E-DUANG : 2 แนว 2 สมรภูมิ เลือกตั้ง แนวเอาคสช. ไม่เอาคสช.

ยิ่งการก่อป้อมค่ายตระกูล “พลัง” ขึ้นมากเพียงใดจากทางด้านของ”คสช.” ยิ่งทำให้เกิดป้อมค่ายตระกูล “เพื่อ” มากขึ้นเพียงนั้นจากทางด้าน “เพื่อไทย”

เพราะนี่คือสงครามอันมีลักษณะ”ยืดเยื้อ”

ยืดเยื้อตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มีความพยายามยกคำว่า “สามก๊ก”ขึ้นมาอุปมา

เหมือนกับว่า 1 คือ ก๊กคสช. 1 คือ ก๊กเพื่อไทย และก็มีอีก 1 ก๊กอันแตกต่างไปจาก 2 ก๊กแรก

แต่เอาเข้าจริงๆภายในส่วนที่ 3 ก็หาได้แยกขาดจาก 1 หรือ 2

การดำรงอยู่ของพลังที่ 3 มิได้เป็นก๊ก หากแต่ดำเนินไปในเชิง เป็นพันธมิตรในแนวร่วมหากไม่ 1 ก็เป็น 2 มากกว่า

 

ขอให้ดูพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ตลอดจนพรรคชาติพัฒนาเป็นตัวอย่าง

หินลองทองที่ดีมากคือ ประเด็น”รัฐประหาร”

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ถามว่า 3 พรรคนี้มีท่าทีอย่างไร

เช่นเดียวกับ ขอให้ดูพรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคสามัญชน เป็นตัวอย่าง

ถามว่ามีท่าทีอย่างไรต่อ “รัฐประหาร”

3 พรรคนี้เป็นอีกต่างหากจากพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน แต่ก็มีบทสรุปต่อ”รัฐประหาร” แตกต่างไปจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา

ท่าทีของพรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน ไม่เอากับ “คสช.”อย่างเด่นชัด

เท่ากับเป็น”พันธมิตร”ในแนวร่วมของ “เพื่อไทย”

 

ในที่สุดแล้ว สมรภูมิการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะคงเหลือเพียง 2 แนวอันเด่นชัด

นั่นก็คือ แนวเอากับคสช. แนวไม่เอากับคสช.

นั่นก็คือ แนวเห็นด้วยกับรัฐประหาร แนวไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แนวเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แนวไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ

ในที่สุดก็คือ แนวเผด็จการ กับ แนวประชาธิปไตย