“วินทร์ เลียววาริณ”ชี้ ชาวมะกันอยากย้ายประเทศไม่แปลก อยู่ระบอบไหนก็ต้องรับกติกานั้น

(10 พ.ย.) “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนรางวัลซีไรต์ เจ้าของหนังสือ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีมีชาวอเมริกันบางส่วนประกาศย้ายออกจากประเทศ เนื่องจากรับไม่ได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า

ทุกครั้งหลังประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา มักมีข่าวชาวอเมริกันส่วนหนึ่งยื่นความจำนงขอย้ายประเทศ ไม่ไปแคนาดา ก็ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือนิวซีแลนด์ บ้างว่าทนเห็นหน้าประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ได้ บ้างก็เพราะรับไม่ได้กับนโยบายของผู้นำคนใหม่ บ้างบอกว่าไม่รู้จะอธิบายลูกหลานได้อย่างไรว่า ทำไมคนโกหกตอแหล ลวนลามผู้หญิง จึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ฯลฯ

ย้ายประเทศ! แปลกหรือ? ไม่แปลก

คุณอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง คุณชอบต้นไม้ แต่ลูกบ้านที่เหลือทุกหลังไม่ชอบ และมีมติให้ตัดต้นไม้ทั้งหมดในหมู่บ้าน เพราะรำคาญตากับใบไม้ร่วงบนพื้น และไม่อยากจ่ายค่าคนงานกวาดใบไม้ร่วง คุณก็สามารถย้ายบ้านไปอยู่ในหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่รักต้นไม้

ดังนั้น จึงไม่แปลกหากไม่ชอบนโยบายใหม่ของผู้นำใหม่ ก็สามารถย้ายประเทศได้

ผลการเลือกตั้งผู้นำของประเทศหนึ่งๆ ในระบอบประชาธิปไตยคือ นับที่เสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าเจ้าของเสียงจะไร้วิสัยทัศน์ โง่เขลาเบาปัญญาเพียงไร ก็นับเป็นหนึ่งเสียง ถูกต้องตามกฎหมายและกติกา

อนาคตของประเทศหนึ่งๆ จึงขึ้นกับเสียงส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ตามหลัก ‘อิทัปปัจจยตา’ ส่งผลให้เป็น ‘กรรมรวม’ ของประเทศนั้น

‘กรรมรวม’ หมายถึงผลรวมของระบบการศึกษา ความเชื่อ นิสัย โลกทรรศน์ ฯลฯ ของประชาชนทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดกำหนดผลการเลือกตั้งและอนาคตของประเทศ และบางครั้งเช่นในกรณีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ กลายเป็นผลกระทบทั้งโลก

อยู่ในระบอบนี้ก็ต้องยอมรับกติกานี้ และยอมรับผลการเลือกตั้ง

ถ้าไม่พอใจจนอัดอั้นตันใจสุดทน ก็ย้ายบ้าน

สำหรับบ้านเรา ก็อย่าถึงขั้นย้ายประเทศเลยนะ มีปัญหาก็คุยกัน ช่วยกันแก้ คนละนิดคนละหน่อย และพยายามพัฒนาตัวเองให้ฉลาดขึ้น

เราสร้างกรรมรวมได้ แต่กรรมรวมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องร้ายเสมอไป มันเป็นเรื่องดีก็ได้