การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (1)

การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (1)

ครูที่พึงประสงค์

ครูที่จะต้องเป็นครูทุกขณะจิต

ต้องรู้โลกชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง

ต้องมีปฏิภาณโวหารแสดง

ต้องเป็นแหล่งก้าวหน้าวิชาการ

ต้องสอนคนมากกว่าสอนหนังสือ

ไม่เพียงถือชอล์กปากกาพาเขียนอ่าน

ต้องอุทิศชีวิตจิตวิญญาณ

ให้แก่งานปลูกฝังในทางดี

ครูเป็นที่รัก-เคารพ และยกย่อง

ครูจะต้องตระหนักในศักดิ์ศรี

มีหลักการ เหตุผล กลวิธี

ครูต้องมี ความอดทนสร้างผลงาน

ครูต้องมี ทั้งความดี และความเก่ง

ครูต้องเคร่งจริยะมาตรฐาน

เป็นประทีป เจิดจรัส ชัชวาล

ส่องนำจิตวิญญาณของปวงชน

(เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

ผมต้องเขียนตามกรอบที่ท่านเจ้าคุณเมธีธรรมมาภรณ์กำหนดไว้เหมือนกับท่านปรุงอาหารเสร็จแล้วยกมาวางไว้ตรงหน้า แล้วให้ผมบอกว่าอาหารที่ปรุงมีอะไรบ้าง

ผมคงบอกได้เฉพาะที่ดูออก ซึ่งกรอบความคิดและวิธีการอธิบายคงจะไม่เหมือนกัน แต่โดยหลักใหญ่แล้วเหมือนกัน คือ การศึกษาหลักพุทธธรรมเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหาร

การเป็นผู้บริหารตามกรอบที่วางไว้นั้น ท่านอธิบายได้ชัดเจนในที่นี้จะขอเรียนเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ในกรอบของสังคหวัตถุ และพละธรรม 4

หลักการใหญ่ที่นำมาใช้ในการบริหารนั้น คือ ความรู้ความขยันหมั่นเพียร การทำงานไม่มีโทษและการรู้จักสงเคราะห์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่เรียกว่ามนุษยสัมพันธ์

หลักการเหล่านี้เข้ากับพุทธศาสนาซึ่งเน้นที่ปัญญา คือ ต้องรู้ต้องเข้าใจความรู้เป็นความรู้ระดับไหน ความเข้าใจเป็นความเข้าใจเรื่องอะไร นี้เป็นเรื่องใหญ่

ถ้าหากไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว การกระทำก็จะผิดเป้าหมาย วัตถุประสงค์และอาจจะทำให้ไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางได้

ส่วนอริยสัจ 4 ก็สอนเรื่อง ปัญญา เราสามารถนำหลักอริยสัจ 4 มาประยุกต์ใช้กับการบริหารได้

เพราะฉะนั้น การจะเป็นผู้นำให้ได้ดีนั้นควรเน้นที่ตัวปัญญา นั่นคือต้องสอนให้รู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต

บทบาทของปัญญา

บทบาทที่เด่นชัดของปัญญาคือ ต้องรู้สาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร

แต่ในพระพุทธศาสนาจะพูดเฉพาะเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพูดถึงปัจจัยด้วย

คือปัญหาต่างๆ มาจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง มีวิธีแก้หรือไม่ และวิธีแก้ต้องลงมือทำอย่างไร ทั้งหมดนี้ต้องใช้ปัญญาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การใช้ปัญญาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องลงมือกระทำอย่างต่อเนื่องด้วย

นั่นคือ ต้องประกอบด้วยวิริยะ ซึ่งตรงตามกรอบที่วางเอาไว้ เช่น เมื่อเรารู้แล้วกระทำ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ต่อเนื่องก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ปัญญาและวิริยะต้องควบคู่กัน

ผมได้อ่านประวัติบุคคลสำคัญท่านหนึ่งคือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ท่านพูดว่าในบรรดาคนขยันที่สุดในโลกนั้นถ้ามี 10 คน ท่านขอเป็นคนหนึ่งในสิบคนนั้นด้วย และต้องเป็นคนขยันที่สุดในสิบคนนั้น

ท่านกล้ายืนยันถึงขนาดนั้น

เมื่อได้ศึกษาประวัติของท่านก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านเป็นคนจังหวัดอุทัยธานี ตอนเป็นเด็กพูดติดอ่าง ต่อมาได้หายขาด

ท่านเป็นนักพูดที่เก่งมาก ท่านบอกว่า ท่านฝึกโดยการกระโดดลงน้ำ ตะโกนในน้ำทุกวันเป็นเดือน อาการติดอ่างก็หายขาด

เมื่อบวชเป็นสามเณรมีความขยันในการศึกษาเล่าเรียนมาก

สมเด็จวัดมหาธาตุห้ามเรียนภาษาอื่นนอกจากภาษาบาลี ในสมัยนั้นคนชั้นสูงนิยมเรียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ท่านอยากจะเรียนภาษาอังกฤษด้วย การจะเรียนอะไรหรือเอาหนังสืออะไรมาอ่านนั้น ต้องซุกซ่อน เพราะสมเด็จวัดมหาธาตุจะเดินตรวจทุก 3 ชั่วโมง

เมื่อลาสิกขาออกไปได้ทำงานในสถานทูต ได้มีโอกาสไปประเทศอังกฤษก็พยายามเรียนภาษาอังกฤษจนแตกฉาน

เมื่อไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ก็เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสจนเป็นผู้เชี่ยวชาญและได้เรียนจิตวิทยา

ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพลตรี ซึ่งเป็นพลเรือนเป็นคนแรกที่ได้ยศถึงระดับนายพล ได้ช่วยงานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนประสบผลสำเร็จ

อันนี้แสดงให้เห็นว่าความขยันต้องควบคู่กับธรรมข้ออื่นๆ ด้วย พระพุทธเจ้าจะแสดงหลักธรรมไว้เป็นชุดๆ ต้องเป็นองค์ธรรม

สําหรับหลักสูตรการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการ มักจะนำธรรมมาเป็นข้อๆ เช่น มัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนเรื่องพระพุทธ มัธยมศึกษาปีที่ 5 เรียนเรื่องพระธรรม และมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรียนเรื่องพระสงฆ์

ซึ่งเป็นอันตรายมากเพราะเด็กมองไม่เห็นภาพรวมความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

ซึ่งพระพุทธเจ้าจะไม่แสดงแบบนั้น แต่จะแสดงธรรมเป็นชุดเพื่อเสริมซึ่งกันและกัน

ตัวอย่าง เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นเรื่องของใจ เน้นที่ใจ แต่มีพฤติกรรมอยู่ในนั้น มันต้องไปด้วยกัน เมตตา เป็นความคิด ปรารถนาดีรักใคร่ เป็นความรู้สึกภายในจิตใจ แต่เมตตานั้นแสดงออกทางกรุณา

เพราะฉะนั้น เมตตาจะต่างจากรุณา เมตตาเป็นพื้นฐานให้เกิดกรุณา สำหรับกรุณาคือตัวที่เคลื่อนไหวออกมาเป็นพฤติกรรม ความปรารถนาดี และความหวังดีต่อคนอื่น มันเป็นเพียงความรู้สึกไม่ใช่กรุณา

กรุณาจะต้องมาช่วยเหลือซึ่งแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างในพุทธคุณ 3 กล่าวถึงแต่กรุณาคุณ ไม่กล่าวถึงเมตตาคุณ ความจริงก็รวมเมตตาอยู่ในนั้นแล้ว เมตตากรุณาหากนำไปใช้ผิดขอบเขต ใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้วก็จะมีโทษเหมือนกัน

ความเมตตา กรุณา และมุทิตาต้องมีความเสมอภาค ส่วนอุเบกขาจะต้องเป็นตัวควบคุมความสมดุล

ตัวอย่าง สมมติว่าท่านมีลูกสาว 3 คน แต่มีความเมตตา กรุณา และมุทิตา กับลูกสาวคนโตมากที่สุด

เมื่อ 3 คนสอบได้ไปชมเฉพาะลูกสาวคนโต อีก 2 คนท่านก็เฉยๆ

หรือเมื่อทั้ง 3 คนทำความผิดเหมือนๆ กัน กลับลงโทษเฉพาะคนที่ 2 และ 3

ถ้าหากเป็นอย่างนี้เรียกว่า มีเมตตา กรุณา และมุทิตาไม่เสมอภาค เพราะขาดตัวสุดท้ายคืออุเบกขาเป็นตัวคุม

ดังนั้น อุเบกขาก็คือ ความยุติธรรม ความเป็นกลาง คนที่ทำตัวเป็นกลางได้ต้องมีจิตใจเป็นพรหม เรียกว่า พรหมวิหาร

คำว่า “พรหม” แปลว่า เป็นผู้ประเสริฐหรือผู้ใหญ่ก็ได้ การเป็นผู้ใหญ่ต้องทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่จริงๆ คือ ต้องมีความเป็นกลางใช้เมตตากรุณาให้มีขอบเขต

จะเห็นได้ว่าธรรมทั้งหมดข้างต้นนั้นจัดเป็นชุด มาพร้อมๆ กัน เมื่อเราประพฤติธรรม ต้องประพฤติให้ครบทั้งชุดเหมือนกับการรับประทานยา ต้องรับประทานให้ครบทั้งชุดจึงจะได้ผล ซึ่งตรงตามที่พระเมธีธรรมาภรณ์ได้กล่าวไว้แล้ว

ในที่นี้จะขยายธรรมทั้ง 4 คือ ปัญญา วิริยะ อนวัชชะ และสังคหะ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จำเป็นสำหรับนักบริหารหรือผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องวางปัญญาไว้ก่อนเพราะเป็นตัวสำคัญที่สุดซึ่งท่านเจ้าคุณได้กล่าวไว้อย่างละเอียดแล้วว่า เป็นความรู้ระดับธรรมดา ถึงระดับสูง