เกษียร เตชะพีระ : เราจะเอาสถาบันอำนาจที่เป็นอิสระของชาวบ้านไปทำอะไร?

เกษียร เตชะพีระ

ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ (จบ)

เราจะเอาสถาบันอำนาจที่เป็นอิสระของชาวบ้านไปทำอะไร?

ถ้าหากเราเห็นพ้องต้องกันว่าเครื่องมือสำคัญในการทำให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนในเมืองไทยก็คือสถาบันอำนาจของชาวบ้านที่เป็นอิสระจากรัฐราชการและทุนเอกชนแล้ว คำถามถัดไปก็คือ แล้วเราจะเอาสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านเหล่านี้ไปทำอะไร?

คำตอบกว้างๆ ก็คือ เอาไปเป็นกำลังเป็นเครื่องมือต่อสู้พิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของชาวบ้านในระบอบประชาธิปไตย

แต่ถ้าเราจะต้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยยึดโยงสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านเราเข้ากับคู่แข่งอำนาจในระบอบการเมืองไทยปัจจุบันแล้ว คำตอบก็น่าจะเป็นว่า เราต้องเอาสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านเราไป…

เบียดขับรัฐราชการ ชิงที่มั่นจากทุนเอกชน

“เบียดขับรัฐราชการ ชิงที่มั่นจากทุนเอกชน” ฟังดูดุเดือดดี แต่แปลว่าอะไร? แปลว่า เบียดขับรัฐราชการให้ตกขวานทองไปหรือ?

เปล่า มิได้หมายความเช่นนั้น คำว่าเบียดขับรัฐราชการหมายถึงเบียดขับอำนาจของรัฐราชการออกจากที่มั่นทางการเมือง แล้วรีบเข้าช่วงชิงอำนาจเหนือที่มั่นนั้นเสียก่อน หรือแข่งกับฝ่ายทุนเอกชน

ที่มั่นทางการเมืองดังกล่าว พูดให้เป็นรูปธรรมก็คือ บรรดาศูนย์อำนาจในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายและควบคุมบริหาร กลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจ และสื่อสารมวลชน

ศูนย์อำนาจเหล่านี้ในปัจจุบันตกอยู่กับระบบราชการเป็นสำคัญ บ้างก็แบ่งหุ้นส่วนให้ทุนเอกชนเข้ามาปันอำนาจบ้าง ไม่ว่าจะเป็น กรอ. กบว. สภาพัฒน์ ฯลฯ

แต่ที่ไม่มีแน่ๆ คือยังไม่มีชาวบ้านที่นอกรัฐนอกทุนกลุ่มใดหรือสถาบันใดได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปมีส่วนวางนโยบาย ควบคุมหรือบริหารจัดการกลไก ปัจจัยและสื่อสารเหล่านี้

เข็มมุ่งจุดหมายของสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านเราในปัจจุบันจึงอยู่ที่การขอเข้าไปมีหุ้นส่วนอำนาจ ณ ที่มั่นทางการเมืองดังกล่าว

เราต้องไม่ลืมว่าทุนเอกชนก็กำลังพยายามชิงที่มั่นเหล่านี้จากระบบราชการอยู่ ดังนั้น เพียงแค่เบียดขับรัฐราชการออกจากที่มั่นทางการเมืองเหล่านี้ยังไม่พอ เพราะมันอาจเข้าเกมของฝ่ายทุนเอกชนที่จ้องจะตะครุบศูนย์อำนาจเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เลยเป็นการ “ตีงูให้กากิน” หรือ “เอากระดูกแขวนคอ” ไป

เรายังต้องมีดาบสองชิงที่มั่นนั้นๆ จากฝ่ายทุนเอกชนด้วย เพื่อที่จะเอามาให้สถาบัน อำนาจอิสระของชาวบ้านเรากำหนดนโยบาย บริหารและควบคุมเองบ้าง

สรุปก็คือ เราต้องใช้สถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านไปเบียดขับรัฐราชการออกจากศูนย์อำนาจที่วางนโยบาย บริหารและควบคุมกลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชน

เบียดขับรัฐราชการออกไปไม่ใช่เพื่อให้ทุนเอกชนชุบมือเปิบเข้ามาแทนที่

แต่เพื่อเราจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมใช้อำนาจ ณ ที่มั่น ณ ศูนย์อำนาจเหล่านั้นเสียเอง

เช่นนี้จึงจะเป็นการทำให้กลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ซึ่งแปลเป็นรูปธรรมว่า ให้สถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านมีส่วนร่วมทางนโยบาย ควบคุมและบริหารกลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนเหล่านั้นโดยตรงเช่นนี้ ประชาธิปไตยจึงจะหลุดจากมือรัฐราชการและทุนเอกชน แล้วตกเป็นของประชาชน

เราควรจะนิยามและใช้ประชาธิปไตยกันอย่างไร?

อำนาจในการใช้ประชาธิปไตยของกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ว่าพวกเขานิยามประชาธิปไตยกันอย่างไร?

การชิงเอาประชาธิปไตยจากรัฐราชการและทุนเอกชนมาให้ชาวบ้านเราใช้กันเอง จึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่การนิยามการเมืองและประชาธิปไตยกันใหม่หมดแบบชาวบ้านเราเองด้วย

นิยามเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการนิยามกำหนดความคิด ความเชื่อ ความชอบธรรมและการปฏิบัติ

การชิงประชาธิปไตยมาเป็นของชาวบ้านจึงต้องเริ่มที่การชิงการนิยามประชาธิปไตยมาเป็นของชาวบ้านเองเป็นจังหวะแรก เช่น

การเมือง = ประชาชนรวมตัวจัดตั้งสถาบันอำนาจอิสระ ต่อสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์ของตนเอง

ประชาชน = คนชั้นล่างส่วนข้างมากของประเทศที่ไม่มีอำนาจรัฐและอำนาจทุน ไม่ได้ควบคุมกลไกการปกครอง ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน พูดภาษาใด ถือศาสนาใด หรือมีคติทางการเมืองอย่างไร

ประชาธิปไตย = อำนาจของประชาชนในการวางนโยบาย ควบคุมและบริหารกลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจ และสื่อสารมวลชน ผ่านสถาบันอำนาจอิสระของตนเอง

ถ้าเราจะเริ่มสร้างสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านกันแต่วันนี้ ก็คงต้องเริ่มที่เราต้องรักกันให้มากๆ จะไปคาดหวังให้คนอื่นที่เป็นราชการหรือนายทุนที่มีผลประโยชน์ต่างจากเรามารักเราเอ็นดูเรายิ่งกว่าพวกเรากันเองคงไม่ได้

คนเราจะรักกันก็ต้องไม่ถือความแตกต่างที่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจะดีจะชั่ว จะซ้ายจะขวา จะไทยจะลาว จะแขกจะจีน เรามันก็ชาวบ้านที่ไม่มีรัฐไม่มีทุนด้วยกัน ถ้าไม่รักกันช่วยกันแล้ว จะไปหวังให้ใครหน้าไหนมารักเราช่วยเราเล่า?

“ระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านเป็นพื้นฐาน”

“จงช่วงชิงสิทธิอำนาจในการนิยามและใช้ประชาธิปไตยมาเป็นของประชาชน”

“อิสระจากรัฐ อิสระจากทุน ควบคุมรัฐ ต่อรองกับทุน”

ทำกลไกการปกครอง ปัจจัยเศรษฐกิจและสื่อสารมวลชนให้เป็นประชาธิปไตย”

“สถาบันอำนาจอิสระของชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมวางนโยบาย ควบคุม บริหารกลไก ปัจจัยและสื่อสารเหล่านี้”

กรกฎาคม พ.ศ.2531