วิเคราะห์ : ข่าวร้อน-ทุกพรรคคึก ‘เพื่อไทย’ พลิกเกมสู้ จัดพรรคชิงปาร์ตี้ลิสต์

ข่าวร้อน-ทุกพรรคคึก‘เพื่อไทย’ พลิกเกมสู้จัดพรรคชิงปาร์ตี้ลิสต์

ข่าวการเมืองร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเรื่อยๆ

เพราะกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง บังคับใช้เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลประมาณต้นเดือนธันวาคม

หลังจากนั้นจะต้องมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรยๆ มาตลอดว่า จะเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

แม้ว่าล่าสุด นายกฯ ไปยุโรป และกล่าวกับผู้นำนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ว่า จะเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 อย่างช้าไม่เกินพฤษภาคม 2562

ทำเอาเกิดแรงกระเพื่อม เพราะที่ผ่านมา มีการเลื่อนเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง และไม่เคยมีใครให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีเป็นครั้งที่ 6

แต่ไม่ทำให้ความร้อนแรงของข่าวเลือกตั้งลดลง

ฝุ่นการเมืองยังฟุ้งตลบ อีกส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ กกต.เดินหน้าเตรียมจัดเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญให้มี 250 คน

โดยเปิดรับลงทะเบียนองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่จะส่งผู้สมัครลงชิง ส.ว. โดยให้เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพที่สมัคร จากระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ แล้วนำเอารายชื่อที่ได้ 200 ชื่อไปให้ คสช.จิ้มเอา 50 คน

ส่วนอีก 200 ชื่อ ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหา เฟ้นให้ได้ 400 คน แล้ว คสช.เลือกเหลือ 194 คน อีก 6 คน ได้แก่ ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. ผบ.ทร. และ ผบ.ตร. ให้เป็นโดยตำแหน่ง

ในเรื่องของ 250 ส.ว. ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะ ส.ว.ชุดเริ่มแรกนี้ มีวาระ 5 ปี เป็นรายการพิเศษเพื่อภารกิจพิเศษ และหลังจากชุดนี้หมดไป จะมีวาระ 4 ปี ตามบทบัญญัติปกติในรัฐธรรมนูญ 2560

ภารกิจพิเศษของ 250 ส.ว. คือจะเป็น “ต้นทุน” ในกระเป๋าของ “นายกฯ” ที่ คสช.ส่งเข้าประกวดในนามพรรคพลังประชารัฐ

บทเฉพาะกาลกำหนดให้ 250 ส.ว.ชุดพิเศษ 5 ปี มีส่วนในกระบวนการเลือกนายกฯ ต่างจากบทบัญญัติปกติให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.

ดังนั้น นายกฯ จากพรรคที่ 250 ส.ว.ให้การสนับสนุน จะเดินเข้าสู่ทำเนียบไม่ยากเท่าไหร่ เพราะหา ส.ส.อีก 126 คน ก็จะได้ครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส. บวก ส.ว. รวม 750 คน โดยไม่จำเป็นต้องได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา

ส่วนถ้าได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาลด้วยสูตรนี้ แล้วจะอยู่เป็นรัฐบาลได้นานเท่าไหร่ เป็นปัญหาต้องไปดูกันต่อไป

 

ส่วนสนามเลือกตั้ง ส.ส. ตอนนี้ความคึกคักไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากกลุ่มนักกฎหมายนิติราษฎร์

อนาคตใหม่เดินสายไปทั่วประเทศ ทำกิจกรรมรับสมาชิก และอื่นๆ ในประเทศอย่างคึกคัก ผสมกับกิจกรรมในต่างประเทศ การขึ้นเวทีแสดงความคิดความเห็นโชว์ความเป็นคนรุ่นใหม่เต็มที่ และใช้โซเชียลมีเดียกระจายแนวคิด ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างท่วมท้น

โพลสำรวจความเห็นประชาชนหลายสำนัก ระบุว่า อนาคตใหม่เป็นที่รู้จักของประชาชนกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ และมีเสียงสนับสนุนนายธนาธรที่ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ มากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอันดับใกล้เคียงกับอดีตนายกฯ หลายคน

ความเคลื่อนไหวเด่นๆ อื่นๆ ได้แก่ การออกหาเสียงของ 4 รมต.แห่งพรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค

ปัญหาของพลังประชารัฐ คือถูกกล่าวหาว่า จะนำเอาเวลาราชการไปหาเสียง ทำให้ 4 รมต.ระวังตัวแจ

แต่ในฐานะพรรคที่มี คสช.เป็นแบ๊กอัพ ทำให้มีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย

อีกพรรคที่มีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

แคนดิเดตมาแรงสุด ยังเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แกนนำพรรคหนุนกันสุดตัว ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มีนายถาวร เสนเนียม แกนนำในสายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส. ยังหืดขึ้นคอ

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ต้นตำรับปฏิรูปพรรค ปชป. จนต้องออกจากพรรคไปรับงานแม่น้ำ 5 สาย ย้อนกลับมาสมัครแข่งเที่ยวนี้ สายตาจากชาวพรรคที่มองมาเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว

โอกาสน่าจะเป็นของนายอภิสิทธิ์ แต่มองไปนอกพรรค การเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ น่าจะยาก โดยเฉพาะในกลุ่มของพรรคเพื่อไทย

หนทางไปต่อของนายอภิสิทธิ์อาจต้องไปพิจารณาเทียบเชิญจากพรรค คสช. แต่ในระหว่างหาเสียง ก็ต้องโชว์จุดยืนให้เข้าตาประชาชนไว้ก่อน

 

พรรคที่เป็นข่าวใหญ่ได้ตลอด คือพรรคเพื่อไทย เพราะอยู่ในกระแสอาจโดนยุบพรรค จากการอภิปรายชำแหละ คสช. ที่ตอนนี้ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการแล้ว

และจากข้อหา “โดนครอบงำ” เพราะมีแกนนำบินไปพบนายทักษิณ ชินวัตร บ่อยๆ และนายทักษิณยังกล่าวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยบ่อยๆ

ที่สำคัญคือ กติกาในรัฐธรรมนูญ ออกแบบให้ใช้บัตรใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ไปพร้อมกัน ทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตยิ่งมาก โอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ยิ่งน้อย

เพื่อป้องกันและรับมือการโดนยุบ และแก้เกมที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย หลังจากที่ได้มากทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์มาโดยตลอด

ทำให้มีอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย แยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ อาทิ เพื่อธรรม เพื่อชาติ และล่าสุด คือไทยรักษาชาติ ชื่อย่อว่า ทษช. ที่ฟังดูเหมือนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”

โดยจะให้ผู้สมัคร ส.ส.เขต และอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลงคนละพรรค

ส่วนจะใช้พรรคไหนรองรับ ส.ส.เขต พรรคไหนรองรับปาร์ตี้ลิสต์ ยังถกเถียงกันอยู่

ด้วยแนวทางนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ประกาศความมั่นใจว่า อาจจะได้ ส.ส.เข้ามาถึง 300 คน

ร้อนถึงบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องออกมาสั่งการให้ กกต.ไปตรวจสอบว่าเข้าข่าย “ครอบงำ” พรรคใดหรือไม่

แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งพรรคสำรอง จะเข้าข่ายเป็นนอมินีกันหรือไม่ว่า ภาษากฎหมายก็คือพรรคการเมือง ไม่ได้เรียกว่าพรรคสำรอง ไม่ถือว่าผิด

เพราะระบบการเลือกตั้งใหม่ การนับคะแนนจะต่างออกไปจากอดีต เนื่องจากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เขตแบบท่วมท้น จะไม่นำคะแนนมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคการเมืองจึงมีการกระจายไปตั้งพรรคเพิ่ม ซึ่งถือเป็นกระบวนการทางการเมืองปกติ มีมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่สมัยนี้อาจชัดเจนมาก เพราะพรรคการเมืองต้องการเก็บทุกคะแนน

ท่ามกลางความคึกคักที่ประเทศจะกลับเข้าสู่ระบบปกติ ยังต้องจับตาว่า ในรอบนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคเพื่อไทย ที่พยายามต่อสู้ในกติกาของแม่น้ำ 5 สาย จนกระทั่งฝ่ายอำนาจเริ่มไม่มั่นใจ