คนมองหนัง : “One Cut of the Dead”: สิ่งที่ซุกซ่อนไว้ภายใต้ความ “โหด-มัน-ฮา”

คนมองหนัง

“One Cut of the Dead” เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นฟอร์มเล็ก ทุนสร้างประมาณ 3 ล้านเยน หรือไม่ถึง 9 แสนบาท ที่โกยรายได้ทั้งในและนอกประเทศไปอย่างมหาศาลหากเปรียบเทียบกับต้นทุนอันน้อยนิด (ในบ้านเกิด ตัวเลขรายได้ของหนังพุ่งไปถึง 800 ล้านเยน หรือเกิน 200 ล้านบาท)

ขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ยังเดินทางไปคว้ารางวัลตามเทศกาลหนังแฟนตาซีเหนือจริง (fantastic film) หลายแห่งทั่วโลก

“One Cut of the Dead” เปิดฉากเรื่องราวอย่างไม่พิรี้พิไร ด้วยภาพยนตร์สั้นแนวหนังซ้อนหนัง ว่าด้วยกองถ่ายหนังซอมบี้ทุนต่ำที่ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าซอมบี้ตัวจริง

คนดูย่อมรู้ได้ไม่ยากว่านี่คือหนังสั้นเกรดบี ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ประกอบไม่สมจริงนานัปการ รวมทั้งซอมบี้ผีตลก

แต่ลักษณะโดดเด่นอันน่าทึ่งของภาพยนตร์สั้นความยาวกว่า 30 นาที ซึ่งกินเวลาราว 1 ใน 3 ของ “One Cut of the Dead” ก็คือ หนังสั้นดิบๆ เรื่องนั้น ถ่ายทำกันแบบลองเทก คัตเดียว มีการสลับมุมภาพ แต่ปราศจากการตัดต่อ

การถ่ายหนังแบบลองเทกเกินครึ่งชั่วโมงหมายความว่าจะมีความผิดพลาดสำคัญเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือหากมี ปัญหาทั้งหลายก็ต้องถูกแก้ไขโดยรวดเร็วและแนบเนียนที่สุด

หลังหนังสั้นซอมบี้เทกเดียวปิดฉากลงอย่างน่าประทับใจ “One Cut of the Dead” ก็เริ่มเฉลยเบื้องหลังการถ่ายทำทั้งหมด

หนังเล่าถึงผู้กำกับฯ วัยกลางคน ที่รับจ้างผลิตภาพยนตร์/โฆษณาทางโทรทัศน์ในราคาย่อมเยา วันหนึ่ง เขาได้รับการทาบทามให้เข้ามาทำหนังสั้นคัตเดียวที่ต้องออกอากาศสด ในวันเปิดสถานีโทรทัศน์ซอมบี้ช่องใหม่

แม้เบื้องหน้าจะสนุกสนาน เฮฮา บ้าระห่ำได้ใจผู้ชมและผู้บริหารสถานี แต่ ณ เบื้องหลัง ผู้กำกับฯ และทีมงานต้องคอยแก้ไขอุปสรรคปัญหาจุกจิก-ใหญ่โตมากมายหลายประการ

รวมถึงการคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) ของตัวผู้กำกับฯ เองด้วย

ผมรู้สึกว่า “One Cut of the Dead” ได้นำเสนอประเด็นน่าสนใจชวนฉุกคิดอยู่ 2-3 ข้อ

ประการแรก แน่นอน ภาพยนตร์ญี่ปุ่นทุนสร้างต่ำเรื่องนี้กำลังบอกกล่าวเล่าระบายถึงวิถีดิ้นรนในการประกอบอาชีพของคนทำหนังตัวเล็กๆ

อย่างไรก็ตาม คนทำหนังในภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้พยายามหลีกลี้ออกไปแสวงหา “โลกใบใหม่” นอกระบบอุตสาหกรรม ตรงกันข้าม “ความสุข-ความปรารถนา” ของพวกเขา ล้วนเคลื่อนไหวและยังคงดำรงอยู่ภายในระบบ ผ่านการรับงานจิปาถะหลากหลาย และพร้อมยอมรับเงื่อนไขจำกัดจำเขี่ยต่างๆ

หนังญี่ปุ่นเรื่องนี้จึงไม่ได้ถ่ายทอด “ความสุข-ความปรารถนา” ของศิลปิน/นักต่อสู้ที่หวังจะผลิตผลงานศิลปะอันสูงส่ง หรือเครื่องมือวิพากษ์สังคมการเมืองและระบบทุนนิยมอันซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา

ทว่า “ความสุข-ความปรารถนา” แบบพอประมาณ พอถูๆ ไถๆ ที่ปรากฏในหนัง นั้นยึดโยงอยู่กับการทำงานพาณิชย์ศิลป์ในวงการภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือการได้เข้าร่วมเป็นฟันเฟืองชิ้นยิบย่อยในอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดมหึมา

ประการที่สอง “One Cut of the Dead” มีความแน่วแน่พอที่จะเลือกเล่าเรื่องราวว่าด้วยกระบวนการสร้างหนังทุนต่ำ โดยแทบไม่วอกแวกแวะออกไปหาประเด็นรายทางอื่นๆ นอกเส้นทางหลัก

หนังอาจมีซับพล็อตซึ้งๆ เช่น ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ (ผู้กำกับฯ เกรดบี), แม่ (นักแสดงเก่า ผู้ประสบปัญหาเรื่องการแยกโลกในหนังกับความเป็นจริงไม่ออก) และลูกสาว (เด็กกองถ่ายมือใหม่ ที่อยากยืนบนลำแข้งของตนเอง และใฝ่หา “ความสมบูรณ์แบบ” ในการทำงาน)

แต่สุดท้าย ปัญหาครอบครัวก็กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตจิตใจของ “คนทำหนัง”

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องธุรกิจ-อุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านของกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์อันแสนโหด-มัน-ฮา

ประการที่สาม เชื่อว่าคนดูหลายรายอาจติดใจกับรูปลักษณ์ของตัวละคร “เจ๊/คุณป้า” ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ที่ชวนให้นึกถึง “คุณจิ๊ อัจฉราพรรณ” และ “คุณเหี่ยวฟ้า” ในวงการบันเทิงไทย

อย่างไรก็ดี นอกจากหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ การดำรงอยู่ของเจ๊คนนี้และทีมงานฝ่ายบริหารในออฟฟิศ กลับกระตุ้นให้ผู้ชมมองเห็น/ตระหนักถึงรอยแตกร้าวระหว่าง “ชนชั้น” ในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่แบ่งแยกนายทุน/ผู้บริหาร/เจ้าของเงิน ออกจากเหล่าคนลงมือปฏิบัติงาน

“ความสุขความสมหวัง” ของเจ๊ระหว่างนั่งชมหนังซอมบี้ดิบๆ ทางโทรทัศน์ในสำนักงานใหญ่ (มีบางช่วงแกแอบละสายตาไปเล่นโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ) และหลังจากปฏิบัติการถ่ายทอดสดหนังสั้นเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นลง โดย (ดูเหมือนจะ) “สมบูรณ์” กับ “ความสุขความโล่งใจ” ของบรรดาสมาชิกกองถ่าย ภายหลังการถ่ายทำหนังลองเทกออกอากาศสด ที่เต็มไปด้วยปมปัญหาต่างๆ นานาให้ต้องคอยแก้ไขชนิดเลือดตาแทบกระเด็นนั้น

ช่าง “แตกต่างกัน” ลิบลับ

เอาเข้าจริง แม้กระทั่งฉาก “เครนมนุษย์” อันซาบซึ้ง ที่ส่งผลให้หนังสั้นซอมบี้ถ่ายทอดสดจบลงอย่างบริบูรณ์ในจอทีวี ก็อาจมิได้นำไปสู่ “ภราดรภาพ” หรือความเท่าเทียมแนวระนาบใดๆ ระหว่างคนในกองถ่ายภาพยนตร์

หากนั่นคือการเรียงลำดับช่วงชั้นแนวดิ่งแบบใหม่ ที่โปรดิวเซอร์/ตัวแทนนายทุน และนักแสดงใหญ่ ต้องยินยอมทอดกายลงเป็นงัวงาน ขณะที่ผู้กำกับฯ/ทายาทผู้กำกับฯ ได้โอกาสสถาปนาอำนาจนำของตนเองสมตามความใฝ่ฝันและอุดมคติ บนยอดพีระมิดทำมือ

ดังนั้น ภายใต้พื้นผิวฉากหน้าที่เคลือบเลี่ยมด้วยความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสำเร็จ ซึ่งปรากฏใน “One Cut of the Dead” จึงซ่อนแฝงไว้ด้วยความไม่เสมอภาค การเอารัดเอาเปรียบ และการต่อรองยื้อแย่งสิทธิในการเข้าถึงหรือบริหารจัดการทรัพยากร

บนสมรภูมิของระบบอุตสาหกรรมบันเทิงอันซับซ้อนและไพศาล