มาดามหลูหลี / RYUICHI SAKAMOTO : CODA : เบื้องหลังพลังแห่งเสียง

มาดามหลูหลี[email protected]

CODA ภาพยนตร์สารคดีเสนอเรื่องราวชีวิตของเรียวอิจิ ซากาโมโตะ (เกิดปี 1952 ชื่อของเขามีความหมายว่า “มังกรเดียวดาย”) ด้วยการเล่าเรื่องของซากาโมโตะเอง เขาเป็นนักประพันธ์เพลงชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง

และเจ้าของรางวัลออสการ์สาขา Best Original Score จาก The Last Emperor ปี 1987

ซากาโมโตะเป็นหนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ ผู้มีอาชีพที่ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ จากนักประพันธ์เพลงที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักเทคโนป๊อป ผู้บุกเบิก Synth-pop และเป็นนักทดลองทางอิเล็กทรอนิกส์ วิวัฒนาการเพลงของเขาใกล้เคียงกับการเดินทางในชีวิตของเขา

ในตอนหนึ่งของหนัง เขาใช้เครื่องดนตรีช่วยแต่งเพลง อันสามารถสร้างเพลงที่รวดเร็วกว่าใช้มือของมนุษย์

ในปี 1980 ซากาโมโตะเป็นคนดังเหมือนนักร้อง J-Pop ในยุคนี้ เขาสร้างเพลงป๊อปที่มีพื้นฐานที่สุดของวง Yellow Magic Orchestra โด่งดังในญี่ปุ่นและได้แสดงที่อเมริกา ซากาโมโตะและ YMO มีผลงานเพลงมากมาย ทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ

เรียวอิจิ ซากาโมโตะ ย้ายมาอยู่ที่ West Village นิวยอร์ก ปี 1990 กับเปียโนคือ Steinway ที่เขาใช้แต่งเพลงสร้างเพลงทั้ง pop, hip-hop, bossa-nova ซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงของ Torkovsky”s Chorales Bach ใน Sci-fi Classic Solaris และงานของ Paul Bowles และ J.Robert Oppenheimer

 

หนังเปิดตัวด้วยฉากหลังสึนามิ 3/11 (เดือนมีนาคม 2011) ที่ญี่ปุ่น มีความสูญเสียทั้งชีวิตผู้คนกว่า 1,600 คน และทรัพย์สินอีกมากมาย สภาพเมืองถูกทำลายราวกับเกิดสงคราม

ซากาโมโตะต่อต้านการสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกับชาวญี่ปุ่น

ทำให้ Fukushima Sakamoto กลายเป็นสัญลักษณ์ในขบวนการทางสังคมของญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์

เพราะซากาโมโตะเป็นนักเปียโน เขาพบเปียโนที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม เปียโนยี่ห้อ Yamaha เขาใช้นิ้วกดลงไปบนเปียโนที่เขาบอกว่า เหมือนเล่นซากศพของเปียโนที่จมน้ำ…

เหตุการณ์สึนามิ 3/11 ที่ญี่ปุ่นคล้ายกับเหตุการณ์ 9/11 ที่ตึกเวิลด์เทรด อเมริกา (11 กันยายน 2001) หลังถูกถล่ม เมืองนิวยอร์กทั้งเมืองเงียบร้างเป็นสัปดาห์ จนดูน่าหดหู่…

9/11 และ 3/11 (มหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังประสบภัยสึนามิ) ทั้งสองเหตุการณ์เป็นมหันตภัยอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น และอาจเป็นเพราะชะตากรรมซึ่งทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นได้รับนี้ เป็นผลพวงจากที่เคยกระทำต่อผู้อื่นในประเทศอื่น

 

ปี2014 ซากาโมโตะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่ลำคอ ซึ่งเขารับรู้ถึงวิกฤตการณ์ของชีวิต แต่เขาก็ไม่หยุดสร้างงาน พร้อมๆ กับการรักษาตัวไปด้วย

ปี 2015 เขาถูกท้าทายด้วยคำเชิญชวนให้สร้างเพลงประกอบภาพยนตร์จากผู้กำกับฯ Alejandro Gonzalez Inarritu เรื่อง The Revenant ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาอยากร่วมงานด้วยอย่างมาก

บทเพลงของซากาโมโตะ ที่เขาพรมนิ้วลงบนเปียโนไพเราะทุกเพลง เขาแต่งเพลงมากมายเพื่อใส่ในภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์มีน้ำหนักมากขึ้น และในสารคดีเรื่องนี้ได้ฟังเพลงไพเราะหลายเพลง แม้ในบางช่วงเรื่องเล่าอาจจะทำให้ง่วงนอนอยู่บ้าง

เขาทดลองค้นหาเสียงกับเครื่องดนตรีและเครื่องมือต่างๆ เช่น นำที่สีไวโอลินมาสีกับฉาบ หรือแม้แต่การใช้ฉิ่ง รวมทั้งถ้วยที่พระญี่ปุ่นใช้ทำเสียงประกอบการสวดมนต์ ซึ่งให้เสียงกังวานยาวนาน อย่างที่เขาบอกว่ามันให้เสียงไม่สิ้นสุด เป็นนิรันดร์

 

มีศิลปินบางท่าน เมื่อพบว่าตนเองป่วย ผลงานก่อนกับหลังเจ็บป่วยมักแตกต่างกัน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ อาจเกิดจากสภาพร่างกายที่ต้องสู้กับโรคร้าย และสภาพจิตใจที่ต้องต่อสู้กับจิตใจของตนเอง

CODA สารคดีชีวิตของ RYUICHI SAKAMOTO ใช้เวลาถ่ายทำถึง 5 ปี ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ และการทำงานของนักประพันธ์เพลง ที่ต้องหยิบยืมเสียงจากธรรมชาติมาใช้ในงาน

เขาเดินทางไปทุกแห่งหน ทั้งป่าเขา, ทะเล และขั้วโลกเหนือที่มีธารน้ำแข็งอันหนาวเหน็บ เพื่อฟังเสียงและอยู่กับเสียง ที่เขาพูดติดตลกว่า “เขามาตกเสียง ไม่ใช่ตกปลา…”

ซากาโมโตะสร้างงานเพลงเพื่อทำให้เกิดผลงานชิ้นเอกใหม่ๆ RYUICHI SAKAMOTO : CODA จึงเป็นสารคดีที่มองเห็นภาพของศิลปิน ซึ่งให้ความใกล้ชิดทั้งศิลปินและผู้คน

ได้รู้จักเรียวอิจิ ซากาโมโตะ กับผลงานเบื้องหลัง และได้เห็นว่าเสียงในภาพยนตร์สำคัญมากเพียงใด ถ้าไร้เสียง การชมภาพยนตร์คงลดความบันเทิงไปมากกว่าครึ่ง

เสียงจึงทรงพลังเสมอ ดังนั้น โปรดใช้สิทธิเพื่อใช้เสียงของท่านให้เป็นพลัง อย่าเป็นพลังเงียบอีกต่อไป…

———————————————————————————————————————–
วาซาบิ : CODA เป็นชื่ออัลบั้มเพลงโดยเรียวอิจิ ซากาโมโตะ มีเพลง Merry Christmas, Mr.Lawrence, Batavia, Germination
CODA โดยผู้กำกับฯ : Stephen Normura Schible
Producer : Stephen Normura Schible, Yoshiko Hashimoto, Eric Nyari