พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ดีงามประการหนึ่งที่ได้รู้จักนางนาฏละครแห่งกัมโพชที่ชื่อว่าสารามณีนวนิยายประโลมโลกย์ฉบับแรกของกัมพูชาว่าด้วยเรื่องราวของนางรำในวังหลวงที่เขียนโดย โรล็องด์ เมแยร์ (Roland Meyer)-กมเลาะ/หนุ่มผู้ชอบแฉเรื่องฉาวโฉ่ของราชสำนัก

ด้วยเหตุนี้ จึงพอทำให้ทราบว่า ในฐานะเนียะเนียงที่ยังไม่ถึงขั้นถวายตัวเป็นหม่อมกะเม็ง เนียะเนียงสารามณีนางรำวัยดรุณคนนี้ คือตัวรำละครเอกคนหนึ่งที่หลวงท่านทรงโปรด แต่ก็นั่นแหละ (ยกมือขึ้นป้องกระซิบกระซาบว่า) ในช่วงปลายรัชกาลที่ดรุณีสารามณีเธอเล่าไว้อย่างเนิบๆ

มีตอนหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวหรือ “หลวง” ของเธอทรงพระประชวร เสวยได้น้อย แต่ก็ไม่ขาดอารมณ์ขัน และยังเสวยอยู่บ้างโดยเฉพาะตำรับยาเพียนหรือที่เขมรเรียกว่ายาฝิ่น

แต่ด้วยพระชรา ในที่สุดก็ถึงคราสวรรคต

อนึ่ง อ้างกันว่า (ใน) หลวงของสารามณีเนียงนั้น คือพระบาทนโรดม พรหมบริรักษ์ ซึ่งเมื่อสอยทิวงคตเสียเช่นนั้น ก็พาลพาประดานางรำร้องไห้กันระงมวัง

และแล้วก็เรียก (ใน) หลวงองค์นี้ซึ่งเรียกเช่นนี้มาตลอดว่า “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ”

เพียงแต่เป็นบรมโกศขะแมร์ที่ต่างจากคำไทย คือสะกดด้วย “ฐ” อย่างคำว่า “โกฐ”

เช่นเดียวกับสวรรคต ซึ่งเขมรใช้ราชาศัพท์ว่าสอยทิวงคต

คำว่า “สอย” ก็เหมือนกับ “เสวย” เช่น “สอยราชย์-เสวยราชย์” “สอย(ทิวง)คต-สวรรคต”

 

เป็นอันว่า เมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นกลายเป็นกษัตริย์ในพระบรมโกศหรือโกฐเสียแล้ว แม่สารามณีและนางระบำวังหลวงคนอื่นๆ จึงมีตำแหน่งเป็นนางในของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศหรือโกฐไปด้วย

พวกเธอซึ่งนอกจากจะร่ำไห้ปิ้มว่าจะขาดใจอาลัย (ใน) หลวงแล้ว ยังมาจากที่เนียะเนียงทั้งหลายไม่แน่ใจในชีวิตซึ่งทันทีที่ในหลวงทิวงคตไป

เหล่านางในและนางรำประจำแห่งวังหลวงก็ได้รับสิทธิประการหนึ่งคือ ในการทำชีวิตของตนใหม่ที่นอกวัง หรือมิฉะนั้น ก็เป็นสมบัติเก่าเก็บต่อไปสำหรับเจ้านายพระองค์ใหม่จากวังหลัง ซึ่งเพิ่งสอยราชย์ ซึ่งประดาเนียะเนียงที่อาภัพทั้งหลาย ในที่สุดพวกเธอก็เลือกที่จะมีชีวิตเหลือรอด โดยอาศัยอยู่ในวังนี้ต่อไป

หากเมื่อเป็นของหลวงแล้ว จะไปมีฐานะเป็นอย่างอื่นกระไรได้

จึงต้องเป็นข้ายาทในจาริกไปจนกว่าจะสิ้นใจหรือจนกว่า (ใน) หลวงองค์ใหม่ก็ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ ซึ่งมรดกระบำในพระราชตร็อบ/ราชสำนักนี้ ถือเป็นศิลปะขั้นสูงที่หวงแหนและต้องรักษาไว้อย่างเต็มพระทัยและเต็มกำลัง จนถึงขั้นมีการนำไปออกงานเป็นเกียรติในกลุ่มบุคคลระดับประเทศในต่างแดนมาแล้ว

แต่ต้องไม่ลืมว่า การแสดงความรักอาลัยรักต่อพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น ต้องเต็มไปด้วยขั้นตอนแห่งความเศร้าโศกและกตัญญูตา

 

ที่ที่ประทับใจคือ การปลงผมกร้อนศีรษะ อันถือเป็นความเคารพต่อผู้มีอุปการคุณที่ล่วงลับอย่างสูงสุดประการหนึ่งซึ่งทำได้ทั้งหญิงชาย เด็กกะเม็งและคนชรา

แต่สำหรับการร่ำไห้ประหนึ่งวังจตุมุขแห่งนี้จะเป็นที่สถิตสุดท้ายของตนทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะมีนางในละครซึ่งเป็นหม่อมมะเนียงทั้งหลายในพระองค์ และสำหรับความหมายของคำว่า (ใน) หลวงในพระบรมโกฐนั่นตามราชประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของเหล่าข้าราชบริพาร

โดยเฉพาะความวิจิตรในพิธีลงโกศ เรื่องพิสดารที่กมเลาะหนุ่มบารังที่เล่าผ่านความคิดของสารามณีอีกทีหนึ่ง ซึ่งการแสดงความอาเลาะอาลัยฉบับเขมรนี้ ดูจะทำให้ตระหนักถึงความหมายของคำว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ที่หมายถึงการสิ้นสุดรัชกาลในพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง

ซึ่งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อข้าบาทบริพารทุกฝ่าย

 

โดยแม้ว่า ในบางกรณีอดีตกษัตริย์บางพระองค์จะมิได้ลงพระโกศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ “พระกรุณา พระบาทนโรดม สีหนุราช หริวงศ์ อุภโตสุเจียด วิสุทธิพงษา อัครมหาบุรุษรัตน์ นิกโรดม ธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถ พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พระบาทนโรดม สีหนุ ซึ่งมีรับสั่งให้นำพระศพของพระองค์ลงในหีบแทนในพระโกศ ในรัชกาลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม-สีหมุนี พระโอรส

ทั้งนี้ ในส่วนของพระราชประเพณีอื่นๆ นั้น เช่น พิธีแห่พระโกศ (หรือหีบพระศพ) พระเมรุมาศ การลอยพระอังคารยังคงรักษาไว้ไปตามพระราชประเพณีอย่างสมพระเกียรติและเคร่งครัด ซึ่งในสมัยที่เป็นกษัตริย์และประมุขแห่งรัฐ ก็ทรงเคยผ่านราชพิธีของกษัตริย์ในพระบรมโกศมาแล้วถึง 2 ครั้ง

คือในรัชกาลพระบาทสีโสวัตถ์ มุนีวงศ์ พระอัยกาเจ้า และพระบาทสุรมฤตพระชนกนาถ ซึ่งจะเห็นว่า พระนามหลังพระชนม์ชีพทั้งสองมีไพเราะด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง

ทว่า ในสมัยพระองค์เสด็จสวรรคตนอกรัชกาลนั้น แต่ก็ยังได้รับการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดตามราชประเพณี

เพียงแต่ไม่มีการนำพระโกศมาประดิษฐานทั้งพิธีภายในพระราชวังและในพิธีแห่พระศพ

 

ทีนี้ มาดูกันว่า ตามธรรมเนียมกษัตริย์เขมรซึ่งจะมีพระนาม 3 ครั้ง

หนึ่ง-เมื่อแรกประสูติกาล

สอง-ในพิธีราชาภิเษก ส่วนระหว่างพิธีการตามพระราชประเพณีหลังเสด็จสวรรคต จะทรงพระนาม “ในพระบรมโกศ” จนกว่า

สาม-จะได้รับการถวายพระนามอย่างเป็นทางการหลังพิธีปลงพระศพ

1. พระบาทนโรดม สีหนุ (2536-2547) พระนามเต็มดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ทรงมีพระนาม “ณ พระโกศ” ตามท้ายว่า “พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุพระบรมรัตนโกศ” หลังสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

2. พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรมฤต (2498-2503) ซึ่งครองราชย์สั้นที่สุดในพระองค์ แต่เมื่อทรงทิวงคตนั้น กลับได้รับการเทิดพระเกียรติสูงสุด ในพิธีเพลิงพระศพที่สวยงามอลังการ ทั้งการประดับประดาพระบรมโกศและกระบวนแห่ซึ่งเกิดขึ้น หลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสไม่นาน

พระนามสุดท้ายในพระบรมโกศคือ “พระกรุณาพระนโรดมสุรามฤต พระมหากัจนะโกศ”

3. พระบาทสมเด็จพระสิรีมุนีวรมัน กรมหลวงเจ้าจักพงศ์สีสุวัตถ์ มุนีวงศ์ (2470-2484) ทรงพระนามตามศักดิ์ในพระบรมโกศว่า “พระกรุณาพระสีสุวัตถ์มุนีวงศ์ ขัตติยโกศ”

4. พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถ์พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี (2447-2470) ทรงพระนามหลังการทิวงคตว่า “พระกรุณาพระสีสุวัตถ์ พระเรียชเจียนุโกศ”

5. พระบาทนโรดม พรหมบริรักษ์ (2403-2447) พระสมัญญานามในพระบรมโกศว่า : พระกรุณาพระสุวรรณโกศ

และ 6. ลำดับสุดท้ายแห่งรัชกาลที่ 1 คือสมเด็จพระหริรักษารามาสุริยมหาอิศวอธิบดี พระบาทองค์ด้วง (2383-2403) ปฐมกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์ปัจจุบันที่ (ยังไม่พบ) สมัญญานามหลังสวรรคต (อย่างเป็นทางการ) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานะของนาม “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ในกษัตริย์พระองค์นี้ อาจเป็นที่น่าถกเถียง

เนื่องจาก บันทึกจดหมายเหตุประจำรัชกาลที่พบว่า พระบาทองค์ด้วงก่อนเสด็จสวรรคต ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารนำพระวรกายในพระองค์ไปแร่เนื้อเถือพระมังสะ เพื่อนำบริจาคทานแก่ปวงสัตว์ได้ใช้เป็นภักษาหาร

ท้าวเธอ พระวรเทวี เนียะมเนียง เจ้าจอมและทุกฝ่ายที่แม้จะไม่เห็นด้วย แต่หามีใครคัดค้านไม่ ทั้งคงลงมือเถือพระมังสะของพระมหากษัตริย์ใส่พานเงินและพานทอง จากนั้นก็นำไปโปรดสัตว์กินเนื้อตามพระประสงค์ทุกประการ

ส่วนพระอัฐิธาตุนั้น องค์รัชทายาท พระบาทนโรดม พรหมบริรักษ์ทรงนำไปบรรจุในสถูปเจดีย์หลวงประจำพระองค์ ณ ราชธานีเก่าเมืองอุดง

ส่วนการลอยอังคารในแม่น้ำตามราชประเพณีแห่เรืออัญเชิญพระอัฐิของกษัตริย์เขมรซึ่งกระทำกันมา ทุกพระองค์นั้น น่าจะเป็นไปได้ว่า พระบาทองค์ด้วง คือปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาในพระราชประเพณีต่างๆ แต่ที่แน่ชัดก็คือ ยังไม่ปรากฏพบว่า มีกษัตริย์เขมรองค์อื่นๆ ซึ่งนอกจากพระบาทองค์ด้วง

นำพระวรกาย (มังสะ) ไปพระราชทานต่อหมู่สัตว์เดรัจฉานเลย

 

น่าสนใจว่า สำหรับกรณีพระบาทองค์ด้วงนั้น ดูเหมือนต่อการทำลายสภาวะรูปพระวรกายดังกล่าว ดูจะเป็นการกระทำที่ผิดจารีตประเพณีว่าด้วยความเชื่อว่าด้วยการคงสภาพอันเป็นอมตะแห่งวงศ์เทวัญ

โดยไม่ว่าพระศพพระองค์จะประทับ ณ พระบรมโกศหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนกษัตริย์เขมรพระองค์นี้จะไม่ยึดติดกับสังสารวัฏฏ์ดังคติพุทธ แทนการเดินตามคติราชประเพณีโบราณนั่นคือการคงไว้ซึ่งสรีระวรกายตามคติพราหมณ์ ก่อนจะบรรจุลงในพระโกศ

แม้ปัจจุบัน คติการรื้อฟื้นในราชประเพณีดังกล่าว จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากพิธีโบราณ เช่น การบรรจุพระศพลงในหีบพระศพแทนพระโกศในพิธีพระบาทนโรดมสีหนุราช ซึ่งมีข้อน่าศึกษาว่า ขณะที่อดีตกษัตริย์เขมรโปรดให้ลดทอนความสำคัญในพระราชพิธีหลวงอยู่นั้น

ด้านหนึ่ง หมู่ขุนนางเขมรก็หันไปรือฟื้นพิธีการอย่าง “เจ้านายชั้นสูง” อย่างเอิกเกริกและเกินตำแหน่ง ราวกับเป็นการสถาปนาชั้นยศพระราชทาน ตลอดจนรื้อฟื้นราชพิธีหลวงโดยเฉพาะการประทานโกศหลวงแก่ผู้มีชั้นยศสำคัญ

ทิ้งปริศธรรมสุดท้ายในพระบรมรัตนโกศผู้ล่วงลับว่า เหตุใดพระองค์จึงไปโปรดลงพระบรมโกศ