จักรวรรดิในกำแพง : รวมตัวแล้วแตกแยกสู่ความตกต่ำครั้งใหญ่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จิ้นตะวันตกกับการล่มสลาย (ต่อ)
การล่มสลายของจิ้นตะวันตก

การล่มสลายของจิ้นตะวันตกนั้น มีปฏิสัมพันธ์กับการตั้งตนเป็นใหญ่ของชนชาติที่มิใช่ฮั่นอย่างมาก กล่าวคือ ระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์อยู่นั้น ซย์งหนูได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นโดยมีผู้นำคือ หลิวยวน

การที่ผู้นำซย์งหนูมีชื่อและสกุลดังชนชาติฮั่นนี้มีความเป็นมาที่ติดจะพิสดารไม่น้อย

เพราะในบันทึกกล่าวว่าบรรพชนของซย์งหนูกลุ่มนี้มีเชื้อสายฮั่นอยู่ด้วย จนเมื่อครั้งที่เฉาเชา (โจโฉ) เรืองอำนาจในยุคสามรัฐนั้นเอง บรรพชนของซย์งหนูกลุ่มนี้จึงได้เปลี่ยนสกุลเดิมของตนมาเป็นสกุลหลิว และได้เข้าร่วมกับกองทัพของเฉาเชา

พอล่วงจากยุคสามรัฐมาถึงราชวงศ์จิ้น ซย์งหนูรุ่นที่สืบทอดอำนาจในกองทัพต่อๆ กันมาก็มาถึงรุ่นของหลิวยวน ตัวของหลิวยวนซึ่งเป็นซย์งหนูจึงมีชื่อและสกุลที่เป็นจีนด้วยเหตุนี้

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ซย์งหนูที่เป็นบรรพชนของหลิวยวนนี้แท้จริงแล้วก็คือซย์งหนูฝ่ายใต้ อันเป็นฝ่ายที่มีนโยบายประนีประนอมกับจีนมาโดยตลอด ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วในบทก่อน และจึงไม่แปลกที่ว่าเหตุใดบรรพชนของหลิวยวนจึงร่วมทัพกับเฉาเชาได้ดี

แต่พอถึงช่วงที่หลิวยวนเป็นผู้นำทัพ ซย์งหนูก็เป็นศัตรูกับชนชาติฮั่นไปแล้ว

หลิวยวนตั้งตนเป็นใหญ่ใน ค.ศ.304 โดยได้สถาปนารัฐของตนขึ้นคือ รัฐฮั่นเจ้า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นรัฐเฉียนเจ้า (รัฐเจ้าสมัยแรก) และให้ผิงหยังเป็นเมืองหลวง ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลซันซี

ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนที่หลิวยวนจะตั้งตนเป็นใหญ่นั้น ทัพซย์งหนูของเขาเคยเข้าร่วมกับกษัตริย์บางองค์ในวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์เช่นกัน จนเมื่อวิกฤตดำเนินไปจนถึงจุดที่จิ้นอ่อนแออย่างหนักแล้ว หลิวยวนจึงได้โอกาสตั้งตนเป็นใหญ่และตั้งรัฐเฉียนเจ้าขึ้น

ทัพเฉียนเจ้าจึงต้องเผชิญกับทัพของกษัตริย์เย่ว์ ซึ่งถือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายจากวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ที่แข็งแกร่งที่สุด

ทัพเฉียนเจ้าเริ่มบุกตีลว่อหยังใน ค.ศ.308 แต่ทัพจิ้นโดยกษัตริย์เย่ว์ตั้งรับได้ระยะหนึ่งเท่านั้นก็เสียชีวิต จนถึง ค.ศ.311 ทัพเฉียนเจ้าบุกเข้าโจมตีจิ้นอีกครั้งหนึ่ง ศึกครั้งนี้ทำให้กำลังนับแสนของจิ้นเสียหายอย่างหนัก

กล่าวกันว่า ทัพเฉียนเจ้าได้เข่นฆ่าและปล้นสะดมจนทหารและราษฎรจิ้นตายไปกว่า 30,000 ชีวิต วังและสถานที่ราชการเหลือเพียงเศษซาก

จากนั้นทัพเฉียนเจ้าก็ยึดลว่อหยังไว้ได้ และจับจักรพรรดิจิ้นฮว๋ายตี้มาสำเร็จโทษ จากนั้นทัพจิ้นที่เหลือก็ตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นคือ จิ้นหมิ่นตี้ (ค.ศ.313-316) แล้วย้ายเมืองหลวงไปที่ฉังอัน แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นทัพเฉียนเจ้าก็ตีฉังอันได้อีกใน ค.ศ.316 ทำให้จิ้นหมิ่นตี้ทรงยอมจำนน และถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ.317

จิ้นตะวันตกจึงล่มสลายลงด้วยเหตุนี้

จิ้นในสมัยนี้จึงมีจักรพรรดิเพียงสี่องค์ รวมเวลาครองราชย์ของทั้งจักรพรรดิทั้งสี่ 51 ปี และเมื่อจิ้นตะวันตกล่มสลายไปแล้ว ญาติวงศ์สกุลซือหม่าและเสนามาตย์ที่ยังจงรักภักดีต่อจิ้นก็ลี้ภัยอพยพไปทางใต้ จากนั้นก็หาทางฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นมาอีกครั้ง

โดยทั้งก่อนและหลังที่ฟื้นฟูได้แล้วนั้น จีนก็ตกอยู่ในยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐโดยตลอด

 

ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ

ดังที่งานศึกษานี้ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ในช่วงฮั่นสมัยหลังได้มีนโยบายให้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นอพยพเข้ามาอยู่ในเขตแดนของจีน จนเกิดปัญหากับชาวฮั่นจนทำให้ชาวฮั่นต้องอพยพไปยังที่อื่นนั้น การเข้ามาอยู่ในเขตแดนจีนของชนชาติที่มิใช่ฮั่นยังคงมีอยู่ในยุคสามรัฐ และคงอยู่แม้ในยุคจิ้น

แต่ที่แตกต่างไปจากยุคฮั่นก็คือ ในสมัยจิ้นมีชนชั้นสูงบางกลุ่มในบางพื้นที่ใช้อำนาจกดขี่ขูดรีดชนชาติเหล่านี้ การกระทำนี้เป็นไปอย่างหนักจนสร้างความคับแค้นใจให้แก่ชนชาติเหล่านี้โดยทั่ว ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ขึ้น วิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ชนชาติที่มิใช่ฮั่นลุกขึ้นสู้กับชาวฮั่นที่อยู่ภายใต้ราชวงศ์จิ้น

ชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่ลุกขึ้นสู้กับชาวฮั่นด้วยการตั้งตนเป็นใหญ่มีหลายชนชาติ แต่ชนชาติที่สำคัญและมีบทบาทสูงมีอยู่ห้าชนชาติ ชนชาติทั้งห้ามีที่มั่นเป็นของตนเองกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของจีนคือ

หนึ่ง ซย์งหนู มีที่มั่นอยู่ที่ปิ้งโจว

สอง เจี๋ย เป็นอนุชนชาติหนึ่งของซย์งหนู มีที่มั่นอยู่ตรงอาณาบริเวณอำเภอเหลียวในซันซีปัจจุบัน

สาม เซียนเปย มีที่มั่นอยู่ด้านตะวันตกของเหลียวตงและในพื้นที่ชายขอบ

สี่ ตี มีที่มั่นอยู่ที่อำเภอจินหยัง ซิ่งผิง และฉังอันในสั่นซีปัจจุบัน

และห้า เชียง มีที่มั่นอยู่ที่อำเภอต้าลี่ เย่า ปินในสั่นซี และอำเภอเจิ้นหยวนในกันซู่ปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์จีนเรียกรวมห้าชนชาตินี้ว่า อู่หู หมายถึง ชนต่างชาติทั้งห้า

การตั้งตนเป็นอิสระของห้าชนชาตินี้จึงเกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ ครั้นพอวิกฤตยุติลง ห้าชนชาตินี้นอกจากจะทำศึกกับจิ้นแล้วก็ยังทำศึกระหว่างกันเองอีกด้วย ช่วงที่ว่านี้เองชนชาติที่มิใช่ฮั่นเหล่านี้ได้ตั้งรัฐอิสระของตนขึ้น ซึ่งรวมแล้วมี 16 รัฐด้วยกัน

จีนในช่วงนี้จึงถูกเรียกว่า ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ

ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ (อู่หูสือลิ่วกว๋อ) แม้จะเป็นอีกยุคหนึ่งที่จีนแตกแยก แต่ก็เป็นยุคที่ต่อเนื่องจากยุคก่อนหน้าที่ก็แตกแยกเช่นเดียวกัน เพราะเอกภาพที่จิ้นตะวันตกสร้างขึ้นนั้นมีลมหายใจที่สั้นมาก

ในขณะเดียวกัน พอยุคที่ว่านี้เกิดขึ้นก็มิได้หมายความว่าจิ้นถึงกับสิ้นวงศ์ ชั่วอยู่แต่ว่าจิ้นที่ต่อลมหายใจของตนในนามของจิ้นตะวันออกก็ตั้งอยู่แบบไร้เสถียรภาพ ทั้งยังกล่าวได้ด้วยว่าไร้เสถียรภาพยิ่งกว่าจิ้นตะวันตกด้วยซ้ำไป

 

อย่างไรก็ตาม การตั้งตนเป็นใหญ่ของชนชาติต่างๆ ที่กระจายเป็น 16 รัฐนี้มีประเด็นอันพึงกล่าวถึงในบางประการด้วยว่า

หนึ่ง ในบรรดา 16 รัฐนี้จะมีอยู่สามรัฐที่เป็นชนชาติฮั่น แต่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสกุลจิ้น

สอง การตั้งตนเป็นใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายจิ้นตะวันตก ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วถึงเรื่องที่รัฐเฉียนเจ้าโค่นล้มจิ้นตะวันตก

สาม การตั้งตนเป็นใหญ่ของแต่ละชนชาติด้วยการตั้งรัฐของตนขึ้นนั้น มีหลายรัฐที่ตั้งในเวลาที่ทับซ้อนกัน แต่มีช่วงเวลาที่เรืองอำนาจที่ต่างกัน

สี่ แต่ละชนชาติที่ตั้งรัฐของตนขึ้นมาแทบทั้งหมดจะยืนอยู่ได้ไม่นาน โดยที่ยืนอยู่ได้ยาวนานที่สุดคือ 57 ปี สั้นที่สุดคือ 3 ปี

ห้า รัฐที่ตั้งขึ้นแล้วนี้หากไม่ทำศึกกับจิ้นก็มักทำศึกในระหว่างกัน และแทบทุกรัฐมักมีปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในกันเองอีกด้วย

หก ชนชาติที่ตั้งตนเป็นใหญ่นี้แม้จะตั้งอยู่ได้ไม่นานและมีปัญหามากมาย แต่ก็เห็นได้ถึงความต้องการปลดแอกตนจากการกดขี่ขูดรีดของชนชาติฮั่น (จิ้น) อยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นมิติการต่อสู้เพื่ออิสรภาพหรือเพื่อปลดแอกตัวเองจากชนชาติฮั่นของชนชาติเหล่านี้โดยแท้

เจ็ด ผู้นำแทบทุกคนที่ตั้งตนเป็นใหญ่หากไม่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิก็จะเป็นกษัตริย์ ในยุคนี้จึงมี “จักรพรรดิ” และ “กษัตริย์” อยู่มากมาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดสร้างจักรวรรดิได้สำเร็จ

ได้แต่เป็นใหญ่อยู่ในรัฐของตนที่เต็มไปด้วยความเปราะบางของเสถียรภาพ

 

ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า รัฐทั้ง 16 นี้ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจนดูยุ่งเหยิงและสับสนจนยากแก่การจดจำ จนทำให้งานศึกษาประวัติศาสตร์จีนโดยทั่วไปกล่าวถึงรายละเอียดของ 16 รัฐนี้แต่เพียงสังเขป

โดยเฉพาะงานศึกษาของฝ่ายจีน ซึ่งในด้านหนึ่งเท่ากับสะท้อนว่า งานศึกษาในแนวนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับยุคนี้มากนัก

ทั้งๆ ที่เป็นยุคที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นห้วงหนึ่งที่ชนชาติฮั่นตกต่ำลงอย่างมาก

ตกต่ำจนไม่อยากจะกล่าวให้มากความ

————————————————————————————————————————–
(1) คำว่า อู่ แปลว่า ห้า ส่วนคำว่า หู โดยทั่วไปจะหมายถึงชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกและทางเหนือของจีน ในที่นี้จึงแปลคำว่า อู่หู โดยรวมว่า ชนต่างชาติทั้งห้า ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ในชั้นหลังคำว่า หู จะหมายถึงชาวต่างชาติโดยทั่วไป ซึ่งจะเรียกว่า หูเหญิน และยังหมายถึงสิ่งที่มาจากต่างประเทศอีกด้วย