ศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะสุดอื้อฉาวกระตุ้นเร้าให้สำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่แล้วเรากล่าวถึงศิลปินชั้นครูในอดีตของสเปนไปแล้ว ในตอนนี้เราเลยจะขอกล่าวถึงศิลปินสเปนอีกคนกันบ้าง

แต่ศิลปินคนที่ว่านี้ไม่ใช่ศิลปินในยุคอดีต หากแต่เป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานโดดเด่นท้าทายโลกศิลปะเป็นอย่างมาก

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ซานติอาโก เซียร์ร่า (Santiago Sierra)

ศิลปินชาวสเปนผู้ทำงานศิลปะที่เป็นส่วนผสมของงานประติมากรรมสังคม (social sculpture) และประเด็นทางการเมือง ด้วยศิลปะการแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาว ที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดยเขามักจะว่าจ้างเหล่าบรรดาคนชายขอบและคนด้อยโอกาสทางสังคม ที่ตกเป็นเหยื่อและเบี้ยล่างในโลกทุนนิยมอย่างแรงงานพลัดถิ่น โสเภณี หรือผู้ลี้ภัย มาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ

โครงการศิลปะของเขามักจะใช้บุคคลชายขอบที่ด้อยโอกาสเหล่านี้มาทำงานในฐานะแรงงานที่ประกอบกิจกรรมอันไร้ประโยชน์และน่าอดสู

ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบทุนนิยม

เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในโลกศิลปะในฐานะศิลปินผู้ท้าทายความคิดเกี่ยวกับประเด็นความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness)

และสร้างความขุ่นเคืองให้แก่นักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก

ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยแนวทางศิลปะที่พัฒนาจากศิลปะแบบมินิมอลและคอนเซ็ปช่วล จนกลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ ศิลปะการแสดงสด, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ภาพยนตร์ และศิลปะจัดวาง

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน 3 Cubes of 100 cm On Each Side Moved 700 cm (2002) ที่เขาจ้างแรงงานพลัดถิ่นให้ผลักแท่งซีเมนต์ขนาดใหญ่สามแท่งจากผนังหนึ่งไปสู่อีกผนังหนึ่งในห้องแสดงงานอย่างไร้ประโยชน์ เป็นเวลาหลายชั่วโมง

3 Cubes of 100 cm On Each Side Moved 700 cm (2002)
https://bit.ly/2Nk7w5H

หรือผลงาน 160 cm Line Tattooed on 4 People El Gallo Arte Contemporáneo. Salamanca, Spain. December 2000 (2000) ที่เขาว่าจ้างโสเภณีติดยา (ด้วยเงินจำนวนเท่ากับราคาที่เธอจะซื้อเฮโรอีนได้หนึ่งช็อต) ให้มานั่งเรียงแถวให้ช่างสัก สักหลังเป็นลายเส้นตรงต่อๆ กัน

160 cm Line Tattooed on 4 People El Gallo Arte Contemporáneo. Salamanca, Spain.December 2000 (2000)   https://bit.ly/2xOvTU3

หรือผลงาน The Trap (2007) ที่เขาจ้างผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบด้วยค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินให้มานั่งเฉยๆ รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในงานเปิดนิทรรศการศิลปะ

The Trap (2007)
https://bit.ly/2NhNuIO

หรือแม้แต่ผลงาน 10 People Paid to Masturbate (2000) ที่เขาจ้างคนว่างงาน 10 คน ให้มาสำเร็จความใคร่ต่อหน้ากล้องที่บันทึกภาพเอาไว้

เซียร์ร่าต้องการเปิดโปงอำนาจความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมที่กดทับคนชายขอบเหล่านี้และปิดบังพวกเขาเอาไว้จนมองไม่เห็น

หรือในผลงานที่อื้อฉาวที่สุดของเขาอย่าง Six People Who Are not Allowed to Be Paid for Sitting in Cardboard Boxes (2000) ที่จัดแสดงในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

Six People Who Are not Allowed to Be Paid for Sitting in Cardboard Boxes (2000),
ภาพจาก https://bit.ly/2DNYRsn

เดิมทีผลงานชิ้นนี้ดัดแปลงจากผลงานที่เขาทำในกัวเตมาลาและนิวยอร์กในปี 1998

ซึ่งในครั้งนั้นเซียร์ร่าจ้างกรรมกรให้นั่งเงียบๆ อยู่ในกล่องกระดาษภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ

ส่วนผลงานชุดเดียวกันในปี 2000 เซียร์ร่าจ้างผู้ลี้ภัยจากเชชเนียหกคนให้นั่งบนเก้าอี้ภายในกล่องกระดาษลังที่ต่อขึ้นมาหยาบๆ วันละสี่ชั่วโมง เป็นเวลาหกสัปดาห์

พวกเขาต้องรับค่าจ้างอย่างลับๆ เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งตามกฎหมายของเยอรมนี ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 80 มาร์กเยอรมัน หรือราว 40 เหรียญสหรัฐ

แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถูกเนรเทศและส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดทันที

ดังนั้น รายละเอียดของผลงานชิ้นนี้จึงไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทั้งหมด

ด้วยความที่ตัวกล่องปิดมิดชิด ผู้ชมจะไม่สามารถมองเห็นผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจากภายนอก แต่จะรับรู้ว่ามีคนอยู่ในกล่องได้จากเสียงของความเคลื่อนไหวหรือความพยายามกลั้นไอของผู้ลี้ภัยที่นั่งอยู่ภายในกล่อง

ซึ่งก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจและสร้างความตึงเครียดให้แก่บรรยากาศในห้องแสดงงานและผู้ชมเป็นอย่างมาก

ผลงานชิ้นนี้ส่งให้เซียร์ร่ากลายเป็นดาวเด่นของวงการศิลปะร่วมสมัยโลก และดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้หันมาสนใจในสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและแรงงานชายขอบในสังคมยุคนั้น

แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานชุดนี้ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียง และทำให้เขาถูกโจมตีจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชมชาวเยอรมันที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์อันเลวร้ายของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นลดน้อยลงแต่อย่างใด

เพราะเมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง แรงงานและผู้ลี้ภัยเหล่านั้นก็ถูกปล่อยกลับไปสู่สถานะเดิม ในโลกเดิมที่พวกเขาถูกกดขี่

ในขณะที่ศิลปินอย่างเซียร์ร่ากลับเป็นผู้รับผลประโยชน์ทุกอย่าง ซึ่งยืนยันได้จากการที่เขาได้ตระเวนแสดงผลงานไปทั่วโลก ทั้งเกาหลี เปอร์โตริโก ฮาวานา และมาดริด เป็นต้น

ที่ตลกร้ายและเจ็บแสบยิ่งกว่านั้นก็คือ พนักงานรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ในห้องแสดงงานใกล้ๆ กัน ที่ต้องยืนหลังขดหลังแข็งเฝ้าพิพิธภัณฑ์เป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวันนั้นก็ได้รายได้ในอัตราพอๆ กับผู้ลี้ภัยที่มานั่งเฉยๆ อยู่ในกล่องด้วยซ้ำไป

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยหลายคนก็ต้องการเข้าร่วมในการแสดงสดครั้งนั้นของเซียร์ร่า เพราะหวังว่าจะใช้นิทรรศการครั้งนั้นป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของพวกเขา

หรือในผลงาน Los Penetrados (The Penetrated) (2008) ภาพยนตร์ความยาว 45 นาที ที่ประกอบด้วยการแสดงแปดองค์ ที่ถ่ายทำในวันที่ 12 ตุลาคม 2008 หรือวัน Día de la Raza (Day of the Race) ซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติสเปน,อเมริกา,อิตาลีและอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เฉลิมฉลองวาระที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก

Los Penetrados (The Penetrated) (2008)
https://bit.ly/2zMtNpa

ในภาพยนตร์ประกอบด้วยฉากที่ล้อมรอบด้วยกระจกเงา บนพื้นปูด้วยผ้าห่ม ที่มีแรงงานที่ถูกว่าจ้างทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง, ผิวขาวและผิวดำ กำลังประกอบกามกิจทางทวารหนักกันอยู่ ทั้งในรูปแบบของชายผิวขาวกับหญิงผิวขาว, ชายผิวขาวกับชายผิวขาว, ชายผิวดำกับหญิงผิวดำ, ชายผิวดำกับชายผิวดำ, ชายผิวขาวกับหญิงผิวดำ, ชายผิวดำกับหญิงผิวขาว, ชายผิวดำกับชายผิวขาว โดยใบหน้าของพวกเขาถูกปิดบังด้วยเซ็นเซอร์โมเสก

ด้วยการเลือกวันที่ว่าเป็นวันถ่ายทำ เซียร์ร่าสร้างความเชื่อมโยงเชิงเปรียบเทียบระหว่างการค้นพบและยึดครองทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของสเปน,อิตาลี และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป เข้ากับการล่วงล้ำทิ่มแทงทางเพศที่ปรากฏในหนัง การร่วมเพศทางทวารหนักในหนังเรื่องนี้ เชิญชวนให้ผู้ชมสำรวจแง่มุมทางจิตวิทยาเชิงวัฒนธรรมของการครอบงำของผู้ล่าอาณานิคม และการยอมจำนนของผู้ตกอยู่ใต้อาณานิคม

รวมถึงตรวจสอบความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางอาชีพ, ชาติพันธุ์, เพศสภาพ, ชนชั้น และปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ในโครงสร้างสังคมร่วมสมัยของสเปนได้อย่างแสบสันต์เป็นอย่างยิ่ง โดยเซียร์ร่ากล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์และผู้ลี้ภัยว่า

“ความหวาดระแวงดั้งเดิมของคนผิวขาวที่มีต่อคนผิวดำ หรือที่คนยุโรปมีต่อคนแอฟริกันนั้น เชื่อมโยงกับความหวาดกลัวว่า ไม่ช้าก็เร็ว พวกเรา (คนผิวขาว) จะต้องจ่ายค่าชดใช้ต่อความผิดบาปในความละโมบโลภมากที่พวกเรากระทำในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนั้นมันยังเชื่อมโยงกับความอิจฉาริษยาในขนาดขององคชาตของคนผิวดำ ที่อาจทำให้ผู้หญิง (หรือผู้ชาย) ผิวขาวลุ่มหลงมัน จนทำให้คนผิวขาวถูกกดข่มทางเพศจนด้อยกว่า สิ่งนี้น่าหวาดกลัวกว่าการถูกแย่งงานทำเสียอีก แง่มุมทางการเมืองเช่นนี้อาจดูป่าเถื่อนกว่าที่เราคิด เพราะพฤติกรรมการแบ่งแยกชาติพันธุ์ของมนุษย์เรานั้น ไม่ต่างอะไรกับการแบ่งแยกสายพันธุ์ของสัตว์ เพราะอันที่จริงเราเองก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งเหมือนกัน”

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซานติอาโก เซียร์ร่า แสดงผลงานของเขาในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ Tate Modern ในลอนดอน, ประเทศอังกฤษ, พิพิธภัณฑ์ Museo Rufino Tamayo ในเม็กซิโก, พิพิธภัณฑ์ Bonniers konsthall ในสตอกโฮล์ม, สวีเดน หอศิลป์ Kestnergesellschaft ในฮันโนเฟอร์ และสถาบันศิลปะ Werke ในเบอร์ลิน, เยอรมนี, หอศิลป์ Kunsthaus Bergenz ในออสเตรีย

รวมถึงเป็นตัวแทนของประเทศสเปนแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 50 ในปี 2003 อีกด้วย

ขอบคุณ รศ.ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ เอื้อเฟื้อข้อมูลบางส่วน