วิกฤติศตวรรษที่21 : ผ่าอำนาจทางทะเลของรัสเซีย การช่วงชิงบางท้องทะเลกับสหรัฐ-นาโต้

วิกฤติประชาธิปไตย (31)

อำนาจทางทะเลของรัสเซีย

สหรัฐเป็นเจ้าสมุทรของโลก และอาศัยความเหนือกว่าของอำนาจทางทะเลนี้ ในการจัดระเบียบครองความเป็นใหญ่ในโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2018 สหรัฐยังได้รื้อฟื้นกองเรือที่ 2 หรือกองเรือแอตแลนติก เพื่อรักษาชายฝั่งตะวันออกของตนรวมทั้งเขตน่านน้ำตอนเหนือของแอตแลนติก

โดยอ้างเหตุจำเป็นที่ต้องรับมือกับการเคลื่อนไหวที่มากผิดสังเกตของรัสเซียและจีน

กองเรือที่ 2 นี้เดิมมีขนาดใหญ่ไม่น้อย ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ถึง 17 ล้าน ตร.ก.ม. ในแอตแลนติกเหนือ มีเรือรบกว่า 126 ลำ เครื่องบินกองทัพ 4,500 ลำ เจ้าหน้าที่อีกกว่า 90,000 นาย (ยุบเลิกไปในปี 2011)

สำหรับฝ่ายรัสเซียนั้น เพื่อที่จะต้านกับอิทธิพลของสหรัฐ-ตะวันตกที่รุกคืบมาจนถึงพรมแดนของตน ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเสริมอำนาจทางทะเลของตนให้แข็งแกร่ง เพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางทหารได้

รัสเซียจัดประเภทความขัดแย้งทางทหารไว้ 4 อันดับคือ

ก) ความขัดแย้งทางทหาร มีเหตุการณ์ใช้กำลังและการปะทะแบบจำกัดวง เช่น ความขัดแย้งชายแดน

ข) สงครามท้องถิ่น เป็นสงครามระหว่างสองรัฐหรือมากกว่า โดยมีเป้าหมายทางการเมืองที่จำกัด สงครามท้องถิ่นนี้อาจบานปลายได้

ค) สงครามภูมิภาค เป็นสงครามระหว่างสองรัฐหรือมากกว่า หรือระหว่างกลุ่มรัฐ มีการใช้อาวุธทั้งธรรมดาและอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งบนภาคพื้นดิน ในน้ำ อากาศและอวกาศ โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมือง-การทหารที่สำคัญ

ง) สงครามใหญ่เป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจของโลกรวมทั้งพันธมิตรของตน เป็นผลจากการขยายตัวของสงครามท้องถิ่นและสงครามภูมิภาค มีชาติสำคัญจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมทั่วโลก มีการใช้สรรพกำลังทางวัตถุและทางจิตใจในสงครามนี้

สำหรับกองทัพเรือเดินตามแนวทางใหญ่ของกองทัพรัสเซีย มีปฏิบัติการหลักในน่านน้ำ ทั้งต้องรับภารกิจเก่าที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซีย

ภารกิจตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซีย พระเจ้าปีเตอร์มหาราช (ปีเตอร์ที่ 1) ดำรัสว่า “ผู้ปกครองที่มีแต่กองทัพบก เหมือนมีแขนข้างเดียว ใครที่มีกองทัพเรือด้วยก็มีแขนทั้งสองข้าง”

แต่การที่รัสเซียจะมีแขนทั้งสองข้างได้ก็ต้องใช้สงคราม สงครามใหญ่ครั้งแรกรบกับสวีเดนซึ่งขณะนั้นเป็นมหาอำนาจในยุโรป ในสมัยพระเจ้าปีเตอร์ ทัพรัสเซียสามารถยึดป้อมปราการของสวีเดนที่ปากแม่น้ำเนวา ติดทะเลดำได้

พระเจ้าปีเตอร์โปรดให้สร้างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่นั่น (ค.ศ.1703) เป็นเมืองท่าและนครหลวงที่ทันสมัยงามตระการตาแบบตะวันตก เป็นช่องทางติดต่อค้าขายกับอารยประเทศ และเป็นการประกาศมั่นคงว่าภูมิภาคนี้เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย

สงครามใหญ่ครั้งที่สอง กระทำกับจักรวรรดิออตโตมาน ในสมัยพระนางเจ้าแคเทอรีนมหาราช ระหว่างปี 1768-1774 ทำให้รัสเซียสามารถเข้าถึงทะเลดำได้โดยตรงเป็นครั้งแรก โดยผ่านท่าเรือที่เกิร์ชและอาซอฟ ต่อมาได้ผนวกแหลมไครเมียเป็นการตั้งมั่นในทะเลดำ

แต่ก็ยังมีอุปสรรคจากตุรกีที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก ขัดขวางการเดินเรือไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สมัยสหภาพโซเวียต กองทัพเรือต้องเสียหายย่อยยับจากการรุกรานของเยอรมนีในปฏิบัติการบาร์บารอสซาที่ทะเลบอลติก (1941) ต้องฟื้นฟูขึ้นใหม่

เช่น ในปี 1953 มีการติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีปบนเรือของรัสเซีย แต่อำนาจทางทะเลของโซเวียตเทียบไม่ได้เลยกับของสหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดในวิกฤติขีปนาวุธคิวบา (1962) ที่กองเรือสหรัฐปิดล้อมคิวบาไม่ให้เรือรัสเซียส่งอุปกรณ์ขีปนาวุธ

รัสเซียจึงได้ปฏิรูปกองทัพเรือของตนขนานใหญ่ เพิ่มปริมาณเรือรบ ติดตั้งขีปนาวุธ อาวุธนิวเคลียร์ในเรือใต้น้ำ คุกคามต่อสหรัฐ-นาโต้ว่าจะสามารถถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้

ทำให้กองทัพเรือรัสเซียมีบทบาททางยุทธศาสตร์ในการรบขึ้น

บุคคลสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูกองทัพเรือรัสเซียคือ นายพลเซอร์เกย์ กอร์ชคอฟ เป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือโซเวียต นานเกือบ 30 ปี มีส่วนสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันเป็นชั้นๆ คือ การสร้างแนวป้องกันการโจมตีจากทางทะเลเป็นรัศมี 1,000 ไมล์ทะเล (1852 ก.ม.) จากชายแดนรัสเซียหรือจากกรุงมอสโก รัศมี 1,000 ไมล์ทะเลนี้ ได้จากรัศมีทำการของขีปนาวุธโทมาฮอว์กของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการป้องกันวงนอกสุด

อย่างไรก็ตาม เซอร์เกย์ต้องการรักษาสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือใต้น้ำ ผิวน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ล้าสมัยแล้วก็ยังประจำการอยู่ เพื่อให้ดูน่าประทับใจในความเกรียงไกรของกองทัพเรือโซเวียต

สมัยสาธารณรัฐรัสเซีย ภารกิจเดิมที่มีแขนสองข้างยังดำรงอยู่ นั่นคือการมีอำนาจในทะเลบอลติกและทะเลดำ-เมดิเตอร์เรเนียน การสามารถป้องปรามการโจมตีจากสหรัฐ แต่ครั้งนี้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

รัฐบาลรัสเซียได้โละทิ้งคลังอาวุธทางเรือสมัยสหภาพโซเวียตไปถึงราวสามในสี่ถึงห้าในหกออกไป มีทั้งส่วนที่ยังปฏิบัติงานได้แต่ไม่คุ้มค่าซ่อม และส่วนที่ปฏิบัติงานไม่เป็นผลเพราะล้าสมัย ภารกิจหลัก 4 ประการของกองทัพรัสเซียซึ่งรวมของกองทัพเรือ ได้แก่

1) การยับยั้งการคุกคามทางทหารหรือทางการเมือง-การทหาร ต่อความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของรัสเซีย

2) ประกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซีย

3) ดำเนินการฝึกกองกำลังต่างๆ ในยามสันติ

4) ใช้กำลังทหาร (ยามสงคราม)

ตั้งแต่ปี 2000 รัสเซียได้พัฒนากองทัพเรือของตนสำหรับอนาคต สามารถสู้รบในศตวรรษที่ 21 อย่างได้ผล กำลังรบสำคัญของกองทัพเรือจะได้แก่

ก) เรือใต้น้ำที่ปฏิบัติการได้หลายอย่าง สามารถยิงขีปนาวุธนำวิถี และอาวุธนิวเคลียร์ได้

ข) เรือผิวน้ำที่สามารถป้องกันการโจมตีทางอากาศได้ มีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือสะเทินน้ำสะเทินบก เรือช่วยรบ เรือวิจัยทางสมุทรศาสตร์

ค) กองบินกองทัพเรือ

ง) อาวุธเพื่อการสงครามต่อต้านเรือและเรือใต้น้ำของศัตรู และเพื่อการป้องกันและการโจมตีอื่นๆ เช่น ขีปนาวุธทิ้งตัว ขีปนาวุธร่อน อาวุธตระกูลคาลีบร์เป็นขีปนาวุธร่อนขายดีของรัสเซีย ตอร์ปิโด ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดและหลากหลายประเภทที่สุดในโลก การสงครามทุ่นระเบิด

ที่สำคัญคือการก้าวสู่มืออาชีพของบุคลากรในกองทัพเรือรัสเซีย ใช้ทั้งการเกณฑ์และการรับสมัคร จัดการฝึก และการศึกษาสำหรับสงครามสมัยใหม่ คาดหมายว่ากองทัพเรือรัสเซียจะก้าวเป็นกองกำลังที่ทันสมัยแห่งศตวรรษที่ 21 มีการประจำการเรือใหม่จำนวนมากที่ติดตั้งอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้า เช่น อาวุธเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ในการสื่อสาร ควบคุมและบัญชาการ การลดร่องรอยของการปรากฏตัว (เหมือนเป็นเรือล่องหน) การตอบโต้ทางอิเล็กทรอนิกส์ การเป็นแบบอัตโนมัติและความสะดวกสบายของพลรบและเจ้าหน้าที่

ทั้งหมดทำให้กองทัพเรือเป็นเครื่องมือของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นในการสนับสนุนความพยายามทางการทูต โครงการริเริ่มต่างๆ และผลประโยชน์แห่งชาติรัสเซีย (ดูเอกสารที่ประมวลจากแหล่งข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ ชื่อ The Russia Navy : A Historic Transition ใน oni.navy.mil สำนักข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐ ธันวาคม 2015)

กองทัพเรือรัสเซียปัจจุบันประกอบด้วยกองเรือสำคัญได้แก่ กองเรือด้านเหนือหรือกองเรืออาร์กติก มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเซเวโรมอร์สก์

กองเรือบอลติก มีกองบัญชาการอยู่ที่แคว้นคาลินินกราด

กองเรือทะเลดำ มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเซวัสโตปอล

กองเรือน้อยทะเลแคสเปียน มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอัสตราคาน

และกองเรือแปซิฟิก กองบัญชาการอยู่ที่เมืองวลาดิวอสต็อก พิจารณาจากการจัดกองเรือและที่ตั้งกองบัญชาการแล้วจะเห็นว่ากองทัพเรือรัสเซียเหมือนถูกแบ่งเป็นต่อนๆ เสริมกำลังกันและกันยาก ต้องเดินทางไกล ถูกตรวจจับได้ง่าย ซ้ำยังถูกสหรัฐ-นาโต้กีดขวางกดดันอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นที่ทะเลบอลติก ทะเลดำ ย่านแปซิฟิก เหลืออยู่แต่ที่ย่านมหาสมุทรอาร์กติกที่มีน้ำแข็งตลอดปี และทะเลแคสเปียนที่เป็นทะเลปิด

การปะทะช่วงชิงท้องทะเลกับสหรัฐ-นาโต้จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก

การช่วงชิงบางท้องทะเลกับสหรัฐ-นาโต้

ในที่นี้จะกล่าวถึงบางพื้นที่ได้แก่

1) ทะเลดำ เป็นพื้นที่รัสเซียให้ความสำคัญ เนื่องจากมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากควบคุมทะเลดำได้ก็สะดวกในการควบคุมพื้นที่ยุโรปตะวันออกบริเวณเขาคอเคซัส คาบสมุทรบอลข่าน และทางออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ทะเลดำเป็นเหมือนทะเลของรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียต

ประเทศที่ตั้งรอบทะเลดำ บ้างเคยร่วมในสหภาพโซเวียต บ้างเคยเป็นบริวาร คือ รัสเซีย ยูเครน จอร์เจีย มอลโดวา โรมาเนีย บัลแกเรีย

มีเพียงตุรกีประเทศเดียวที่เข้าร่วมองค์การนาโต้ มีช่องแคบบอสฟอรัสและดาร์ดาเนลที่เป็นเส้นทางต่อเชื่อมกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ทะเลโลก (มีข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือพาณิชย์และเรือรบของชาติที่ตั้งรอบทะเลดำแล่นผ่านช่องแคบนี้ได้ โดยตุรกีเป็นผู้ควบคุม)

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐ-นาโต้ได้รุกคืบเข้ามาในบริเวณทะเลดำอย่างรวดเร็ว ก่อรัฐประหารสีที่จอร์เจียและยูเครน (2003-2005) และทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อก่อรัฐประหารที่ยูเครน (2014) จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นมิตรกับสหรัฐในขณะนี้ รวมทั้งได้เข้าแทรกซึมในมอลโดวา

รัสเซียได้ตอบโต้อย่างไม่ดุเดือด ได้แก่ รับรองการแยกตัวของรัฐอับฮาเซียที่มีพื้นที่ติดทะเลดำจากประเทศจอร์เจียในปี 2008 ปี 2010 ทำข้อตกลงกับยูเครน ขยายอายุการเช่าที่ฐานทัพเรือรัสเซียต่อไปอีก 25 ปี

ในปี 2010 ทุ่มเงินก้อนใหญ่ยอดรวม 51 พันล้านดอลลาร์เนรมิตเมืองโซชิ อันเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย เพื่อใช้เป็นสถานที่แข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 และเป็นเหมือนนครหลวงแห่งทะเลดำ

ปี 2014 ผนวกแหลมไครเมียเป็นของรัสเซีย และส่งกองทหารไปสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของดินแดนด้านตะวันออกของยูเครน ปี 2015 ตั้งฐานทัพเรือของตนในซีเรีย ใช้กองเรือทะเลดำและกองเรือน้อยทะเลแคสเปียนสนับสนุนการรบในซีเรีย ปี 2018 เปิดใช้สะพานเชื่อมแผ่นดินใหญ่รัสเซียเข้ากับแหลมไครเมีย เสริมกำลังกองเรือทะเลดำอย่างมั่นคง

ในปัจจุบันรัสเซียได้สร้างเขตจำกัดการเข้าถึงหรือเขตห้ามเข้าในทะเลดำ มีความสามารถที่จะทำลายเรือรบสหรัฐ-นาโต้ตั้งแต่แล่นพ้นช่องแคบบอสฟอรัส

(ดูบทความของ Ruslan Minich ชื่อ Russia Shows its Military Might in the Black Sea and Beyond ใน atanticcouncil.org 06.11.2018)

2) ทะเลบอลติก จักรวรรดิรัสเซียเคยเป็นเจ้าทะเลบอลติก แต่ขณะนี้ทะเลบอลติกเป็นของสหรัฐ-นาโต้ ประเทศที่อยู่ติดกับทะเลบอลติกล้วนเป็นมิตรหรือร่วมในกลุ่มสหรัฐ-นาโต้ ได้แก่ เยอรมนี โปแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย มีเพียงรัสเซียประเทศเดียวที่ต้องเสริมความแข็งแกร่งกองเรือทะเลบอลติก รักษาแนวป้องกันเป็นชั้นๆ สนับสนุนการวางท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป และข่มขู่ประเทศขนาดเล็ก เช่น โปแลนด์ และเดนมาร์กในการออกหน้าต่อต้านรัสเซีย

3) มหาสมุทรอาร์กติก รัสเซียมีกองเรือด้านเหนือ รับผิดชอบในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก กองเรือนี้ก่อตั้งเป็นกองเรือน้อยตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตในปี 1933 ประกอบด้วยกองเรือใต้น้ำจำนวนมากกว่า 200 ลำ มีทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังดีเซล-ไฟฟ้า และนิวเคลียร์ ปัจจุบันมีเรือรบ 39 ลำ เรือใต้น้ำ 42 ลำ

มหาสมุทรอาร์กติกมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งในบริเวณนี้ลดน้อยถอยลงโดยลำดับ

นักวิชาการบางคนคาดว่าอาร์กติกอาจ “ปลอดน้ำแข็ง” ในหน้าร้อนในราวปี 2040 รัสเซียพยายามใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้มากกว่าใคร ยุทธศาสตร์อาร์กติกของรัสเซียเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่รัสเซียเปิดตัวอย่างครึกโครม ในปี 2007 นักสำรวจชาวรัสเซียได้ปักธงรัสเซียที่ทำด้วยไทเทเนียมที่พื้นทะเลบริเวณขั้วโลกเหนือ ลึกจากแผ่นน้ำแข็งลงไป 2.5 ไมล์ สร้างปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรวดเร็วและดุเดือดจากแคนาดาและสหรัฐที่เป็นประเทศใหญ่ที่ติดอาร์กติก ปูตินกล่าวตอบว่า เมื่อนักบินอวกาศปักธงสหรัฐที่ดวงจันทร์ ก็ไม่เห็นใครเดือดร้อนอะไร และก็ไม่ใช่ว่าดวงจันทร์จะกลายเป็นของสหรัฐ

ยุทธศาสตร์รัสเซียต่ออาร์กติกมีที่สำคัญอยู่ 4 ประการ ได้แก่

ก) การเป็นแหล่งพลังงานสำหรับรัสเซียในอนาคต

ข) การใช้เป็นเส้นทางเดินเรือผ่านไปทางขั้วโลก ซึ่งจะย่นระยะทางได้มาก ทั้งสองประการนี้ทำให้อาร์กติกเป็นแหล่งลงทุนไปอีกนาน

ค) ใช้เป็นฐานทัพที่เชื่อมต่อฝั่งแปซิฟิกกับฝั่งแอตแลนติกได้

ง) รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ประโยชน์บริเวณนี้ได้ยั่งยืนขึ้น

หลังจากถูกแซงก์ชั่นปิดล้อมประสบความยากลำบากเป็นเวลานาน รัสเซียเริ่มดื้อยาแรงของสหรัฐ-นาโต้ และจะตอบโต้อย่างไม่เกรงใจ ถ้าหากเห็นว่าจำเป็นและทำได้ เช่น การรับรองฐานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์จากยูเครน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของรัสเซียให้เศรษฐกิจโลกออกจากฐานดอลลาร์สหรัฐ และการต่อสู้ด้านค่านิยมวัฒนธรรม