การลงทุนที่สำคัญคือการลงทุนกับพนักงาน เพราะเป็น “ทรัพยากร”ที่มีค่าที่สุด : เทวินทร์ วงศ์วานิช

“คม” ความคิด (5)

พนักงานเป็น “ทรัพยากร”ที่มีค่าที่สุดของเรา

ผมยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งครับ ที่บริษัทในกลุ่ม ปตท.ของเราได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม จากกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 “ความปลอดภัย” เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสุดในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการต่างๆ ของกลุ่ม ปตท.

รายได้หรือกำไรเท่าไหร่ก็ไม่มีความหมาย หากต้องแลกมาด้วยอุบัติเหตุในการทำงานของพนักงาน ซึ่งเป็น “ทรัพยากร” ที่มีค่ามากที่สุดของเรา

ผู้ปฏิบัติงานรวมถึงผู้รับเหมาต้องมีทักษะ ประสบการณ์ และสำนึกในการทำงานอย่างปลอดภัย

เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติหน้างานเท่านั้น

แต่ยังอาจจะส่งผลเสียไปถึงชุมชน สิ่งแวดล้อม

และที่แน่ๆ คือครอบครัวของเขาเหล่านั้น

การลงทุนที่สำคัญคือการลงทุนกับพนักงาน

เมื่อวันก่อน ผมเห็นข่าวที่ Jobs DB เปิดเผยว่า ปตท.ติดอันดับ Top 10 ขององค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากมาร่วมงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทย โดยปีนี้ได้เป็นอันดับ 1 รู้สึกปลื้มเป็นพิเศษครับ

ความสำเร็จของ ปตท.ในวันนี้มาจากวิสัยทัศน์ ฝีมือ ความมุ่งมั่นทุ่มเท และความต่อเนื่องของรุ่นพี่ๆ ที่ทำงานร่วมกันตลอดเวลาเกือบ 38 ปีที่ผ่านมา

และส่วนหนึ่งก็มาจากพลังของรุ่นใหม่ ที่ได้เสนอไอเดียดีๆ ในการทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ

ผมเชื่อว่าการลงทุนที่สำคัญที่สุดขององค์กรในวันนี้ คือการลงทุนกับพนักงาน ทั้งการพัฒนาความรู้และดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่

น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ปตท.ได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งในครั้งนี้

May the (Work) Force be with You

ผมเชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจทุกองค์กรต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ร่วมกันคือ มีความท้าทายจาก VUCA (Volatility Uncertainty Complexity Ambiguity : ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ) ความแตกแยกทางความคิด การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจสังคมอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจสังคมดิจิตอล (Technology Disruption)

ซึ่งส่งผลให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความขัดแย้งในสังคม

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรต้องมีการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Management) เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability Model)

โดยต้องเริ่มสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน (Strengthen from Inside) คือการให้ความสำคัญกับพนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรที่สำคัญเป็นอันดับแรก

เพราะพนักงานเปรียบได้ดั่ง “พลัง” ขององค์กร เหมือนกับ Force ในภาพยนตร์ Star Wars

จากนั้นพนักงานจะเป็นเสมือนทูตหรือผู้แทนขององค์กรในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก

พนักงานคือพลังจากภายในที่ผู้บริหารมองข้ามไม่ได้เลย

ผิดพลาดบ้างเพื่อเรียนรู้

ในช่วงเริ่มต้นทำงาน หลังจากเป็น Production Engineer 6 เดือน และ Drilling Engineer อีก 6 เดือน

ผมก็ได้มีโอกาสเผชิญกับความท้าทายใหม่ โดยได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ “วิศวกรแหล่งปิโตรเลียม” (Reservoir Engineer) และรับผิดชอบแหล่งบรรพต ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เล็กที่สุดของยูโนแคลในขณะนั้น

ตอนนั้นผมอายุ 27 ปี

งานวิศวกรแหล่งปิโตรเลียมนี้จะแตกต่างจากงานผลิตและงานเจาะเยอะมาก เพราะต้องทำงานอยู่กับข้อมูลจำนวนมหาศาล

เป็นงานนั่งโต๊ะที่มีความท้าทายอีกแบบ

โจทย์หลักในตอนนั้นคือ จะต้องวางแผนพัฒนาแหล่งบรรพตอย่างไร เพื่อให้รักษาอัตราการผลิตให้ไม่น้อยลงไปกว่าเดิม

ความท้าทายของแหล่งก๊าซในประเทศไทย คือก๊าซจะถูกกักเก็บในกระเปาะเล็กๆ บางๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ หนาๆ ที่ต่อเนื่องทั่วถึงกันเหมือนในประเทศที่เป็นผู้ผลิตใหญ่ เช่น กลุ่มโอเปค หรือมาเลเซีย

ทำให้เราต้องเจาะหลุมเยอะ

ตำแหน่ง Reservoir Engineer ถึงจะไม่ตื่นเต้นเสี่ยงอันตรายแบบงานเจาะหลุม ที่ต้องไปอยู่หน้างานแก้ปัญหา แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายในเชิงวิชาการที่ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการ เพิ่มประสิทธิภาพในการนำก๊าซขึ้นมามากที่สุด และลดต้นทุนจากการเจาะหลุม

ถือว่าเป็นความภูมิใจเล็กๆ ของคนทำงานวิชาการที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมครับ

ต้องยอมรับว่าบริษัทต่างชาติให้โอกาสเรียนรู้จากการรับผิดชอบงานโดยตรงมาก ซึ่งมีข้อดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้เราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดสมกับที่ได้รับความไว้วางใจ

และพัฒนาต่อเป็นความมั่นใจหลังจากที่ได้มีประสบการณ์รับผิดชอบงานเองตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ

ผมอยากบอกว่า องค์กรที่รับน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบ ถ้ามอบหมายให้รับผิดชอบอย่างเหมาะสม

ยอมให้เขาผิดพลาดบ้างเพื่อเรียนรู้ เขาจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต

ลงทุนใน Start-upสำคัญที่ “คน” มากกว่า “ไอเดีย”

จากการพูดคุยกับ Partner ของ Ventures Capital ขนาดใหญ่รายหนึ่งที่ Boston ซึ่งลงทุนต่อเนื่องมากว่า 45 ปีใน Tech company เช่น Twitter

ทำให้ได้แนวคิดที่แตกต่างมาเสริมเติมกลยุทธ์เตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

เขาเล่าว่า เขาจะพูดคุยกับ Start-up ใหม่ๆ ประมาณ 5 ประชุมต่อสัปดาห์ เพื่อเลือกเฟ้น Start-up ที่จะร่วมลงทุนและทำงานด้วยกันเพียง 1-2 บริษัทต่อปี

หรือประมาณ 1% ของ candidate ที่พบเท่านั้น!

และการเลือกเฟ้นนั้นจะให้ความสำคัญที่ “คน” มากกว่า “ไอเดีย”

เพราะเขาเชื่อว่า “Passion” ของคนนั้นสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เกิดแนวคิดและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา “นวัตกรรม” ให้เป็นสินค้าหรือบริการได้

เขาพบว่าจากสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มีเพียง 20% เท่านั้นที่พัฒนาตามแผนธุรกิจเดิม หรือไอเดียตั้งต้น

ที่เหลืออีก 80% จะต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจในกระบวนการออกแบบและทดลอง

ดังนั้น “คน” จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างแท้จริงที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

HR เสมือนคุณหมอขององค์กร

บทบาทของ HR นอกจากจะต้องเตรียมระบบสรรหา พัฒนา บริหารจัดการค่าตอบแทน, performance และส่งเสริมโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ รวมถึงค่านิยมองค์กรให้กับพนักงานแล้ว

ผมมองว่า HR ยังสามารถทำหน้าที่เสมือนคุณหมอที่จะบอกอุณหภูมิขององค์กร (sense temperature on workforce engagement)

และแนะนำได้ว่าควรจะต้องทำอะไร อย่างไร

ดังนั้น HR เองจึงควรมีความสามารถในการวิเคราะห์พลังขององค์กร หรือก็คือพนักงาน

ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็ควรนำข้อมูลจาก HR มาใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้นำในองค์กรทุกระดับทำตัวเสมือนเป็น HR Manager

การใส่ใจพนักงานจะช่วยสร้าง engagement และเหนี่ยวนำวัฒนธรรมองค์กรที่ดี

ผู้นำในองค์กรทุกระดับจะต้องทำตัวเสมือนเป็น HR Manager

คือ รู้จักและเข้าใจในตัวพนักงาน

ซึ่งก็คือการเข้าใจในขุมพลังทั้งหมดที่องค์กรมีอยู่ เพื่อจะได้จัดสรรหน้าที่ และดูแลพนักงานได้อย่างเหมาะสม

ในขณะเดียวกัน ส่วนของพนักงานเอง ควรยึดถือค่านิยมองค์กร มีความรู้สึกผูกพันกับองค์กรเหมือนเป็นบ้าน

ที่สำคัญที่สุด นอกจากพนักงานจะต้องเป็นคนเก่ง ดี รับผิดชอบ ผมเชื่อว่าผู้นำองค์กรทุกคนก็อยากให้พนักงานมีความตั้งใจทำงานด้วย passion เปิดใจโดยใช้ปัญญาและเหตุผล และมีความจริงใจ เพื่อสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือ

และนำไปสู่การทำงานทำหน้าที่เป็นเสมือน Ambassador ขององค์กร

การทำงานอย่างปลอดภัยในทุกๆ วัน

มีความหมาย

ผมขอ “ขอบคุณ” เพื่อนๆ พนักงานทุกคนที่ใส่ใจดูแลตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ทั้งการรักษากฎระเบียบเพื่อความปลอดภัย ทั้งการคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งตนเองและส่วนรวม

ทำให้เราสามารถออกไปดูแลสังคมได้ตามพันธกิจของกลุ่ม ปตท.

ผมเชื่อว่าการทำงานอย่างปลอดภัยในทุกๆ วันมีความหมาย

เพราะเรามีคนที่รักเรารออยู่ที่บ้าน

ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานทุกคนจึงเป็นที่สำคัญที่สุดสำหรับผมในฐานะผู้นำองค์กร

5T

แนวปฏิบัติ 5T เพื่อความปลอดภัย คือ

THINK คำนึงถึงความเสี่ยง

TALK พูดให้ตระหนักรู้

TOUR ตรวจตราให้เห็นจริง

TEACH แนะนำให้แนวทาง

TRUST เชื่อมั่นกันและกัน