กรธ.แนะทางสู้ คะแนน ‘ตกน้ำ’ เฟ้นหาผู้สมัคร ‘เกรดเอ’

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ว่า ที่ผ่านมาระบบการเลือกตั้งมี 2 ระบบ คือ ระบบเสียงข้างมาก ใครได้คะแนนมากกว่าคนนั้นก็ชนะกับระบบสัดส่วน เดิมระบบของเราเป็นระบบผสม ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเห็นว่าคะแนนผู้เลือกจะเลือกตัดสินใจได้ทั้ง 2 แบบ ระบบเดิมคนที่เลือกคนที่ระบบเขตจะเลือกได้เบอร์เดียว เท่ากับว่าคนที่เหลือไม่มีผลอะไรเลย คะแนนตกน้ำชัดเจน แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่เป็นการเลือกคนและพรรคไปในเบอร์เดียวกัน คนที่ชนะเป็นที่หนึ่งของเขตเลือกตั้งก็ได้รับเลือกตั้ง และคะแนนของเขาจะมากหรือน้อยรวมถึงคนที่เข้าแข่งขันด้วยในเขตจะมากหรือน้อยเอาไปรวมเป็นคะแนนของพรรค

“ต้องทำความเข้าใจกับคนที่บอกว่ายังมีเสียงตกน้ำว่าเราใช้ระบบพรรคการเมืองและพรรคการเมืองในที่นี้หมายถึงพรรคที่มีขนาดพอสมควรที่จะส่งผู้สมัครเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขาให้คะแนน ถ้าพรรคส่งผู้สมัครพอสมควรคะแนนของพรรคก็น่าจะพอทำคะแนนเป็นที่นั่ง ส.ส.ได้ แต่หากเป็นพรรคที่ได้คะแนนเขตหนึ่งไม่กี่สิบหรือกี่ร้อยคะแนน โอกาสที่ท่านจะมีเสียงพอที่จะมีที่นั่งได้ก็น้อย” นายอุดมกล่าว

นายอุดมกล่าวต่อว่า ส่วนที่มองว่าบัตรเลือกตั้งใบเดียวส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ต้องบอกว่าไม่ได้ส่งเสริมพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลางที่เป็นที่สอง สาม หรือสี่ คะแนนที่ผ่านมาเขาตกไปเลย ไม่มีทางได้เลย แต่คราวนี้หากสอบตกในเขตเลือกตั้ง แต่คะแนนของเขาที่ได้ยังนำไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบสองบัตรตกน้ำชัดเจนแน่นอน เพราะปกติเวลาคนเลือก 2 คะแนนก็เลือกคนและพรรคเดียวกัน

“สำหรับพรรคที่มีความนิยมพอสมควรได้คะแนนเป็นที่สอง สาม สี่ ในเขต ก็มีสิทธิได้คะแนนในบัญชีรายชื่อ และที่สำคัญถ้าพรรคที่ชนะเขตแบบคะแนนเฉือนไปนิดเดียว ชนะแบบหวุดหวิด โอกาสที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มก็ยาก ดีไม่ดีหัวหน้าพรรคอาจไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะชนะแต่เขตอย่างเดียวและชนะคะแนนแบบหวุดหวิด เพราะรวมแล้วต้องไปเฉลี่ยว่าคะแนนทั้งประเทศควรจะได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวนเท่าใด หากได้แบบแบ่งเขตไปเยอะแล้วหรือได้เกินแล้วจะไม่ได้ที่นั่งในบัญชีรายชื่อเลย” นายอุดมกล่าว