จิตต์สุภา ฉิน : ถ้าผู้นำห่วย ก็ให้หุ่นยนต์บริหารแทนสิ!

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เรามักจะคาดหวังให้ผู้บริหารประเทศต้องเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์ทั่วไป จะต้องเก่งกาจ ชาญฉลาด อดทน หนักแน่น ไม่ขี้โมโห ทำงานรวดเร็ว ฉับไว ไร้อคติ วิสัยทัศน์กว้างไกล ฯลฯ

ซึ่งดูจะเป็นความคาดหวังที่หนักหน่วงไม่น้อยสำหรับมนุษย์ปุถุชน

เพราะมนุษย์ปุถุชนที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าตลอดเวลานี่แหละที่มีแนวโน้มจะทำให้เราผิดหวัง

ถ้าเช่นนั้นทางแก้คืออะไร

มาถึงยุคนี้แล้ว หากซู่ชิงบอกว่าทางแก้คือเราอาจจะต้องใช้หุ่นยนต์มาบริหารบ้านเมืองแทน

คุณผู้อ่านก็คงจะไม่ประหลาดใจใช่ไหมคะ

 

หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่หลากหลายอาชีพในแทบทุกวงการ ปัญญาประดิษฐ์เอไอได้รับการพัฒนาให้เก่งกาจขึ้นทุกวันๆ จนสามารถทำในสิ่งที่เราไม่เคยคาดฝันว่ามันจะทำได้

เอไอวินิจฉัยโรคได้

เอไอแต่งวรรณกรรมได้

เอไอทำนายวันตายได้

แล้วจะแปลกอะไร ถ้าหากว่าเราจะลองเอาเอไอมาบริหารประเทศดูบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เริ่มออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลหุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลที่เป็นมนุษย์ เพราะไหนๆ ผลการทำโพลสำรวจก็ออกมาระบุว่าคนในสังคมตะวันตกมีความเชื่อมั่นในนักการเมืองลดลงทุกวันๆ ประชาชนยังต้องการส่งเสียงของตัวเอง ยังต้องการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีส่วนร่วมในการเมืองเหมือนเดิมนั่นแหละ

แต่เบื่อพรรคการเมืองจนจุกอก ศรัทธาที่เคยมีให้กับนักการเมืองก็สูญสลายมลายสิ้นไปหมดแล้ว

เพราะพวกเขามองว่านักการเมืองมัวแต่วุ่นอยู่กับการสร้างภาพเรียกคะแนนเสียงหรือมัวแต่ “เล่นการเมือง” มากเกินไปจนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ซึ่งอันที่จริงแล้วต่อให้เป็นโพลสำรวจตะวันตก แต่ความรู้สึกเดียวกันนี้ก็น่าจะกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกเหมือนกัน

ในญี่ปุ่นช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีการรณรงค์หาเสียงให้หุ่นยนต์เป็นนายกเทศมนตรี โดยการใช้จุดขายว่า การมีหุ่นยนต์เป็นผู้บริหารเมืองจะทำให้เกิดความยุติธรรมและสมดุล ทุกคนจะได้รับโอกาสที่ยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เพราะหากประเทศไหนจะพร้อมให้หุ่นยนต์เข้ามาบริหารที่สุดก็น่าจะเป็นญี่ปุ่นนี่แหละจริงไหมคะ

 

เรามาดูข้อดีของการให้หุ่นยนต์บริหารประเทศกันบ้างดีกว่า

เนื่องจากหุ่นยนต์ในความหมายที่ว่าก็คือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ ก็แปลว่าจะสามารถตัดสินใจได้แบบที่มีข้อมูลรอบด้าน ทำงานได้รวดเร็ว ว่องไว ไม่มีเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องแม้แต่จะพักกินข้าว

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเจอกับปัญหาว่าหุ่นยนต์จะออกมารำพึงรำพันตัดพ้อว่ารู้บ้างไหมว่าทุกวันนี้เหนื่อยแค่ไหนที่ทำอยู่ หุ่นยนต์ไม่มีอีโก้ ไม่หลงตัวเอง ไม่มีวิสัยทัศน์ที่คับแคบ ไม่สุดโต่ง

และข้อนี้หลายๆ คนก็คงจะชอบค่ะ หุ่นยนต์จะไม่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น ทุจริต และไม่มีปัญหาเรื่องการผิดจริยธรรมด้วย

มาถึงข้อเสียบ้าง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการใช้คอมพิวเตอร์บริหารประเทศคือความเสี่ยงในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ข้อมูลรั่วไหล หรือความผิดพลาดทางคอมพิวเตอร์ที่เราเรียกกันจนชินว่า “เออเร่อร์” นั่นแหละค่ะ

แค่คิดว่าแฮ็กเกอร์จะสามารถเจาะเข้ามาในผู้นำประเทศของเราได้ก็ชวนให้ขนลุกขนพองไปหมดแล้ว

ข้อจำกัดอื่นๆ ของการใช้หุ่นยนต์มาเป็นผู้นำก็คือ เราจะไม่ได้มีคณะรัฐบาลเป็นหุ่นยนต์กันทั้งคณะแน่นอน แต่จะเป็นการทำงานร่วมกับคนและหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ที่ไร้อารมณ์ ไร้ความรู้สึก ใช้แต่ข้อมูลและตรรกะ กับมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ ความคลุมเครือ เจตนาที่ซ่อนเร้นปกปิด ถ้าต้องมานั่งโต๊ะประชุมตัวเดียวกันก็คงจะชวนปวดหัวไม่น้อยเหมือนกัน

และอย่าเข้าใจผิดว่าหุ่นยนต์จะไม่ลำเอียงนะคะ

เพราะต้องไม่ลืมว่าหุ่นยนต์ก็เกิดมาจากคน คนที่พัฒนามีลักษณะเป็นอย่างไร หุ่นยนต์ที่พัฒนาออกมาก็จะโน้มเอียงไปทางนั้น

คล้ายๆ กับกรณีที่เราเคยคุยกันในคอลัมน์นี้ว่าโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้ชายผิวขาว เนื่องจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์จำนวนมากเป็นผู้ชาย และเป็นคนผิวขาว พวกเขาก็ใช้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งรอบตัวใส่เข้าไปในเทคโนโลยีที่ตัวเองทำ

จนผลลัพธ์บางอย่างออกมากีดกันผู้หญิงและคนผิวสีไปโดยที่พวกเขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้

หุ่นยนต์ก็เช่นเดียวกันค่ะ ข้อมูลที่หุ่นยนต์ถูกป้อนเข้าไป ถ้าหากไม่มีความหลากหลายพอ ก็อาจจะออกมาเป็นผู้นำประเทศที่เหยียดเพศ เหยียดสีผิวกับเขาได้เหมือนกัน

ท้ายที่สุดคือ ชุดของมาตรฐานทางจริยธรรมที่จะต้องใส่เข้าไปให้กับหุ่นยนต์ใช้ในการประมวลผลนั้น จะใช้ชุดจริยธรรมของใคร รายละเอียดเป็นอย่างไร อะไรถูก อะไรผิด อย่างการทำแท้งเสรีควรมีไหม ปัญหาผู้อพยพจะต้องแก้อย่างไร หัวข้อที่มีความซับซ้อนแบบนี้มนุษย์เราเถียงกันมานานสองนานแค่ไหนแล้วก็ยังไม่เคยเห็นพ้องต้องกันได้

แล้วจะใส่ชุดข้อมูลแบบไหนเข้าไปให้หุ่นยนต์ล่ะถึงจะเหมาะสมที่สุด

 

เราอาจจะยังไม่เดินทางไปถึงวันที่หุ่นยนต์จะมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนคนเร็วๆ นี้ อนาคตจะเป็นไปในทางนี้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ก็อาจจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปาก

แต่ที่แน่ๆ คือ ผู้นำประเทศระดับมหาอำนาจต่างก็เล็งเป้าหมายไปที่ปัญญาประดิษฐ์กันทั้งนั้น ไม่ใช่ในฐานะที่มาแทนตัวเอง แต่ในฐานะของการเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยประมวลผลและตัดสินใจ

และแน่นอน…ในฐานะของการเป็นอาวุธที่จะช่วยเสริมพลังให้ตัวเองเป็นผู้ปกครองโลกได้

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งจะออกมาพูดสุนทรพจน์ว่าปัญญาประดิษฐ์คืออนาคต ไม่ใช่แค่อนาคตของรัสเซีย แต่เป็นอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด หากใครสามารถครอบครองเทคโนโลยีนี้ได้ก่อนก็จะเป็นผู้ปกครองโลกในที่สุด

หากนั่นคือเป้าหมายของรัสเซีย ปูตินก็จะต้องงัดข้อแข่งกับอีกหลายประเทศที่มีศรัทธาในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่แพ้กัน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อิสราเอล แคนาดา เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องกลัวอาจจะไม่ใช่การมีหุ่นยนต์นั่งเก้าอี้ผู้นำ แต่การที่ผู้นำที่เป็นมนุษย์ใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือในการสอดส่องประชาชน ตรวจจับ ให้คะแนน ลดคะแนน หรือใช้ยุยงปลุกปั่นประชาชนมากกว่า

ย้อนกลับมาที่ตัวเรากันบ้างแล้วกัน คุณผู้อ่านมีคำตอบอยู่ในใจไหมคะว่า ถ้าหากต้องเลือกระหว่างหุ่นยนต์กับคณะรัฐบาลในปัจจุบัน

คุณผู้อ่านจะเลือกให้ใครอยู่ ใครไป