ศึกชิงดำหัวหน้า ปชป. “หมอวรงค์” เจาะฐานเสียง “อภิสิทธิ์” เลียบค่าย “ชวน” ป่าล้อมเมือง ชนบทล้อมกรุง

ปี่กลองการเมืองโหมโรงเป็นศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-คนที่ 8 โดยมี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน เป็น “แชมป์เก่า” มี “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก และ “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีตรองหัวหน้า เป็น “ผู้ท้าชิง”

จากวันที่ “หมอวรงค์” ตัดสินใจต่อกรกับนายอภิสิทธิ์-ฟอร์มทีมกลุ่ม “เพื่อนหมอวรงค์” ราว 9 เดือนเต็ม โดยการเดินเกมด้วยความ “เงียบที่สุด” ก่อนจะเปิดตัวเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดย “สมบัติ ยะสินธุ์” อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน เป็นกองหนุน

“ถ้าเป็นอย่างนี้พรรคไปไม่ไหวนะ ถ้าเรายังอยู่อย่างนี้ก็แย่ อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือหนักเลย เขาถามผมว่ากล้าไหม ถ้ากล้าเขาจะเดินต่อ สุดท้ายก็เดินมาจนเป็นรูปเป็นร่างในชื่อกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์”

“ก่อนเปิดตัว 7-8 เดือน ฟอร์มทีมมาตลอด แต่ผมต้องเงียบที่สุด นิ่งอย่างเดียว ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไร จะไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะกลองต้องให้คนอื่นตี จนมาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม”

“หมอวรงค์” ในฐานะผู้ท้าชิง-เบอร์ 2 “เปิดตัว” ที่จังหวัดพิษณุโลก-บ้านเกิดทางการเมืองของ “หมอวรงค์” โดยอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย-สัญลักษณ์ของการเข้ามา “กอบกู้วิกฤต” ทั้งวิกฤตจากสภาพเลือดไหลออก-แพ้เลือกตั้ง สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำ

“พี่น้องชาวพิษณุโลกตื่นเต้นเพราะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาไม่เคยมีผู้แทนฯ ของภาคเหนือเสนอตัวเพื่อช่วงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์”

ไม่ต่างกับชาวสุโขทัย-บ้านเกิดของหมอวรงค์ “ดีใจระคนตื่นเต้น” ที่เห็น “คนบ้านเรา” ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การเดินสาย-เลี้ยงกระแสของ “หมอวรงค์” แฝงไว้ด้วยกลยุทธ์-ยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับการปักหมุดในพื้นที่ภาคใต้-อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

“เหตุผลสำคัญคือ บ้านท่านถาวร (เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา) อยู่ที่นั่น พูดง่ายๆ คือ ว่าที่เลขาฯ จึงถือโอกาสให้พี่น้องชาวสงขลาได้รับทราบว่า ถ้าผมได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค คนสงขลาจะได้เป็นเลขาธิการพรรค”

“ยอมรับว่า ภาคใต้ สมาชิกที่เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์เยอะมาก จะเป็นภาคที่ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน เพราะฉะนั้น ช่วงโค้ง 7 วันสุดท้าย ต้องเก็บคะแนน เราจะเดินอีกแบบหนึ่ง”

“เราจะใช้ชนบทล้อมเมือง ป่าล้อมเมือง ต้องสร้างกระแสในต่างจังหวัดก่อนและค่อยมาจบที่กรุงเทพฯ ต่อจากนั้นจะเดินอีกแบบหนึ่ง”

“ต้องไปย้ำ เวลาจะเก็บคะแนนต้องลงไปย้ำ พื้นที่ไหนที่เคยไปแล้วต้องไปซ้ำได้ ภาคใต้ต้องไปซ้ำแน่นอนเพราะเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์เยอะ ถึงแม้ว่าจะเป็นรองแต่สูสี”

“หมอวรงค์” เลี่ยงที่จะตอบคำถามว่า กรุงเทพฯ และภาคใต้-ฐานเสียงของนายอภิสิทธิ์และนายชวน เป็นพื้นที่ที่ “เจาะยาก” ที่สุด แต่เขาตั้งใจชี้เป้าไปยังระบบ-แท็กติกที่เป็นอุปสรรคของการเข้าใกล้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 8

“(นิ่งคิด) เรื่องระบบ เป็นระบบที่ใหม่มาก ถ้าจัดเหมือนการเลือกตั้งมันง่าย เพียงเดินไปคูหาแล้วกากบาท แต่ครั้งนี้ต้องลงสมัครสมาชิกก่อนและต้องยอมรับว่ายุ่งยากเล็กน้อย เมื่อถึงวันโหวตหยั่งเสียงยังต้องใช้ Application จึงเป็นข้อกังวลใจ”

“การสมัครสมาชิกยากมาก ทุกทีคนสมัครสมาชิกพรรคก็เอาหลักฐานมาและเอาเงินมา แต่ครั้งนี้เงินสดไม่รับ ต้องไปโอนเงินจากบัญชีที่มีชื่อเราด้วย แต่ไม่เป็นไร เพราะเราเคารพทุกกติกา”

“ฟิวส์คือ เขาประเมินกันว่าคนที่มาสมัครใหม่เยอะๆ อยากจะมาเลือกผม อารมณ์คนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะคนที่เชียร์หัวหน้า (อภิสิทธิ์) คงจะสมัครไปแล้ว แต่การสมัครอาจจะยากเล็กน้อย” เขาวิเคราะห์กติกาที่ออกมาว่าจะส่งผลต่อคะแนนที่จะเลือกเบอร์ 2 เป็นกอบเป็นกำ

นอกจากระบบที่ไม่เอื้อต่อ “ผู้ท้าชิง” แล้ว เขายังตัดพ้อ “คนในพรรค” ที่เป็นเพียง “กองหนุน” ไม่ออกหน้า-ออกตา

“แน่นอน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก เริ่มต้นจากคนกล้าไม่กี่คน ครั้งนี้เปิดตัวออกมา 10 คนและยังมีอีกเยอะที่ยังไม่ออกมา เราเห็นใจ บางคนเชียร์นะแต่เอาไว้ก่อน ทุกองค์กรที่มีประเด็นการเปลี่ยนแปลง คนออกหน้าต้องกล้า”

“ถ้าถามตามอารมณ์ของคนก่อนที่จะมีการแข่งขัน ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เพราะการอยู่กันเป็นองค์กร เกิดการเกรงใจ นับถือกัน ผู้ใหญ่บ้าง เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเซฟตัวเอง”

ยังไม่นับ “กองหนุน” ของนายอภิสิทธิ์ ทั้งนายชวน-นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

“ท่านชวนเป็นผู้ใหญ่ของทุกฝ่าย วางตัวเป็นกลาง เป็นปูชนียบุคคลของพรรคที่ให้คำแนะนำทุกฝ่ายและให้ความนับถือ ในเกมเราก็สู้กันเอง ในกติกาที่กำหนดไว้ สวยงาม สร้างสรรค์ หลีกเลี่ยง Negative การเมืองที่เป็นการต่อว่า ให้ร้ายกัน ผมสู้ทุกกติกา ผลจะออกมาอย่างไรไม่ว่ากัน”

“อภิสิทธิ์” ชูเรื่อง “เสรีนิยมประชาธิปไตย” “อลงกรณ์” ชู 4 ปฏิรูป 5 กฎเหล็ก 6 ยุทธศาสตร์ “หมอวรงค์” จะชู “ปราบโกง” เพื่อสร้างประเทศชั้นนำของโลก เพราะการปราบการทุจริตเปรียบเสมือนเป็นร่มใหญ่

เพราะนายอภิสิทธิ์-แชมป์เก่าครองตำแหน่งยาวนาน 13 ปี “หมอวรงค์” จึงถูกเปรียบเป็น “มวยรอง”

“เราต้องขยันมากขึ้น แต่นิสัยคนไทยชอบเชียร์มวยรองที่ขยัน เชื่อว่าถ้ารักษาโมเมนตัมได้เราจะชนะ เพราะมวยรองที่ขยันถูกใจคนดู ชีวิตนักมวยบนเวทีมันชนะ-แพ้ ที่คู่ต่อสู้ชนะน็อกกันด้วยกรรมการ 3 คน หรือ 4 คน แต่การเมือง ถ้าเปรียบเป็นมวย ชนะหรือแพ้ อยู่ที่ประชาชน”

ทว่าลึกๆ แล้ว “หมอวรงค์” ยังมั่นใจบวกกับเซนส์ว่าจะชนะ ถึงแม้ว่าเขาจะยอมรับว่าประสบการณ์น้อยกว่านายอภิสิทธิ์

“ท่านหัวหน้าเป็น ส.ส.ปี 2535 เป็นหัวหน้าพรรคปี 2548 อายุการเมือง 13 ปี ผมเป็น ส.ส.ปี 2548 มาชิงหัวหน้าพรรคปี 2561 อายุการเมือง 13 ปี แต่ผมเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตจริง ในการทำงานทุ่มเทกับคนยากไร้ ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์ในการต่อสู้ ผมเชื่อว่าผมเหนือกว่า”

“ถ้าแฟร์ต่อกัน นับกันปอนด์ต่อปอนด์ วันที่ผมชิงหัวหน้าพรรคกับวันที่หัวหน้า (อภิสิทธิ์) เป็นหัวหน้าพรรค เทียบกันผมเหนือกว่า และ 13 ปีที่ผ่านมา Preferment หรือผลประกอบการของพรรคไม่ดี”

“ผมจึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและผมเชื่อว่าผมเกิดมา ภาษาวัยรุ่นคือ ใช่ ใช่เลยที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ ขอเพียงโอกาสผมจะนำพาพรรคไปได้ ผมคิดว่าหัวหน้า (อภิสิทธิ์) ยังไม่ใช่”

“หมอวรงค์” วางความมุ่งมั่น-ตั้งใจลงก่อนจะทิ้งท้ายอนาคตทางการเมืองหลังรู้ผลแพ้-ชนะการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค

“ถ้าวันที่เราแพ้เราจะแสดง Spirit ประกาศไม่ต้องเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่โหวตอีกรอบในวันที่ 11 พฤศจิกายน ผมจะประกาศถอนตัวและจะแถลงข่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้ชนะและอยู่ช่วยงานกับพรรคต่อไป”