ผู้เชี่ยวชาญเตือน โรคปอดบวมอาจคร่าชีวิตเด็กเล็กสูงแตะ 11 ล้าน ภายในปี 2030

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์เจแปนไทม์สของญี่ปุ่นอ้างตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้ออกมาเตือนภัยจากการศึกษาวิจัยว่า โรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคเสี่ยงถึงชีวิตต่อเด็กเล็ก อาจสามารถคร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั่วโลกได้เกือบ 11 ล้านคนภายในปี 2030 โดยเฉพาะเด็กเล็กในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่แต่ละปีต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนแสนคน

โดยงานศึกษาของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ร่วมกับกลุ่ม Save the Children องค์กรบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัย ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์จากข้อมูลที่รวบรวม แสดงให้เห็นว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 10,800,000 คน มีโอกาสติดเชื้อภายในทศวรรษหน้า โดยที่ปี 2016 เพียงปีเดียว มีเด็กมากกว่า 880,000 คน ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ เสียชีวิตจากโรคปอดบวม

อีกทั้ง มีประเทศที่เด็กเสียชีวิตจากโรคปอดบวมมากที่สุดคือ ไนจีเรียและอินเดียอยู่ที่ 1.7 ล้านคน ปากีสถาน 7 แสนคน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 635,000 คน

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเด็กที่อยู่ในความเสี่ยงถึงชีวิตตามงานวิจัย ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อพบปริมาณการใช้วัคซีน ควบคู่กับการใช้ปฏิชีวนะราคาถูกและการได้รับอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการให้กับเด็กมากขึ้น จนสามารถช่วยให้เด็กมีชีวิตรอดได้มากถึง 4.1 ล้านคน

นายเควิน วัตกินส์ ประธานบริหารของ Save the Children กล่าวว่า มีความเชื่ออันคับแคบว่ามีเด็กกำลังเสียชีวิตเกือบล้านคนทุกปีจากโรคนี้ ซึ่งเรามีความรู้และทรัพยากรที่จะเอาชนะได้ โดยที่ไม่ต้องมีริบบิ้นสีชมพู การประชุมสุดยอดหรือเดินขบวนเพื่อตระหนักถึงโรคปอดบวม ขอเพียงใครก็ตามที่ใส่ใจถึงความยุติธรรมและการเข้าถึงสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพของพวกเขา ฆาตกรผู้ถูกลืมนี้คือสาเหตุในยุคของเรา

ทั้งนี้ ปี 2030 คือปีเป้าหมายของเป้าหมายสัมฤทธิ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ต่างๆรวมถึงให้คำมั่นในการยุติการเสียชีวิตของเด็กที่ยับยั้งได้