บทวิเคราะห์ : “พระเจ้าเท้านก” แห่งวิหารละโว้-วัดธงสัจจะ สัญลักษณ์ 1 ในคัมภีร์ มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในจังหวัดลำพูน พบพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร (ล้านนาเรียกปางอุ้มโอ) ลักษณะพิเศษเหมือนกันอยู่ 2 องค์

องค์แรกประดิษฐานในวิหารละโว้ วัดพระธาตุหริภุญชัย

และอีกองค์อยู่ในวิหารหลวงวัดธงสัจจะ ซึ่งเป็นวัดบริวารของพระธาตุหริภุญไชย (หมายเหตุ หากเขียนชื่อเฉพาะของวัดกำหนดให้ใช้ “ชัย” แต่ในบริบทอื่นๆ ทางศิลปโบราณคดีใช้ “ไชย”) ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในคูเมืองเก่ารูปหอยสังข์

กล่าวคือ พระพุทธรูปทั้งสองแห่ง มีส่วนของพระบาทอูมและส้นเท้าหลังยาวคล้ายกับ “อุ้งเท้านก” อันเป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ

ทำให้ชาวล้านนาเรียกพระพุทธรูปสององค์นี้ด้วยนามเฉพาะว่า “พระเจ้าเท้านก” หรือ “พระบาทตีนนก”

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ลักษณะอุ้งพระบาทของพระพุทธรูปที่คล้ายอุ้งเท้านกนั้น ไม่ใช่ของประหลาดพิสดารแต่อย่างใด เพราะมีการระบุไว้อย่างเด่นชัดแล้วใน “คัมภีร์มหาปุริสสลักษณะ 32 ประการ” หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “คัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ” ว่าพระบาทลักษณะดังกล่าวเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพียงแต่ว่าช่างทั่วไปไม่นิยมหยิบยกลักษณะเช่นนี้มาถ่ายทอดให้เป็นรูปธรรม ด้วยเห็นว่ามีลักษณะที่ค่อนข้างขัดหูขัดตา ดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าใดนัก

 

คัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ
ว่าด้วยพระบาทของพระพุทธเจ้า

พุทธลักษณะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ ซึ่งเขียนขึ้นราว พ.ศ.500 กล่าวไว้ว่ามีความแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปถึง 32 ประการ

การที่คัมภีร์ระบุไว้ดังนี้ ก็เพื่อใช้เป็นกุศโลบายในการ “ยก” หรือ “แยก” บุคคลสำคัญออกมาให้ดูโดดเด่นเป็น “มหาบุรุษ” เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไปนั่นเอง

ตัวอย่างลักษณะทางกายภาพของ “มหาบุรุษ” ซึ่งแปลกไปจากมนุษย์ปุถุชน ที่เราเห็นกันบ่อยๆ เวลามองพระพุทธรูป ก็เช่น กลุ่มขนคิ้ว (อุณาโลม) เป็นวงกลมคล้ายไฝเม็ดโตวางอยู่กลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ระหว่างคิ้ว 2 ข้าง หรือการทำสรีระช่วงบ่าที่ใหญ่กว้างแบบชาวยุโรปอารยัน ที่ผู้ชายมักจะอกผายไหล่ผึ่ง เอวคอดเหมือนพญาราชสีห์ จนเป็นที่มาของคำว่า “พระสิงห์” ซึ่งช่างล้านนาใช้เรียกพระพุทธรูปที่มีแผ่นอกนูนและช่วงบ่าที่กว้างสง่างาม เป็นต้น

ในที่นี้จักกล่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระชงฆ์ (แข้ง) และพระบาทของพระพุทธเจ้าเท่านั้น มีปรากฏรายละเอียดในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะอยู่หลายข้อเช่นกัน ได้แก่

ข้อแรก ทรงมีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน หมายความว่าฝ่าเท้าเรียบไปกับพื้นไม่มีโค้งเว้า ไม่เหมือนคนอย่างเราๆ ที่สามารถเอามือสอดใต้ฝ่าเท้าได้เพราะมีพื้นที่ว่าง

ข้อที่สอง ส้นพระบาทขยายออกไปด้านหลังมากกว่ามนุษย์ปกติ คือคนทั่วไปอุ้งเท้ายื่นไปด้านหน้าด้านเดียว ข้อเท้าหลังมีส้นเท้ายื่นนิดหน่อยเท่านั้น แต่ของมหาบุรุษมีสัดส่วนพิเศษดังนี้ อุ้งเท้าหน้ายื่นไป 2 ส่วน อุ้งเท้าหลัง (ส่วนส้นเท้า) ยื่นไปข้างหลัง 1 ส่วน

ข้อที่สาม มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาท (กระดูกข้อเท้า) ตั้งลอยอยู่หลังหรือเหนือพระบาท สามารถกลับกลอกไปมาได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินมีลีลาผิดไปจากสามัญชน คือเดินได้เร็วมาก

ข้อที่สี่ พระชงฆ์ (ขา แข้ง) เรียวงามดุจแข้งเนื้อทราย

ข้อที่ห้า มีพระมังสะอูมเต็มในที่ 7 แห่ง คือ ลำพระศอ 1 แห่ง พระอังสา 2 ข้าง หลังพระหัตถ์ 2 ข้าง และหลังพระบาท 2 ข้าง กล่าวให้ง่ายก็คือ นอกจากข้อ 1 ฝ่าเท้าด้านล่างจะราบเต็มไม่มีร่องโหว่แล้ว อุ้งเท้าตอนบนยังมีเนื้อแน่นเต็มอูมนูนอีกด้วย ไม่ใช่มือเท้าแบนๆ แห้งๆ

ส่วนพุทธลักษณะข้ออื่นๆ ที่เหลือซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของพระบาทซึ่งเป็นประเด็นที่กล่าวถึงในบทความนี้ จะขอเว้นไว้ไม่นำมาลง ผู้อ่านสามารถค้นหาได้จากเน็ตไม่ยาก

จากพุทธลักษณะทั้งหมดที่กล่าวไว้นั้น เวลาช่างหรือศิลปินถูกมอบหมายให้สร้างพระพุทธปฏิมา ย่อมต้องนำข้อพิจารณาจากคัมภีร์บางประการมาตีความ ให้ออกมาเป็นงานศิลปกรรมแบบรูปธรรม ซึ่งไม่มีข้อกำหนดว่าจำเป็นต้องสร้างให้ครบหมดทุกข้อทั้ง 32 ประการ ดังนั้น ศิลปินในแต่ละยุคแต่ละสกุลช่างย่อมจินตนาการงานพุทธศิลป์ให้มีรูปแบบตามจริตสุนทรียะร่วมสมัยและรสนิยมที่แตกต่างกันไป

บางสกุลช่างให้ความสำคัญกับฝ่าพระบาทฝ่าพระหัตถ์ที่มีสัญลักษณ์รูปธรรมจักร แต่ก็มีหลายสกุลช่างที่ไม่ได้ทำรูปธรรมจักรที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางสกุลช่างไม่ได้ใส่อุณาโลมหว่างคิ้วก็มาก

คงเช่นเดียวกันกับผู้สร้างพระพุทธรูปสององค์นี้ ซึ่งเราไม่ทราบว่าเป็นสกุลช่างใด ที่จงใจดึงเอาพุทธลักษณะเฉพาะในการทำพระบาทมาเป็นจุดเน้น ทำให้เกิดการเรียกพระพุทธปฏิมารูปแบบนี้ว่า “พระบาทเท้านก” เหตุที่นกจะมีเท้าเต็ม นูนยาว งุ้มหน้างุ้มหลัง นั่นเอง

 

พระนางจามเทวีเสี่ยงตุง
ทำนายทิศขยายอาณาเขต

วิหารละโว้ (บ้างเรียกวิหารพระละโว้ วิหารพระเจ้าละโว้) ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุหริภุญไชย ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของศรัทธาสาธุชนที่ถืออุโบสถศีลนอนวัดระหว่างช่วงพรรษากาล วิหารนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ปางอุ้มโอ มีชื่อเฉพาะเรียกว่า “พระละโว้” จากตำนานมุขปาฐะของวัดธงสัจจะ เล่าว่าพระนางจามเทวี ในปี พ.ศ.1206 หลังจากได้รับการสถาปนาเป็นปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชยแล้ว พระนางได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่นำติดตัวมาจากเมืองละโว้ (ลวปุระ หรือลพบุรี) สององค์ องค์หนึ่งให้ประดิษฐานในวิหารเขตพระราชฐาน (ต่อมาคือวัดพระธาตุหริภุญชัย) ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง

ส่วนอีกองค์หนึ่ง ใช้วิธีอธิษฐาน “ตุง” (ภาษาภาคกลางเรียกธง) ให้กวัดแกว่งไปทั่วเมือง หากตุงไปตก ณ บริเวณใดจะโปรดให้สร้างวัดอีกแห่ง ณ บริเวณนั้น พร้อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรองค์ใหญ่ไปประดิษฐาน

ปรากฏว่าตุงถูกเขวี้ยงไปปักอยู่ใกล้เขตประตูเมืองลำพูนด้านทิศตะวันออก จึงสร้างวัดฝาแฝดให้พระเจ้าละโว้อีกองค์ ให้ชื่อว่า “วัดตุงสัจจะ”

หรือต่อมาเรียกเป็นภาษากลางว่า วัดธงสัจจะ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของจุดที่เสี่ยงทายตุง

การเสี่ยงทำนายตุงเช่นนี้ ทำไปเพื่ออะไร เนื่องจากพระนางจามเทวีมีพระราชโอรสแฝดสองพระองค์ องค์พี่ชื่อเจ้ามหันตยศ องค์น้องชื่อเจ้าอนันตยศ

พระนางจามเทวีทรงมีพระราชประสงค์ที่อยากทราบถึงทิศทางการขยายเขตพระราชอาณาจักรของหริภุญไชย ว่าควรเป็นทิศไหนดี เหนือ ใต้ ออก ตก เพื่อที่จะให้พระโอรสแฝดน้องได้สร้างเมืองใหม่

สุดท้ายก็เสี่ยงได้ทิศตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นทิศที่ต่อมามีการขยายอิทธิพลของอาณาจักรหริภุญไชยลงไปสร้างเมืองใหม่ตามทิศนั้นจริง นั่นคือการสร้างเมืองเขลางค์นคร และอาลัมภะกัปนคร

มีข้อน่าสังเกตว่า ชื่อเรียก “วิหารพระละโว้” นี้ยังปรากฏอยู่ทั่วไปในเขตลำพูน-ลำปาง-เชียงใหม่ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างนครหริภุญไชยกับเมืองละโว้ ซึ่งเป็นมาตุคามของพระนางจามเทวี เช่น ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นเมืองเของเจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี นั้นก็ปรากฏชื่อของ “วิหารพระละโว้”

เพียงแต่ทิศที่ตั้งนั้นเปลี่ยนจากทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์เป็นทิศตะวันตก

 

พระญากาวิละบูรณะพระเจ้าละโว้

หากเราเชื่อตามตำนานว่า “พระเจ้าละโว้” แฝดสององค์เก่าถึงสมัยของพระนางจามเทวีจริง ดูเหมือนอาจจะต้องมีข้อโต้แย้งอยู่ไม่น้อย

เนื่องจากรูปแบบศิลปะของพระเจ้าละโว้ทั้งสององค์นี้ ไม่ใช่พุทธศิลป์สมัยหริภุญไชยตอนต้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นยุคของพระนางจามเทวีแต่อย่างใด กลับกลายเป็นศิลปะล้านนายุคหลังๆ ไปแล้ว

หลักฐานที่พบว่ามีการกล่าวถึงพระเจ้าละโว้ปรากฏอยู่ใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” บันทึกไว้ว่า พ.ศ.2334 พระญากาวิละพร้อมด้วยอนุชาทั้งสอง เจ้าราชวงศ์ และเสนาอำมาตย์ ได้พร้อมกันสร้างหอยอ (หอประดิษฐานพระพุทธรูป) 4 ด้านของพระมหาธาตุแห่งเมืองลำพูน และสร้างพระเจ้าละโว้ในวิหารด้านเหนือของพระธาตุ

ในขณะที่พระธรรมเทศนาเรื่อง “กตญฺญุตกถา… ปวตฺติกถา” ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ.2475 ได้กล่าวว่า

“ลุจุลศักราช 1159 (พ.ศ.2340) ปีมะเส็ง นพศก พม่าก็ยกกองทัพใหญ่ มีพลถึงเก้าหมื่นเศษมาตั้งล้อมเมืองนครเชียงใหม่ไว้ ท่านพระญากาวิละเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ก็ได้รักษาเมืองไว้โดยแน่นหนา พม่าหาตีได้ไม่ ครั้นศึกพม่าแตกหนีไปแล้ว ท่านก็ได้สร้างพระวิหารวัดละโว้ เมืองลำพูนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง”

เห็นได้ว่าศักราชที่เขียนถึงบทบาทของพระญากาวิละกับวิหารละโว้นั้นมีสองช่วง ช่วงแรกคือ ปี 2334 เป็นการบูรณะวิหารละโว้ (ในเอกสารใช้คำว่าสร้าง แต่นักโบราณคดีเชื่อว่า พระเจ้าละโว้และวิหารพระละโว้มีมานานแล้วแต่โบราณ ดังนั้น คำว่าสร้างในที่นี้ น่าจะหมายถึงการบูรณะมากกว่า)

กับช่วงที่สองปี 2340 เขียนว่าสร้างพระเจ้าละโว้ ก็คงหมายถึงการบูรณะซ่อมแซมสร้างครอบพระพุทธรูปโบราณของพระนางจามเทวีอีกเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรูปแบบศิลปกรรมของพระเจ้าละโว้จึงไม่เก่าถึงยุคหริภุญไชย

และเชื่อกันว่าช่วงที่พระญากาวิละมาบูรณะพระเจ้าละโว้ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ย่อมต้องทราบประวัติตำนานว่ายังมีพระปฏิมาแฝดอีกองค์หนึ่งที่พระนางจามเทวีนำมาประดิษฐานขึ้นพร้อมกัน อยู่ที่วัดธงสัจจะ และคงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมด้วยอีกองค์ จนเป็นรูปแบบศิลปะที่เราเห็นในปัจจุบัน

ปริศนาที่ชวนขบคิดก็คือ พระเจ้าละโว้สององค์ดั้งเดิมในยุคพระนางจามเทวีควรมีรูปแบบศิลปะเช่นใด ใช้วัสดุอะไรก่อสร้าง หิน ดินเผา ศิลาแลงโกลนปูนปั้น หรือสำริด?

และหากไม่ใช่รูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ตอนที่พระญากาวิละบูรณะซ่อมแซมพระเจ้าละโว้นั้น ทรงใช้โมเดลของพระปฏิมาองค์ไหนล่ะหรือ ที่มีพระบาทในลักษณะ “อุ้งเท้านก” อันโดดเด่นมาเป็นต้นแบบ

รวมไปถึงคำถามที่ว่า ยังมีพระพุทธปฏิมาในล้านนา ณ วัดแห่งใดอีกหรือไม่ที่ทำลักษณะพระบาทอูมนูนเท้าเรียบเต็ม ส้นเท้าหลังยื่นจากข้อเท้าออกมามากกว่าปกติ ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ เฉกเดียวกับพระเจ้าละโว้ 2 องค์ในลำพูน

ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นรู้สึกตื่นตาตื่นใจได้ถึงเพียงนี้