เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เขื่องขลังพลังกวี

๐ โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย

กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม ฯ

ฉบังบทนี้สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงประพันธ์ไว้ท้ายเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์

เป็นที่มาของวรรคทอง “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม”

เป็นดังคำถามมาถึงยุคนี้ ที่นับว่าทันสมัยยิ่ง

เปิดพจนานุกรมดูคำว่า “ไขษย” แปลว่า การสิ้นความเสื่อมถอย เป็นคำเดียวกับคำขษัย กระษัย กษัย แปลว่าความเสื่อม ลดลงจากที่เคยมีเคยเป็น

จริงไม่จริงค่อยว่ากัน

เลยทำให้ต้องไปเปิดอ่านวรรณคดีสมุทรโฆษคำฉันท์สมัยอยุธยาต่อมาถึงรัตนโกสินทร์ เพราะวรรณคดีเรื่องนี้แต่งโดยกวีถึงสามท่าน เริ่มแต่พระมหาราชครู ต่อด้วยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตธิโนรส ว่าแต่งขึ้นระหว่างราวปี พ.ศ.2199-2231 แล้วค้างอยู่มาต่อจนจบเมื่อ พ.ศ.2392 ใช้เวลาแต่งเกือบสามร้อยปี

ที่มหัศจรรย์คือสำนวนภาษาสม่ำเสมอโดยตลอด ประหนึ่งประพันธ์ด้วยเอกกวีคนเดียวกันนั่นเทียว

คือเป็นภาษากวีโบราณแต่งได้อ่านได้เฉพาะผู้แตกฉานในศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤต เป็นสำคัญถึงขั้นเอกอุเอาเลยทีเดียว

สมุทรโฆษเป็นชาดก คือเรื่องราวแต่ปางก่อนของพระพุทธเจ้า อันถือเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ปางหนึ่ง และสมุทรโฆษนี้เป็นคำฉันท์เรื่องแรกของวรรณคดีไทย ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทฉันท์

ผู้รักจะสืบสานวรรณกรรม โดยเฉพาะรักในกวีนิพนธ์ต้องอ่านสมุทรโฆษคำฉันท์เป็นภาคบังคับ

สำคัญคือเรื่องนี้แต่งไว้เพื่อ “เล่นหนัง” คือการแสดงมหรสพหนังใหญ่

พระให้กล่าวกาพย์นิพนธ์ จำนองโดยกล

ตระการเพรงยศพระฯ

ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ เปนบรรพบุรณะ

นเรนทรราชบรรหารฯ

ให้ทวยนักคณผู้ชาญ กลเล่นโดยการ-

ยเป็นบำเทิงธรณี ฯ

แค่นี้ก็เหนื่อยแล้วใช่ไหม คือมึนด้วยศัพท์แสงและโวหารโดยเฉพาะ

ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ

ฉลักนั้นพอทำเนาว่าเป็นคำเดียวกับสลัก เช่น สลักเสลา ก็คือฉลักเฉลา

แสบก ไม่ได้อ่าน แส-บก แต่อ่านว่า สะแบก เปิดพจนานุกรมจึงรู้ แปลว่า หนัง และหมายถึง รูปหนังที่แกะฉลุฉลักแล้วนั่นเอง

อันชระนี่เปิดไม่เจอ อ้อ ที่แท้เฉพาะคำชระนี้เท่านั้น แปลว่า งาม ชัด ฉะนั้น อันชระ ก็คือ อันงามคมชัด ว่างั้นเถิด

วรรคนี้จึงแปลว่า โปรดให้ฉลุฉลักแผ่นหนังขึ้นเป็นภาพอันงดงามเด่นชัด ก็คือ ตัวหนังใหญ่นี่เอง

สะดุดคำ “การย” ที่ “ฉีกคำ” ระหว่างวรรคท้าย คือ

กลเล่นโดยการ- ยเป็นบำเทิงธรณี ฯ

แท้จริงคำ การย แปลว่า งาน ภาระ หน้าที่ ซึ่งเวลานี้เขาใช้แค่การคำเดียวพอแล้ว

จึงว่าภาษากวีโบราณแต่งได้อ่านได้เฉพาะผู้แตกฉานในศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตเป็นสำคัญถึงขึ้นเอกอุเอาเลยทีเดียว นั้นแล

กระนั้นก็มีกวีเอกคนสำคัญแตกฉานถึงขั้นอ่านได้แต่งได้ สามารถถอดอารมณ์ของเก่ามาบันดาลเป็นอารมณ์ใหม่แห่งยุคสมัยได้ไม่แพ้กัน แทบจะ “เหยียบบาท” ต่อบาท นั่นเลย

กวีท่านนี้คือ “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร ดูได้จากมหากาพย์ของท่านเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง”

ท่านมหาราชครูเบิกโรงสมุทรโฆษตามขนบการเล่นหนังใหญ่ คือ ก่อนเริ่มเรื่องจะเล่นเรื่องสนุกๆ นำก่อนแสดงที่เรียกเช่น “จับลิงหัวค่ำ” เพื่อ “เบิกโรง” ดังเล่นหัวล้านชนกัน

แคว้งแคว้งแสงหัวสองใส ส่องเห็นเงาใน

ก็แล่นกระทบทบทาน

บมิลื้นบมิลอกบมิวาน สองคือช้างสาร

แลชนกันปลักกลางแปลง

ฉาดฉาดเสียงหัวสองแขง เลือดไหลลามแดง

ทั้งหน้าทั้งตาดูยัง ฯ

นอกนี้มีเล่นอื่นอีก เช่น ชนแรด แข่งวัวเกวียน จระเข้กัดกัน

มหากาพย์ความเปลี่ยนแปลงของนายผีใช้เช่นหนังตะลุงประชันโรง มีโรงเมืองเพชร กับโรงตาหรุ่น ซึ่งเบิกโรงด้วยการแข่งควายขวิดกัน

ไอ้แก้วไอ้เปลือยปิดทอง ขี่ควายผายผยอง

มาเจอะกันกลางจอไกร

วางควายขวิดกันหวั่นไหว เพียงพื้นภพไตร

จะแตกทำลายลงพลัน

เชิดฆ้องกลองปี่นี่นั้น ฉิ่งกรับรับกัน

กระเกริกตระการโกลา

เด็กเล็กหลามล้อมโรงฮา ปั้งฉาดปั้งชา

เอาเว้ยกูเอาควายเปลือย

กูเอาควายแก้วละเหวือย ควายกูมีเดือย

ประดุจดวงเพลิงกาฬ

ควายกูมีพัดใบตาล พัดเพลิงบึงตาล

ให้ดับสะเด่าเดี๋ยวใจ

เด็กโห่ฮาตึงปรึงไป เฒ่าตามหลามไหล

ก็ล้อมตาหรุ่นเรืองนาม

โรงเพชรเข็ดเขี้ยวเคี้ยวกราม ถอนเสาโรงหาม

ลงเรือแลเรียกบมิเหลียว ฯ

มหากาพย์สองสำนวนนี้อ่านออกรสได้สนุกสนั่นพิสดารพันลึกล้ำเลยละ ไปอ่านฉบับจริงดูเถิด

นี้คือกลเม็ดเด็ดพรายของการเปิดเรื่องทั้งมหรสพและมหากาพย์ของเอกศิลปินสองยุคสมัย ที่สืบสายถ่ายทอดอารมณ์กันได้อย่างวิเศษ

ฟังดูให้ดีก็กระเดียดจะเป็น “แร็ป” ได้เลยนะนี่

อารมณ์กวีนั้นไม่ต่างกัน หากโดยเนื้อหาแล้วต่างกันโดยสิ้นเชิง สมุทรโฆษนั้นเพื่อสรรเสริญคุณแห่งพระพุทธองค์ ดังบทสรุปว่า

โผอนเอาดำนานเนิ่น ดำเนิรธรรมเทศนา

บัญญัติปัญญาสชา- ดกเสร็จสมเด็จแสดง ฯ

มหากาพย์ความเปลี่ยนแปลงนั้นแต่งเพื่อปลุกสำนึกจิตวิญญาณความเป็นไทที่ไม่เป็นทาสการกดขี่ของเผด็จการทุกรูปแบบ

รู้ว่าเพชรดีมีใน มวลชนชาวไทย

อันทรหดห้าวหาญ

มีในเบ้าหลอมเหลือประมาณ เริงรณทนทาน

แลล้วนถลุงพลุ่งพราย ฯ

นี้เป็นอำนาจวรรณกรรมอันบันทึกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นดั่งภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย

ด้วยพลังกวี