ศิลปะการเป็นนายธนาคารกลาง (1)

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

แบงก์ชาติกับรัฐบาลดูเหมือนจะเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กันมาเกือบทุกยุคทุกสมัย และเมื่อไรที่มีปัญหา ดูเหมือนผู้ว่าการจะเป็นฝ่ายถูก “ปลด” ทั้งที่รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งผู้ว่าการเองแท้ๆ

หลายคนก็พากันสงสัยว่า ทำไมเป็นเช่นนั้นหนอ?

หม่อมเต่าเล่าไว้ในหนังสือ “สดุดี (คนอื่น)” ว่า แบงก์ชาติมีเครื่องมือรบทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น การคุมอัตราดอกเบี้ยที่มาพร้อมกับอำนาจการพิมพ์เงิน การออกกฎคุมสถาบันการเงิน

ที่สำคัญ เครื่องมือทุกอย่างอยู่ในมือของ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญมากชนิดเป็น 1 ใน 3 คนที่ทำให้ประเทศ “เจ๊ง” ได้

และผลสำรวจในหลายประเทศก็ไม่ต่างกัน ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการตัดสินใจนโยบายสำคัญของประเทศ และแรงกดดันจากรัฐบาลที่มักมีหลายสิ่งที่อยากได้จากแบงก์ชาติ อาทิ

อยากได้เงินมาใช้จ่าย

อยากให้เศรษฐกิจโตไวๆ

อยากให้ดอกเบี้ยต่ำๆ

ฯลฯ

ดังนั้น พอแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจประเทศมีเสถียรภาพ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็มักจะเป็นรัฐบาล กล่าวคือ ธุรกิจต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นักธุรกิจก็ไม่ชอบ

และเมื่อไม่ชอบก็ไม่ชอบรัฐบาลที่ยอมเช่นนั้น และเมื่อผู้ถูกแต่งตั้งทำให้ผู้แต่งตั้งเดือดร้อนก็มักจะถูก “ปลด”

hoo3
กำจร สถิรกุล
i97ebbjdaje975b87b56c
นุกูล ประจวบเหมาะ

หม่อมเต่าเองก็เป็นหนึ่งในผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ถูกปลด จึงเข้าใจความเปราะบางของเก้าอี้ตัวนี้เป็นอย่างดี

และประทับใจที่ในยุคท่านผู้ว่าการ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มีสถานการณ์มากมายที่กระตุ้นให้ “ปลดผู้ว่าการ” อีกครั้งหนึ่ง ทุกคนได้แต่ส่งกำลังใจและลุ้นข่าว “ปลด” ที่พาดหัวกันทุกวันว่า จะยุติลงเมื่อใด

ในที่สุด ท่านก็ประคองตัวจน “รอด” จากการถูกปลดชนิด “หักปากกาเซียน”

สำหรับหม่อมเต่าแล้ว ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ท่านผู้ว่าการประสารได้สร้างความอิสระให้แบงก์ชาติเกิดขึ้นในความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า De Facto นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด จนต้องขอสดุดีท่านผู้ว่าการประสาร

แต่ที่มาของคำสดุดี เป็นเพียงครึ่งเรื่อง อีกครึ่งเรื่องคือ ท่านผู้ว่าการประสารทำอย่างไรจึงรอดพ้นจาก “มรสุมการเมือง” และก้าวลงจาก “เก้าอี้ (โยก)” ได้อย่างสง่างาม

นั่นคือ “Secret of Leadership” ที่จะพูดคุยในวันนี้

ประมวล สภาวสุ
ประมวล สภาวสุ
spd_20141213223008_b
สมหมาย ฮุนตระกูล

ตีโจทย์ให้แตก

ผมมาเข้าทำงานที่แบงก์ชาติปลายปี 2526 และออกไปตั้ง กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ปี 2535 เป็นช่วงที่ผมเห็นฤทธิ์เดชของการปะทะกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับแบงก์ชาติ และแรงเสียดทานในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ปี 2527 ท่านผู้ว่าการ นุกูล ประจวบเหมาะ ถูกปลดในยุค คุณสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง

ปี 2533 ท่านผู้ว่าการ กำจร สถิรกุล ถูกปลดในยุค คุณประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง

สมัยนั้นจะปลดก็ง่ายมาก เช้าอังคารประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐมนตรีคลังอาจเอารายชื่อของผู้ที่เหมาะสมเป็นผู้ว่าการคนใหม่เข้า ครม. เลย โดยไม่ต้องปรึกษาหารือใครอีกแล้ว ก็สามารถเอาผู้ว่าการออกได้เลย เพราะกฎหมายไม่ได้ปกป้องผู้ว่าการเลย

สมัยนี้กฎหมายปี 2551 แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดมาตราให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมขึ้นมาว่า การจะเอาผู้ว่าการออกต้องมีเหตุผล

เช่น บุคคลนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือบุคคลนั้นได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ว่าเพียงข้อกำหนดในกฎหมาย คิดว่าไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้มากพอ เพราะรัฐบาล ถ้าเขาตั้งใจจะเอาออกจริงๆ เขาก็สามารถออกพระราชกำหนดมาแก้ไขได้

ผมคิดว่าข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ท้ายที่สุดต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชน

กล่าวคือ การเมืองไม่กลัวแบงก์ชาติ แต่การเมืองกลัวประชาชน

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ แบงก์ชาติที่ต้องดำรงสถานะให้น่าเชื่อถือ ต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน ต้องโปร่งใส สื่อสารและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ

ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

 

วางกลยุทธ์ตอบโจทย์

การสร้างความไว้วางใจในองค์กร ไม่ใช่วังโก้ ตึกหรู นายประสาร หรือผู้ว่าการ แต่เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา และช่วยกันทำในหลายมิติ

จัดทัพ

เริ่มงานวันแรก (1 ตุลาคม 2553) 08.00 น. ผมได้สื่อสารกับเพื่อนพนักงานว่า ผมอยากให้ค่านิยม “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” เป็นคุณสมบัติของแบงก์ชาติ

“ยืนตรง” คือ ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

“มองไกล” คือ ให้คิดถึงอนาคตในระยะยาว ไม่เน้นเฉพาะผลในระยะสั้น

“ยื่นมือ” คือ ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

“ติดดิน” คือ เข้าใจโลกในความเป็นจริง ถ่อมตน เข้าถึงง่าย

ผมเชื่อว่าการมีค่านิยมข้างต้นเป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนไว้ใจแบงก์ชาติ Public Office is a Public Trust หมายความว่า “องค์กรสาธารณะอยู่ได้เพราะประชาชนไว้วางใจ”

ในทางตรงข้าม ถ้าขาดความไว้วางใจจากประชาชนแล้ว องค์กรนั้นก็ไม่สามารถเป็นสถาบันให้ประชาชนพึ่งพิงได้ แบงก์ชาติก็เช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือ “หัวใจ” ซึ่งจะเล่าเพิ่มเติมในภายหลัง