โดยศึกษาจากสภาพแวดล้อม การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนระดับชั้นของนักเรียนที่ครูจะไปสอน รวมถึงบริบทโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและเป็นปัญหาสำคัญว่าครูควรมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร

เมื่อกำหนดคุณสมบัติแล้ว ถึงจะมากำหนดว่าผู้เรียนจะต้องเรียน ต้องฝึกทักษะอะไร และอย่างไรบ้าง

แล้วจึงมากำหนดเวลาว่าการเรียนรู้ การฝึกฝนทักษะต่างๆ เหล่านั้น บนพื้นฐานหรือที่เรียกว่าแพลตฟอร์มการเรียนที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน ควรใช้เวลาเรียนกี่ปี

สร้างหลักสูตรขึ้นมาแล้วจึงนำไปทดลองใช้ นำมาปรับปรุงแก้ไข

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถาบันผลิตครูทั้ง 55 แห่งกำลังปรับปรุงหลักสูตรกลับมาเป็น 4 ปี เพราะหากยังเป็น 5 ปี แน่นอนว่าจะเสียเปรียบ ไม่มีนักศึกษาคนไหนอยากเรียน เพราะสู้เรียนแค่ 4 ปีก็สามารถจบออกไปสอบบรรจุครูได้เลย

ขณะที่เรียนหลักสูตร 5 ปี เสียโอกาสในการสอบบรรจุช้าไป 1 ปี มีค่าใช้จ่ายในการเรียนมากขึ้น

และที่สำคัญเงินเดือนเริ่มต้นของตำแหน่งครูผู้ช่วยของผู้ที่จบหลักสูตร 5 ปี มากกว่าหลักสูตรครู 4 ปี แค่ 750 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ มีการจัดทำร่างมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษา สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นแนวทางให้สถาบันผลิตครูนำไปพัฒนาหลักสูตร ให้ทันกับการเปิดรับนักศึกษาหลักสูตร 4 ปีได้ในการรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2562

ส่วนคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา ได้พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับการผลิตครู 4 ปี โดยเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการคุรุสภา ที่มี นพ.ธีระเกียรติเป็นประธาน เห็นชอบแล้ว โดยมาตรฐานใหม่เหลือ 4 ด้าน คือ ค่านิยมและคุณลักษณะความเป็นครู ความรู้และศาสตร์การสอน การปฏิบัติงานในหน้าที่ครูและความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน จากนั้น กมว.จะจัดทำร่าง ข้อบังคับซึ่งกำหนดรายละเอียดแต่ละมาตรฐานให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เพื่อประกาศใช้ต่อไป

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เผยว่า ถ้าผลิตครู 4 ปีทั้งหมด จะทำให้ปัญหาเหลื่อมล้ำเรื่องเวลาเรียนหมดไป นักศึกษาครูที่เรียนก่อนปี 2562 ก็คงต้องเรียนหลักสูตร 5 ปีต่อไป ซึ่งผู้ที่เรียนครูหลักสูตร 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 จะต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ในปี 2562 เช่นเดียวกับหลักสูตร 4

แต่เมื่อสอบบรรจุและได้รับการแต่งตั้งแล้ว หลักสูตร 5 ปีได้เงินเดือน 15,800 บาท หลักสูตร 4 ปี จะได้เงินเดือน 15,050 บาท ต่างกัน 750 บาท

กรณีถ้ามีมหาวิทยาลัยใดยังยืนยันเปิดสอนหลักสูตร 5 ปี ก็สามารถทำได้ แต่จะมีคนเรียนหรือไม่ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องพิจารณา

 

สถาบันผลิตครูยอมปฏิบัติตามนโยบาย แต่ผลที่เกิดตามมาคือปรับหลักสูตรผลิตครูมาเป็น 4 ปีไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถรับสมัครนักศึกษาได้ทันในทีแคส รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคมนี้

ซึ่ง นพ.อุดม รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ก็ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดไม่สามารถรับได้ทัน จะทันก็รอบ 2 แต่ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเปิดรับทีแคสรอบ 1 ล่วงหน้า (ในหลักสูตร 5 ปี) ไปก่อนได้แล้วค่อยเสนอคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ขอแปลงเป็นหลักสูตร 4 ปีในภายหลัง ก็ทำได้

“ตามกรอบเวลาการปรับหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะสามารถรับสมัครนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ในทีแคสรอบ 2 เพราะต้องรอให้ร่าง มคอ.1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษาสาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ ที่กำลังดำเนินการ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประมาณเดือนมกราคม 2562 จากนั้นมหาวิทยาลัยดำเนินการปรับหลักสูตร และเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตร คาดว่าจะทันกับการรับสมัครทีแคสรอบ 2 ระหว่างวันที่ 21 มกราคม – 25 เมษายน 2562 พอดี ฉะนั้น เท่ากับว่า มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะไม่สามารถรับนักศึกษาได้ทันในทีแคสรอบ 1 เกือบทุกแห่งเพราะต้องรอ มคอ.1 ก่อน” นพ.อุดมกล่าว

ขณะที่นายไมตรี อินทร์สิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยว่า มข.ได้ประกาศงดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ผ่านระบบทีแคส รอบแรก เพราะอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตร อีกทั้งมาตรฐานวิชาชีพครูเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา

ขณะที่ร่าง มคอ.1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษา สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ กำลังดำเนินการ ซึ่งมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ สถาบันผลิตครูต้องนำมาใช้ในการปรับหลักสูตร 4 ปี คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จประกาศใช้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะทันกับการรับสมัครทีแคสรอบ 2 รอบโควต้า

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประกาศงดรับนักศึกษาในทีแคสรอบ 1 เช่นกัน โดยจะเริ่มรับนักศึกษาในรอบ 2 โควต้า

ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของเจ้ากระทรวงจะเป็นไปด้วยความหวังดีหรือต้องการสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้กับรัฐบาลอะไรก็แล้วแต่

แต่สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำได้ดีคือ นโยบายทางการศึกษากลับไปกลับมาตามความต้องการของรัฐมนตรี โดยไม่มีงานวิจัยรองรับและคนที่รับกรรมหนีไม่พ้นฝ่ายปฏิบัติและนักเรียนนักศึกษา