ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์/BLINDSPOTTING ‘จุดบอด’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์

 

BLINDSPOTTING

‘จุดบอด’

 

กำกับการแสดง  Carlos Lopez Estrada

นำแสดง Daveed Diggs Rafael Casal  Janina Gavankar

 

เราจะเข้าใจความหมายของชื่อหนังได้จากเรื่องราวตอนหนึ่งที่ตัวเอกกำลังช่วยแฟนท่องหนังสือสำหรับสอบวิชาจิตวิทยา

ในตำราเรียน มีภาพที่เรียกว่า “แจกันของรูเบนส์” ซึ่งดูแล้ว บางคนบอกว่าเป็นรูปแจกัน แต่บางคนบอกว่าเป็นรูปหน้าด้านข้างของคนสองคน

จะเห็นเป็นภาพอะไรก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ตัวละครจึงเรียกลักษณะนี้ว่า “การเป็นจุดบอดที่ตามองไม่เห็น” หรือ blindspotting ตามชื่อเรื่อง

นี่เป็นผลงานจากความร่วมมือของเพื่อนรักสองคนในชีวิตจริง คือ ดาวีด ดิกส์ และราฟาเอล คาซาล ซึ่งร่วมเขียนบท ร่วมแสดงในบทนำ และร่วมอำนวยการสร้างด้วยกัน

เป็นหนังอินดี้ที่ได้รับการจับตาและชื่นชอบพอดูในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่ง รวมทั้งเทศกาลซันแดนซ์ที่ผ่านมาด้วย

ด้วยการผสานสไตล์แหวกแนวเข้ามากับดราม่าหนักๆ อารมณ์ขันที่ต้องหัวเราะออกมาในเรื่องความเป็นความตาย และเนื้อหาที่กระตุ้นความคิด

 

หนังเริ่มด้วยการแบ่งจอเป็นสองด้าน แสดงภาพต่างๆ ของเมืองโอ๊กแลนด์ ซึ่งกำลังแปรสภาพชุมชนจากสลัมรกเรื้อของคนผิวสีเป็นบ้านเรือนตามรสนิยมของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ชื่อ โฮลฟู้ดส์ ซึ่งมุ่งเน้นที่อาหารสุขภาพสำหรับชาวเมืองที่รักสุขภาพ

และแล้วก็เข้าสู่เรื่องราวหลักของหนุ่มผิวดำชื่อ คอลลิน (ดาวีด ดิกส์) ซึ่งหลังจากถูกจำคุกได้สองเดือนด้วยข้อหาที่ยังไม่กระจ่างชัดในขณะนี้ กำลังรับฟังคำของผู้พิพากษาที่สั่งให้เขาย้ายไปปรับสภาพการใช้ชีวิตในชุมชน ในสถานที่ที่เรียกว่า halfway house ก่อนจะได้รับอิสรภาพเต็มที่

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในสามวันก่อนหน้าที่คอลลินจะได้รับการปล่อยตัวออกสู่สังคม และนับถอยหลังทีละวันๆ

เงื่อนไขของ “บ้านครึ่งทาง” นี้ คือการใช้ชีวิตในชุมชนตามปกติ โดยการมีงานประจำทำ เพียงแต่มีเคอร์ฟิวตอนห้าทุ่ม คือต้องกลับเข้าที่พักก่อนห้าทุ่ม ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ห้ามเถียงห้ามทำร้ายร่างกาย รวมทั้งห้ามก่อเรื่องผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น หาไม่จะถูกส่งตัวกลับเข้าคุกและยืดระยะเวลารับโทษต่อไปอีก

คอลลินมีงานทำเป็นพนักงานขับรถบรรทุกคันโตของบริษัทรับจ้างขนของย้ายบ้าน โดยมีแฟนเก่าชื่อวาล (จานีนา กาวันคาร์) เป็นพนักงานต้อนรับและแจกจ่ายงาน วาลเป็นฝ่ายบอกเลิกกับคอลลิน และเห็นได้ชัดว่าคอลลินยังอาลัยอาวรณ์เธออยู่มาก

ถึงขนาดที่ยอมซื้อเครื่องดื่มสุขภาพราคาแพงลิ่วไปดื่มให้เธอดูเพื่อให้เห็นว่าเขากลับตัวกลับใจกลายมาเป็นคนรักสุขภาพแล้ว

แต่วาลก็ยังไม่พร้อมจะกลับมาคืนดีด้วย

โดยเฉพาะเมื่อคอลลินยังคบค้าสมาคมกับไมล์ส (ราฟาเอล คาซาล) เพื่อนรักที่คบกันมาตั้งแต่วัยเด็ก และเห็นได้ชัดว่าไมล์สเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ และมีแนวโน้มจะสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนโดยขาดความยั้งคิดอยู่บ่อยๆ

อาทิ การที่เขาซื้อปืนผิดกฎหมายต่อหน้าต่อตาคอลลิน แล้วยังควงปืนว่อนให้เห็น อันเป็นอันตรายยิ่งต่อความประพฤติของคอลลิน โดยเฉพาะในสามวันสุดท้ายก่อนที่เขาจะได้รับอิสรภาพเต็มที่

ระหว่างนั้นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวที่สุดคือ การที่คอลลินจอดรถติดไฟแดงกลางดึก แล้วเห็นตำรวจผิวขาวไล่ตามชายผิวดำ และทำวิสามัญฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นด้วยการยิงใส่สี่นัดซ้อนๆ จนตายคาที่ ตำรวจคนนั้นเห็นหน้าคอลลินที่เป็นพยานรู้เห็นคนเดียวอย่างชัดเจน

หลังจากนั้น คอลลินก็ลืมเรื่องนั้นไม่ได้ และเกิดภาพหลอนอยู่เนืองๆ

 

เรื่องนี้นำไปสู่ไคลแมกซ์ที่เข้มข้นช่วงสุดท้าย ซึ่งทำให้คนดูลุ้นอย่างมากโดยกลายเป็นจุดหักเหสำคัญในเรื่องด้วย

แต่ชีวิตกึ่งทางของคอลลินยังมีเรื่องหวุดหวิดฉิวเฉียดมากกว่านั้น จากมนุษย์อันตรายที่เขาคบหาสนิทสนมในฐานะเพื่อนตาย

นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิตในโลกที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และการปรับตัวเพื่ออยู่ในโลก โดยเปลี่ยนทัศนะและมุมมองจากภาพที่มีแง่มุมหลายหลาก นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของอคติทางเชื้อชาติที่มาเหนือความผิดถูกตามเนื้อผ้า

เหตุการณ์ที่ทำให้คอลลินถูกตัดสินจำคุกนั้น มีไมล์สอยู่ในเหตุการณ์ในฐานะผู้ร่วมกระทำผิด แต่ทว่าไมล์สซึ่งอารมณ์รุนแรงและอันตรายกว่าด้วยซ้ำ กลับรอดตัวไปได้ เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนผิวขาว

ขณะที่คนผิวดำหรือผิวสีอย่างคอลลินจะได้รับการปักใจว่าเป็นคนผิดตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ

 

ตลอดเรื่อง ไมล์สซึ่งเป็นคนผิวขาว ถูกเรียกด้วยคำต้องห้ามสำหรับใช้เรียกคนผิวดำ ว่า “นิกเกอร์” หรือ “ไอ้มืด” แต่เมื่อใช้คำนี้เรียกคนผิวขาว กลับกลายเป็นคำล้อเลียน ที่ไม่ใช่คำด่าอย่างเหยียดหยาม

ความหนักของเนื้อหาถูกกระจายให้เบาลงด้วยอารมณ์ขัน และการด้นสดด้วยทำนองของ “เพลงแร็พ” ของคนผิวดำ ซึ่งออกจะจี้เส้นจากคำคล้องจองของเสียงสระที่สัมผัสกันไปเรื่อยๆ

ตอนที่แปลกที่สุดคือช่วงไคลแมกซ์ที่ตัวละครควงปืนคุกคาม และทำท่าจะนำไปสู่จุดระเบิดที่อันตรายยิ่ง แต่ตัวละครกลับพ่นและด้นสดออกมาเป็นแร็พ ที่ว่าแปลกก็เพราะเป็นสไตล์ที่ยกเรื่องราวขึ้นพ้นจากความสมจริง เหมือนจะเป็นมิวสิคัลกลายๆ ซึ่งผลก็คือเรื่องราวคลายความตึงเครียดลงเยอะเลย

ผู้เขียนชอบองค์ประกอบของพล็อตที่ใช้ในการเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตใน “บ้านครึ่งทาง”

งานประจำของคอลลินกับไมล์สในบริษัทรับจ้างย้ายบ้าน

ทรงผมถักเปียทั่วหัวของคอลลินที่เป็นการบอกอัตลักษณ์

และฉากที่ทำให้เขาต้องยอมเปลี่ยนอัตลักษณ์ไปเพื่อแลกกับความสำเร็จในธุรกิจ ก่อนที่จะรีบร้อนเรียกตัวแฟนเก่ามาถักเปียให้ก่อนที่ใครๆ จะเห็นว่าตัวตนของเขาเปลี่ยนไป

 

เหนือสิ่งใด นี่คือเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงอันหยุดยั้งไว้ไม่ได้ ทางเดียวที่เราจะทำได้ในช่วงที่อยู่ “บ้านครึ่งทาง” ก็คือปรับมุมมองเสียใหม่

ในภาพเดิมนั้นแหละ เราสามารถมองเห็นสิ่งที่แตกต่างไปคนละเรื่องกันเลยถ้าเราไม่กำหนด “จุดบอด” ในการรับรู้ภาพไว้ตามแบบเดิมๆ

ความรู้สึกดีๆ ระหว่างการดูหนังอินดี้จากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ คือ เราไม่สามารถคาดเดาทิศทางของหนังได้เลยว่าจะพาเราไปที่ไหนอย่างไร

นี่คือความสดชื่นแบบหนึ่งของประสบการณ์ภาพยนตร์ที่คาดเดาไม่ได้ เพราะไม่ต้องพยายามเอาใจคนดูด้วยการเดินเรื่องตามสูตรด้วยความที่ต้องการการเห็นชอบจากคนหมู่มาก

แล้วก็บอกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จกับคนหมู่มากหรอกค่ะ