บทวิเคราะห์ : จาก “หมูป่าอะคาเดมี” ถึง “นกน้อย” ตัวตน-ชีวิตของเด็กไร้รัฐ

มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ออกมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะ 3 ใน 12 นักเตะทีมหมูป่าอะคาเดมีและ “โค้ชเอก” ของพวกเขา คืออีกตัวอย่างของคนไร้สัญชาติของผู้คนอีกเป็นจำนวนมากตามริมชายขอบของประเทศที่เพิ่งได้รับสัญชาติไทย หรืออาจเป็นเพราะ ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาที่เคยเป็นปัญหามาช้านาน จนถึงทุกวันนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่นั่นเอง

ไรนา จันดราน ผู้เขียนรายงานชิ้นดังกล่าวหยิบยกกรณีของ “นกน้อย” มาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงปัญหาลึกๆ ของเด็กๆ และผู้คนไร้สัญชาติเหล่านี้

“นกน้อย” บอกว่า ทุกครั้งที่มีการขานชื่อในชั้นเรียน เธอจำเป็นต้องต่อท้ายชื่อตัวเองว่า “นามสมมุติ” ตาม “มาตรฐานของคนไร้สัญชาติ” ทุกครั้ง แล้วก็เรียกเสียงหัวเราะคิกคักจากนักเรียนในชั้นทุกคราวไป

คนไร้รัฐ จึงเหมือนคนไม่มีตัวตน ไม่มีกระทั่งชื่อ แล้วยังถูกย้ำเตือนทุกวัน ร่ำไป

ทั้งๆ ที่ถิ่นกำเนิดของเธอคือหมู่บ้านไทยบริเวณชายแดนติดต่อกับพม่า นกน้อยมีพี่น้องอีก 4 คน แต่เพราะพ่อกับแม่โยกย้ายมาจากพม่า ทุกคนจึงไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นไทย จนกระทั่งถึงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ หลังจากที่นกน้อยยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยให้กับตนเองกับพี่น้องทั้ง 5 คนได้สำเร็จ

กระบวนการที่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี

 

สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระบุเอาไว้ว่า มีคนไร้สัญชาติ 487,000 คนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางการไทยในปีนี้

แต่นักกิจกรรมที่ทำงานกับคนไร้สัญชาติมานานระบุว่า จำนวนจริงๆ มีมากกว่า 3 ล้านคน

คนเหล่านี้มีตั้งแต่ผู้คนบนที่ราบสูงที่เรียกกันว่าชาวเขา ซึ่งเร่ร่อนย้ายถิ่นทำกินไปเรื่อย มาจนถึงเด็กๆ ลูกหลานของผู้อพยพ หรือผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่มาลืมตาดูโลกในประเทศไทย

บุคคลเหล่านี้ไม่เพียงมีปัญหาแค่เรื่องอัตลักษณ์เท่านั้น ยังมีปัญหาตามมาอีกสารพัด เพราะถูกจำกัดให้ทำงานได้เพียง 27 อาชีพ ที่ล้วนแต่เป็นงานประเภทใช้แรงงานทั้งสิ้น ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางห้ามออกนอกจังหวัดของตนเอง ถูกจำกัดแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน และการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ผู้สันทัดกรณีและนักกิจกรรมหลายคนระบุตรงกันว่า คนเหล่านี้ถือว่ามีมาตรฐานการครองชีพย่ำแย่กว่า “ผู้ลี้ภัยจากพม่า” ซึ่งใช้ชีวิตอยู่แต่ในค่ายผู้ลี้ภัย เพราะนั่นยังมีโอกาสได้รับการรับรองจากยูเอ็นเอชซีอาร์และได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ได้

เจนพิชา ชีวะอิสระกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ บอกว่า ในเครื่องแบบนักเรียน เด็กๆ เหล่านี้มองแล้วไม่แตกต่างจากเด็กๆ สัญชาติไทย ทั้งยัง “รู้สึก” ไม่แตกต่างกันอีกต่างหาก ข้อจำกัดจะเริ่มถูกตระหนักชัดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และได้เรียนรู้หนทางที่จะได้รับสัญชาติไทย ซึ่งไม่เพียงแค่ซับซ้อนเท่านั้น ยังมีการตีความบังคับใช้แตกต่างกันอีกด้วย

บุคคลไร้สัญชาติบางส่วนเกิดขึ้นเพราะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชายขอบของชายแดน ที่เมื่อเขตแดนเปลี่ยนแปลงไปก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติ หรือไม่ก็เป็นคนที่เคยอพยพหนีภัยสงครามมาเนิ่นนาน หรือข้ามแดนมาหางานทำ แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

 

มัจฉา พรอินทร์ นักกิจกรรมที่ทำงานกับคนไร้รัฐ ยกตัวอย่างชาวพม่าที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาหลายสิบปีในค่ายผู้ลี้ภัยว่า บางคนเหล่านั้นเกิดมาก็ใช้ชีวิตอยู่แต่ในค่าย ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับพม่า และไม่สามารถกลับไปได้ เพราะบ้านที่เคยอยู่ ที่ดินที่เคยทำกิน ตกเป็นของคนอื่นไปหมดแล้ว

หลายคนลืมตามาดูโลกในค่าย แต่มีแค่ 2-3 รายเท่านั้นที่มีสูติบัตร มีเอกสารครอบครองที่ดิน หรือมีเอกสารอื่นๆ สำหรับยื่นขอสัญชาติไทยได้

เจนพิชาตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการของไทยให้น้ำหนักกับเอกสารสูงสุดในการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่บุคคลเหล่านั้นถูกตำหนิว่าเป็นคนผิดที่ไม่มีเอกสาร โดยไม่ใคร่ครวญถึงปัญหาที่ว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้รับเอกสารตั้งแต่แรก

ข้อมูลของยูเอ็นเอชซีอาร์แสดงให้เห็นว่า ไทยให้สัญชาติไทยไปรวมทั้งสิ้นราว 100,000 คน ระหว่างปี 2008 จนถึงบัดนี้ ซึ่งรับว่าสูงสุดในภูมิภาค

รัฐบาลเองเคยประกาศเอาไว้ว่าจะทำให้ไทยปลอดจากคนไร้สัญชาติให้ได้ภายในปี 2024 กระนั้นกระบวนการทั้งหมดก็ยังคงมีปัญหาอยู่ดี

 

“นกน้อย” เองบอกว่ากระบวนการขอสัญชาติของเธอนั้น นานมากเสียจนทำให้หลายครั้งถึงกับคิดว่า คงตายเสียก่อนที่จะได้รับสัญชาติไทย

แค่สูติบัตร 5 ใบสำหรับเธอและพี่น้องอีก 4 คน ต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน เทียวไปเทียวมาระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอไม่รู้ว่ากี่ครั้ง รวมเวลาแล้วต้องใช้นานถึง 3 ปีถึงจะได้สัญชาติ

และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสัญชาติของไทยในปลายปี 2016 มัจฉาก็ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีปัญหาของการสะท้อนภาพของการ “สมควรได้รับ” สัญชาติกับการได้รับสัญชาติตามที่ควรได้เพราะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” จนกลายเป็น “สองมาตรฐาน” ขึ้นมา แม้จะยอมรับว่า เธอเองยินดีกับคนที่ได้รับสัญชาติไทยเพราะ “สมควรได้รับ” ด้วยก็ตามที

“หรือทุกคนต้องไปติดถ้ำ ถึงจะได้สัญชาติ?” คือคำถามที่เกิดขึ้นตามมา!