เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เจ้าที่เจ้าทาง

“แม่…กินข้าวนะ อย่าหว่านข้าว…”

เวณิกาเสียงเข้มเมื่อเห็นแม่เปิบข้าวหกเรี่ยราดรอบจานอีกแล้ว

แม่อายุ 93 แล้ว ไม่พูดไม่จา ได้แต่ยิ้ม บางครั้งก็เหมือนจะพึมพำอยู่คนเดียว

“หนูเหนื่อยนะแม่ ต้องทำอยู่คนเดียว…” เวณิกาได้แต่นึกประโยคนี้ ทั้งที่อยากแผดเสียงระบายให้ลั่นโลก

เธอต้องตื่นแต่ตีห้า ตั้งข้าวอุ่นกับที่ซื้อใส่ถุงไว้แต่เมื่อวาน ผักปลอดสารพิษก็ต้องแช่น้ำล้างแล้วลวกต้ม แบ่งผัดไข่ส่วนหนึ่งใส่กล่องให้ลูกสาวไว้กินในรถระหว่างทางไปโรงเรียน

ลูกสาวของเธอชื่อพรนภา อายุห้าขวบแล้ว ได้แต่ช่วยแม่เก็บจานยายไว้อ่างล้าง ซึ่งเสร็จพอดีได้เวลาใส่รองเท้าหิ้วกล่องสะพายกระเป๋าเดินตามแม่ไปขึ้นรถที่แม่เป็นคนขับไปส่งโรงเรียน

สามีของเธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเฮงซวยไปเมื่อสองปีที่แล้ว

บุกป่าฝ่าดงรถติดจากบ้านไปโรงเรียนลูก จากโรงเรียนลูกถึงที่ทำงานทันเวลาพอดี

เพราะฉะนั้น ช่วงสามชั่วโมงตอนเช้าคือตีห้าถึงแปดโมง เวณิกาเหมือนเป็นเครื่องจักรของหุ่นยนต์แทบไม่ต้องใช้ความคิดตั้งแต่ลืมตาตื่น กระทั่งถึงที่ทำงาน

แม่ของเวณิกาเป็นชาวบ้านชนบท ทำไร่ทำนาเป็นอาชีพ จำได้ว่าสมัยเด็กเธอต้องแบกกระบุงตามแม่ไปเก็บข้าวตกในทุ่งนาหลังเกี่ยว

“หรือจะเป็นบุญกรรมที่วันนี้ต้องมาคอยเก็บข้าวตกที่แม่หว่านไว้เกลื่อนจานข้าว”

นั่นก็เป็นเพียงความคิดของเวณิกาเมื่อยามที่ต้องรับแม่มาอยู่ด้วยอายุปูนนี้

จำได้ว่าเธอต้องช่วยแม่หุงข้าว ทำกับข้าวกับแม่ที่ในครัวทันทีที่กลับจากโรงเรียนถึงบ้าน

งานประจำครัวถนัดที่สุดของเธอคือตำน้ำพริก เธอต้องน้ำตาเล็ดน้ำตาไหล จนแม่ดุ

“อะไรกันอีนิดเอ้ย แค่นี้ต้องร้องห่มร้องไห้”

“พริกมันกระเด็นเข้าตานะแม่”

“…โธ่…โธ่…โธ่ ใหม่ๆ ก็งี้แหละ ระวังหน่อยลูก”

จนวันนี้แหละที่ใครๆ ก็ชมว่าเธอมีฝีมือตำน้ำพริกอร่อยเลิศ

“ไม่ใช่สักว่าตำนะ ต้องรู้จักศิลปะของคำว่า โขลก ตำ เคล้า คลุก แน่ะ”

เธอจะโอ่ภูมิน้ำพริกของเธอทันทีเมื่อมีใครถามถึงรสมือน้ำพริก

ก็แม่นี่แหละชอบกินน้ำพริกกับผักแทบจะทุกมื้อ แถมยังกินแบบเปิบอีกด้วย คือกินข้าวด้วยมือไม่หกไม่เลอะเลย แม่จะตักน้ำพริกใส่จานข้าวแล้วเอามือคลุกอยู่นั่นแล้วจึงค่อยเปิบใส่ปาก ตามด้วยผักลวกผักต้ม ซึ่งจิ้มนำพริกในถ้วย แนมกับเนื้อปลาทูทอด

ก็แม่นี่แหละที่ใจอ่อนยอมให้เธอเปลี่ยนชื่อจากนิตยาเป็นเวณิกาเมื่อเธอขึ้นมัธยมปลาย ด้วยเธอติดใจชื่อนางเอกในเรื่องสี้นของใครไม่รู้

แม่ของเธอชื่อสบายๆ แบบชาวบ้านคือสายบัว และแม่ก็ชอบแกงส้มสายบัวปนมะละกอกับกุ้ง เหมือนคำร้องที่จำได้แต่เด็กว่า

มะละกอแกงกุ้ง ผักบุ้งแกงปลา

ลูกเขยแห่ไป ลูกสะใภ้แห่มา

แม่แต่งงานกับพ่อที่ลือกันว่าเป็นนักเลงโตของหมู่บ้านที่ใครๆ เรียก “ไอ้เสือ” คือดุเหมือนเสือ แต่เป็นเสือที่ไม่ใช่ “โจร”

แม่เป็นคนสวยคนงามของหมู่บ้าน ที่ไม่ยอมลงใครง่ายๆ จนมาแพ้ใจของพ่อฉายาไอ้เสือนี่เอง

เวณิกาเป็นลูกคนเดียวของพ่อ-แม่ ดูจะถอดนิสัยพ่อไว้มาก อะไรไม่ถูกไม่ต้อง เธอจะไม่ยอมด้วย ชนิดที่เรียกว่า “หัวชนฝา” นั่นเลย

เมื่อพ่อตายตามอายุขัยซึ่งวัยเลยเก้าสิบแล้ว แม่เริ่มเก้าสิบต้นๆ เวณิกาจึงรับแม่มาอยู่ด้วยที่บ้านกรุงเทพฯ

แม่ยังกินข้าวด้วยมือ คือเปิบมือ อร่อยกับผักน้ำพริกปลาทูเหมือนเดิม มีชามใส่น้ำไว้ “ชุบมือเปิบ” อยู่ข้างจานข้าวประจำ

เคี้ยวหยับๆ พลางพึมพำอะไรไม่รู้อยู่คนเดียวตลอดเวลาที่โต๊ะกินข้าว

“อีหนูมากินข้าวกับยายมะ…”

แม่จะเรียกหลานร่วมวงด้วยวันหยุดเรียน ซึ่ง “อีหนู” คือลูกพรนภาของเธอก็ชอบจะกินข้าวด้วยกับยายอยู่บ่อยมื้อ

สองวันมานี้เป็นช่วงเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตตอนเช้าของเวณิกาไปสิ้นเชิง เพราะแม่ตาย เธอต้องลางาน ลาโรงเรียนลูกเพื่อจัดการงานศพแม่ให้ดีที่สุด สมบูรณ์พร้อมที่สุดเท่าที่เธอตัวคนเดียวจะทำได้

แม้กิจวัตรประจำวันจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมากกว่านั้นจนเธอรู้สึกใจหายคือความ “คิดถึงแม่”

เธอไม่ได้คิดถึงสังคมผู้สูงวัย ดังวิตกกันเรื่องที่คนวัยเธอจะต้องแบกรับภาระทั้งเลี้ยงดูแม่ชราและเลี้ยงดูลูกเล็กด้วยน้ำพักน้ำแรงโดยลำพังเพียงเท่านั้น

หากเธอกำลังหมุนเข็มนาฬิกาย้อนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่ว่าทั้งใกล้ชิดและห่างเหินกันขนาดไหนและเพียงใด

คำข้าวที่แม่ป้อน คำข้าวที่แม่เปิบ

แม่ไม่เปลี่ยนเลย แม่ทำได้อย่างไรกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

เธอเป็นลูกแม่ที่ถ่ายทอดอะไรจากแม่มาบ้างนอกจากน้ำพริกที่แม่เคยทำให้กิน กระทั่งมาตำให้แม่กินแทบทุกมื้อ

กระทั่งแม่ตายจาก

จนวันนี้เธอก็ยังตำน้ำพริกผักลวกแบบไม่ใส่พริกในครกน้ำพริกให้ลูกกินอย่างเอร็ดอร่อยมื้อเช้าวันหยุดเรียน

“แม่…แม่…มาดูนี่ มันมีลูกมาด้วยแน่ะ..”

เธอออกจากครัวตามที่ลูกเรียก

“กินข้าวหว่านข้าวเหมือนยายอีกแล้ว ไม่ดีนะลูก” เธอทำเสียงเข้มเหมือนที่ต่อว่าแม่แทบทุกมื้อ

“เปล่าแม่ หนูกำลังหว่านข้าวให้จิ้งจก เหมือนที่ยายบอก ดูสิมันพาลูกมากินด้วยละ”

เวณิกาน้ำตารื้น กลั้นสะอื้นในอกจนสะอึกพูดไม่ออก เหมือนเพิ่งได้ยินเสียงพึมพำขณะแม่เคี้ยวข้าวแล้วโปรยข้าว

“ให้เจ้าที่เจ้าทางเขา…ลูกเอ๊ย”