แพทย์ พิจิตร : ความคิดปฏิริยาจาก “นิธิ” ต่อตำราความคิดทางการเมืองไทย

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน

และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา” ซึ่งคราวที่แล้ว ผมได้คัดข้อความบางตอนของอาจารย์นิธิและได้เปรียบเทียบจุดยืนของอาจารย์นิธิกับนักวิชาการฝรั่งบางคนไป

คราวนี้จะมาเล่าต่อถึงปฏิกิริยาของอาจารย์นิธิที่มีต่อหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย”

 

อาจารย์นิธิได้กล่าวต่อไปว่า “เมื่อผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบลงแล้ว ก็ดูไม่ค่อยมีประโยชน์อันใดที่จะสรรเสริญคุณความดีของหนังสือนี้อีก ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้นและด้วยเหตุผลซึ่งผู้อ่านพึงเห็นได้ชัดเจนอยู่เองจากการอ่าน แต่ในท้ายหนังสือนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะพิจารณาว่า อะไรขาดหายไป และอะไรที่ไม่น่าจะมีอยู่เลย (เน้นโดยผู้เขียน) แม้การพรรณนาถึงผลจากการประเมินคุณค่าของหนังสือเล่มนี้จะหนักไปในด้านข้อบกพร่อง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าหนังสือเล่มนี้ด้อยในคุณวิเศษ ในทางตรงกันข้าม เพราะคุณวิเศษของหนังสือเล่มนี้ต่างหากที่เราต้องสนใจข้อบกพร่องให้มาก ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงข้อบกพร่องของความอัปลักษณ์ แต่มีประโยชน์อย่างมากที่จะพิจารณาข้อบกพร่องของสิ่งสุนทร เพราะนั่นคือสิ่งที่เราจะยึดมาเป็นของเรา”

จากข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ในมุมมองของอาจารย์นิธิ ถ้าใครจะส่งอะไรมาให้วิจารณ์ ท่านก็จะวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา และการวิจารณ์ก็น่าจะวิจารณ์สิ่งที่ผู้แต่งคิดว่าเป็นจุดเด่น เพราะจุดเด่นคือจุดขาย ที่ผู้แต่งก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี และก็อยากจะให้ผู้อ่านเห็นด้วยคล้อยตามผู้เขียนไปด้วย

สิ่งที่ดีที่ว่านี้แหละที่ผู้เขียนควรจะแสวงหาคำวิจารณ์จากผู้รู้ท่านอื่นว่า มันดีจริงไหม? เพื่อให้เกิดความเห็นที่จะมาทัดทานหรือสนับสนุนนอกเหนือจากอัตวิสัยของตัวเราเอง

ที่จริง อาจารย์ชัยอนันต์ย่อมรู้จุดยืนของอาจารย์นิธิในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะจากบทความวิชาการของอาจารย์นิธิตั้งแต่ พ.ศ.2509 เป็นต้นมาจนถึงก่อนที่อาจารย์ชัยอนันต์จะพิมพ์หนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ก็น่าจะเป็นที่ประจักษ์ดี

แต่ก็น่าจะด้วยความที่อาจารย์ชัยอนันต์ก็ต้องการได้ความเห็นจริงๆ ตรงไปตรงมาจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่ชื่อ “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

และอาจารย์นิธิก็ให้ใน “สิ่งที่คนรับควรจะได้รับ” ดั่งคำกล่าวตอนหนึ่งใน the Republic ของเพลโตที่ว่า “ความยุติธรรมคือ การพูดความจริง และให้ในสิ่งที่คนคนหนึ่งควรจะได้”

เรามาดูกันต่อไปว่า อาจารย์นิธิวิจารณ์งานของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติอย่างเที่ยงธรรมหรือไม่ แค่ไหน?

 

อาจารย์นิธิเริ่มเข้าสู่การวิจารณ์เนื้อหาของตัวหนังสือ หลังจากที่เกริ่นจุดยืนทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปจากนักรัฐศาสตร์ไปแล้ว (ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปสองตอนที่แล้ว)

อาจารย์นิธิวิเคราะห์โครงสร้างของหนังสือดังนี้คือ “ถ้าความเข้าใจไม่ผิด ทุกบทของหนังสือเล่มนี้ยกเว้นบทที่ 1 ได้เคยถูกพิมพ์มาแล้วในรูปบทความซึ่งแยกเป็นอิสระจากกันโดยเด็ดขาด ผู้เขียนทั้งสองได้พยายามประมวลเนื้อหาของบทความทั้งหมดเหล่านี้เข้าด้วยกันโดยการเขียนบทนำในบทที่ 1 น่าเสียดายที่ความพยายามของผู้เขียนไม่ประสบความสำเร็จมากไปกว่าการอธิบายชื่อหนังสือ ลักษณะที่แยกกันได้โดยอิสระในแต่ละบทก็ยังคงมีอยู่ การขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบทความทั้งหมดทำให้ผู้เขียนไม่สามารถเสนอภาพใหญ่ที่กระจ่างชัดของ “ความคิดทางการเมือง” ของไทยได้ ยิ่งไปกว่านี้ แนวการวิเคราะห์ในแต่ละบท ก็ยังอาจขัดแย้งกันเองได้อีกด้วย (ดังจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างข้างหน้า)”

คำวิจารณ์ส่วนนี้ ผมเห็นว่า สะท้อนจุดยืนของความเป็นนักประวัติศาสตร์ที่จะเน้นให้ความสำคัญกับบริบทเฉพาะของเรื่องหรือตัวบทที่อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัตินำมารวบรวมไว้

เพราะในสายตาของอาจารย์นิธิยังเห็นว่า แต่ละบทยังมีความอิสระแยกจากกันอยู่ ซึ่งความพยายามของนักรัฐศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงร้อยเข้าด้วยกันให้เป็น “ความคิดทางการเมือง” ยังไม่สำเร็จในสายตาของนักประวัติศาสตร์

มิพักต้องพูดถึง “ความเป็นไทย” ด้วยเลย อาจารย์นิธิวิจารณ์อย่างเสียดสีเหน็บแนมว่า ถ้าหนังสือเล่มนี้จะประสบความสำเร็จในการฉายภาพความคิดทางการเมืองไทยก็สำเร็จได้แค่ชื่อหนังสือที่ผู้แต่งตั้งขึ้นมาตามที่อยากจะตั้งขึ้นเท่านั้น

หนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติจะเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิวิจารณ์หรือไม่นั้น ผู้อ่านคงต้องลงหามาพิจารณากันเอาเอง ถือเป็นความเห็นที่สามต่อจากความเห็นที่สองของอาจารย์นิธิ!

แต่ก่อนที่จะหยิบมาอ่านเอง ลองฟังเหตุผลของอาจารย์นิธิต่อไปนะครับ

 

“แม้ว่าผู้เขียนมิได้เสนอภาพใหญ่ของ “ความคิดทางการเมือง” ไทย แต่ผู้เขียนก็มิได้อาศัยแนวการศึกษาประวัติศาสตร์แท้ๆ (เน้นโดยผู้เขียน) ในการศึกษา และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่สู้จะสนใจกับ “เวลา” (ผู้อ่านอาจจะลองกลับไปดูบทความของอาจารย์นิธิที่พูดถึงเรื่องเวลาได้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์” พ.ศ.2509) มากนัก ยกเว้นความเปลี่ยนแปลงบางประการในสมัยสุโขทัยและต้นอยุธยา ทำให้ “ความคิดทางการเมือง” ของไทยตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษนี้หยุดนิ่งกับที่ ในทางประวัติศาสตร์ (เน้นโดยผู้เขียน) แนวคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าสงสัย ความไม่ใส่ใจต่อพัฒนาการเอาเลยเช่นนี้สะท้อนให้เห็นในคำสรรเสริญ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียน… “เขาเป็นบุคคลหนึ่งในจำนวนคนไทยน้อยคนในสมัยนั้นที่ได้ก้าวเข้ามาสู่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในศตวรรษที่ 14 หรือ 15…”

ผู้อ่านคงนึกสงสัยทันทีว่า คนไทยในศตวรรษที่ 16 หรือ 17 หรือ 18 เป็นอย่างไร เขาเหมือนหรือต่างจากคนในศตวรรษที่ 19 หรือ 14 อย่างไร การละเลยเงื่อนไขของเวลานี้ อาจจะดูเป็นเรื่องไม่สำคัญในการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ (เน้นโดยผู้เขียน) (ซึ่งผู้วิจารณ์ไม่มีความรู้) แต่ทำให้อดสงสัยการตีความเอกสารที่ใช้จำนวนมากในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ เพราะความหมายย่อมขึ้นกับกาลเวลาเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังทำให้สงสัยว่า สุนทรภู่มีโลกทัศน์ทางการเมืองละม้ายคล้ายคลึงกับผู้แต่งมหาชาติคำหลวง ถึงเพียงนั้นจริงหรือ ในขณะที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ใน “โลก” ที่แตกต่างอย่างมากไปกว่าผู้แต่งมหาชาติคำหลวงถึงเพียงนั้น

ในบทที่ 1 ชัยอนันต์พูดถึงสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ความคิดทางการเมืองไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรเล็กๆ ทางตอนเหนือ แต่ชัยอนันต์ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างพอเพียงแก่สมัยที่เขียนหลักฐานเกี่ยวกับอาณาจักรเหล่านี้

จึงตีความเอาว่า อิทธิพลจากอินเดียครอบงำความคิดทางการเมืองอาณาจักรเหล่านี้อย่างมั่นคง

สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ แท้จริงแล้ว เราไม่รู้เลยว่า ความคิดทางการเมืองของอาณาจักรเหล่านี้คืออะไร แต่หลักฐานที่เขียนขึ้นภายใต้อิทธิพลพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 21-22 เกี่ยวกับอาณาจักรเหล่านี้สะท้อนลานนาไทยในศตวรรษดังกล่าวมากกว่าอาณาจักรเล็กๆ ซึ่งมีอายุก่อนหน้าลานนาหลายร้อยปีมิใช่หรือ สิ่งที่น่าสงสัยเช่นนี้อาจจะชี้ให้เห็นได้มากตลอดทั่วไปในหนังสือเล่มนี้”

ข้อวิจารณ์ของอาจารย์นิธิต่องานของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติดูจะมีบางส่วนที่สะท้อนถึงวิวาทะที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกระหว่างสำนักประวัติศาสตร์กับสำนักปรัชญาการเมืองในวิวาทะระหว่าง R.G. Collinwood กับ Leo Strauss ในราวปี พ.ศ.2495

และที่น่าสนใจคือ อาจารย์นิธิก็เคยอ่านงานของ Collingwood และแน่นอนว่า อาจารย์สมบัติย่อมรู้จักคำสอนของ Leo Strauss เป็นอย่างดี!