ชาวสวนยางจี้รัฐแก้ราคาดิ่ง หวั่นกดราคาซ้ำหน้ากรีดปริมาณเพิ่ม 30 %

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปยางพารารมควัน เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมยางพาราในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปยางพารารมควัน ที่มีสมาชิกกว่า 200 กลุ่ม ราคาได้ทยอยตกต่ำลงจาก 40 กว่าบาท/กิโลกรัม (กก.) ลงมาอยู่ที่ 38-39 บาท/กก. มาประมาณ 1 สัปดาห์ และล่าสุดลงมาอยู่ที่ 32-33 บาท

โดยพื้นที่ภาคใต้ตอนบนราคาต่ำกว่า 3 กก. 100 บาทแล้ว ขณะที่ราคาน้ำยางสดในพื้นที่ 33 บาท/กก.ส่งผลให้ชาวสวนยางพาราไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ สำหรับโรงงานแปรรูปวิสาหกิจชุมชนยางเอง มีรายได้เพียงจ่ายดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนเงินต้นไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่าย ต้องค้างชำระต่อไป

“ตอนนี้ชาวสวนยางพารามีเงินรายได้ไม่พอต่อการยังชีพ บุตรหลานต้องไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย หนี้สินที่ค้างสะสมมาอย่างยาวนาน” นายเรืองยศกล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่ภาคใต้เข้าสู่ฤดูกาลกรีดยาง ซึ่งจะมีปริมาณน้ำยางสดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ส่งผลกระทบทำให้ถูกกดดันราคารับซื้อลงไปอีก ดังนั้น แนวทางออกในการแก้ไขตอนนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ นำยางพาราไปใช้ภายในประเทศมากขึ้นเป็น 30-50% จากปัจจุบันนำไปใช้เพียง 14% เช่น นำไปทำถนน ทำสนามกีฬา ทำอ่างเก็บน้ำ ทำถนนพาราซีเมนต์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทางแกนนำเครือข่ายชาวสวนยางพาราได้หารือกันว่า จะต้องทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยจะนัดรวมพลเพื่อแสดงพลังทางสัญลักษณ์และกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ วันที่ 15 พ.ย. 61 เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริง โดยไม่มีการยื่นหนังสือร้องเรียน เพราะยื่นมาหลายครั้งแล้ว ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายการช่วยเหลือที่ชัดเจนออกมา ทางเครือข่ายชาวสวนยางพาราอาจจะยกระดับการเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป