คนมองหนัง – “Youth” : สามัญชน, ความรัก, บาดแผล หลัง “ปฏิวัติวัฒนธรรม”

คนมองหนัง

“Youth” (2017) คือผลงานเรื่องล่าสุดของ “เฝิงเสี่ยวกัง” ผู้กำกับภาพยนตร์เบอร์ต้นๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ยุคปัจจุบัน (ผลงานก่อนหน้านั้นของเขา ได้แก่ “I Am Not Madame Bovary”)

หนังเรื่องนี้เดินทางไปตามเทศกาลและงานประกวดแถบเอเชียหลายแห่ง โดยได้รับรางวัลใหญ่ๆ อาทิ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเอเชียน ฟิล์ม อวอร์ดส์ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ของจีน

“Youth” เล่าเรื่องราวสวยงามระคนโศกเศร้าของหนุ่มสาวชาวจีนที่เข้าปฏิบัติงานในส่วนวัฒนธรรม (คณะนาฏศิลป์) ให้แก่กองทัพช่วงปลายยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม”

จุดออกสตาร์ตของภาพยนตร์ คือปี 1976 ปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และปีที่ “ประธานเหมา” ถึงแก่อสัญกรรม

ก่อนที่ชีวิตของกลุ่มตัวละครนำจะเติบโต ระหกระเหิน พลัดพราก โดยมี “สงครามจีน-เวียดนาม” ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศช่วงทศวรรษ 1990 เป็นฉากหลัง

การเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดชะตากรรมของผู้คน ซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับชะตากรรม (ทางการเมือง) ของประเทศ ผ่านสายสัมพันธ์ความรักโรแมนติกภายในกรอบเวลายาวนานหลายทศวรรษ อาจชี้ชวนให้ผู้ชมนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆ พอสมควร

ไม่ว่าจะเป็น “Farewell My Concubine” (1993) โดย “เฉินข่ายเก๋อ” ที่เล่าเรื่องราวของคนเล็กๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม

“Comrades : Almost a Love Story” (เถียน มี มี่ 3,650 วัน รักเธอคนเดียว) (1996) หนังว่าด้วยชีวิตของหนุ่มสาวจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอพยพมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าบนเกาะฮ่องกง โดย “ปีเตอร์ ชาน” (ทั้ง “เถียน มี มี่” และ “Youth” ล้วนใช้เพลงของ “เติ้งลี่จวิน” เป็นองค์ประกอบ ในฐานะหมุดหมายสำคัญแห่งยุคสมัย คล้ายคลึงกัน)

ถ้ามองย้อนกลับมายังแวดวงหนังไทย ผลงานของ “เฝิงเสี่ยวกัง” ก็ทำให้นึกถึง “October Sonata รักที่รอคอย” (พ.ศ.2552) โดย “สมเกียรติ วิทุรานิช” ที่พูดถึงความรัก ความพลัดพราก ความหวัง และการส่งมอบอุดมการณ์ ระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเป็นบริบท “การเมืองเดือนตุลาคม”

“Youth” ไม่ได้ฉายภาพชีวิตหนุ่มสาวที่ร้าวรานแตกสลายใน/สืบเนื่องจากยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” กล่าวอีกอย่าง คือ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มิได้ส่งผลกระทบแง่ลบโดยตรงต่อชีวิตของเหล่าตัวละคร

ตรงกันข้าม ชีวิตของ “คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม” ในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน คือชีวาอันงดงามเปี่ยมสีสันของวัยเยาว์ ซึ่งนำไปสู่ภาวะโหยไห้อาลัยเมื่อหน่วยงานแห่งนี้ต้องปิดฉากลง ณ ต้นทศวรรษ 1980

ทว่าอีกด้าน “หน่วยงานด้านศิลปวัฒธรรม” ก็คือแหล่งรวมของเหล่า “อภิสิทธิ์ชน”

การเป็นทหารที่ทำงานด้านนาฏศิลป์ให้แก่กองทัพ นำไปสู่การมีชีวิตที่สุขสบายเหนือประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน กำลังพลในส่วนงานวัฒนธรรม ก็ย่อมลำบากตรากตรำน้อยกว่าทหารที่เป็นหน่วยรบ

คณะนาฏศิลป์ของกองทัพจึงประกอบขึ้นจากทั้งหนุ่มสาวที่มีทักษะฝีมือทางการแสดงและดนตรีจริงๆ ตลอดจนลูกๆ ของ “ผู้มีอำนาจในพรรค” ซึ่งไม่สามารถจะไปใช้ “แรงงาน” ในด้านอื่นๆ ได้

ภายหลังหน่วยงานถูกล้มเลิก สมาชิกหลายคนยังสามารถเสาะแสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิตได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะความสามารถเชิงศิลปวัฒนธรรมซึ่งพวกเขาได้รับการบ่มเพาะฝึกฝน

นอกจากฝึกซ้อมและตระเวนออกแสดงตามที่ต่างๆ (พร้อมทั้งร่วมซ้อมรบพอเป็นพิธี) ทหารหนุ่มสาวในหน่วยงานด้านวัฒนธรรม ก็ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างสุขสันต์ เขาและเธอมีเวลาว่างมากพอจะประกอบกิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมทั้งจับกลุ่มนินทา ล้อเลียน หัวเราะเยาะ หรือรังแกกลั่นแกล้งเพื่อนบางราย ซึ่งเป็น “คนชายขอบ” ประจำหน่วย

“คนชายขอบ” ในหน่วยงานอันเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์นี่เอง คือ ตัวละครหลักที่ “ถูกกระทำ” ในภาพยนตร์เรื่องนี้

ตัวละครนำชายของ “Youth” คือ เด็กหนุ่มฐานะยากจนซึ่งทำหน้าที่เสมือน “เบ๊” ประจำคณะนาฏศิลป์ ผู้คอยรับใช้และอำนวยความสะดวกแก่ทุกคน จนได้รับการยกย่อง/หยอกเย้า/กดทับให้เป็น “ประชาชนตัวอย่าง”

ส่วนตัวละครนำหญิง คือ เด็กสาวสมาชิกใหม่ของหน่วยงาน ผู้เติบโตในครอบครัวที่แตกร้าว เพราะพ่อถูกส่งตัวไปปรับทัศนคติในค่ายกักกัน (และเสียชีวิตลงก่อนหน้าจุดอวสานของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม”) จนเธอต้องพยายามดิ้นรนเสาะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในกองทัพ

แต่หญิงสาวกลับไม่ได้รับการต้อนรับจากเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ ทั้งเพราะพฤติกรรมผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อันเกิดจากปมในชีวิต และความบกพร่องทางร่างกายบางประการ คือ กลิ่นเหงื่อที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป

ทั้งสองคนค่อยๆ ถูกเขี่ยพ้นออกมาจากหน่วยงาน โดยตัวละครนำชายโดนเด้งไปหน่วยทหารช่าง หลังลักลอบฟังเพลงของ “เติ้งลี่จวิน” แล้วเคลิบเคลิ้มไปสารภาพรักกับนักร้องหญิงเสียงเอกประจำหน่วย ทว่าฝ่ายหญิงกลับร้องเรียน/ใส่สีตีไข่ว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ขณะที่ตัวละครนำหญิงก็รู้สึกทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่เพื่อนชายผู้เป็น “ประชาชนตัวอย่าง” ประจำหน่วย ได้รับ เธอจึงหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมอีกต่อไป จนถูกย้ายไปประจำหน่วยพยาบาล

ตัวละครนำทั้งคู่พลัดพรากไปคนละหน่วยคนละทิศทาง แต่กลับได้รับผลกระทบจากสงคราม “จีน-เวียดนาม” เหมือนกัน

ฝ่ายชายต้องสูญเสียอวัยวะระหว่างปฏิบัติภารกิจส่งกำลังบำรุง ส่วนฝ่ายหญิงทุ่มเทช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ จนได้รับการยกย่องเป็น “วีรสตรี” แต่คนที่ถูกเหยียดหยามมาทั้งชีวิตเช่นเธอกลับแบกรับเกียรติยศดังกล่าวไม่ไหว กระทั่งสติแตกกระเจิง

สงคราม “จีน-เวียดนาม” ในหนังเรื่องนี้ จึงไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะ “สงครามสั่งสอน” ที่ “ยักษ์ใหญ่” ขู่ปราม “ยักษ์เล็ก”

แต่ “เฝิงเสี่ยวกัง” กลับเลือกนำเสนอโศกนาฏกรรมที่สามัญชนชาวจีนคนเล็กคนน้อยต้องประสบจากสงครามดังกล่าว

หลังสงคราม ตัวละครนำชายและหญิงต่างมีบาดแผลทางร่างกายและจิตใจที่ฝังลึกยากเยียวยา อย่างไรก็ดี การหวนกลับมาพบกันกลางทศวรรษ 1990 และการตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันเมื่อล่วงเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ได้ช่วยให้ทั้งคู่มีโอกาสเยียวยาสมานแผลซึ่งกันและกัน

ในภาวะที่ “ช่วงชีวิตเยาว์วัย” ล่วงผ่านไปหมดแล้ว ส่วนสังคมจีนก็มีบางแง่มุมที่เปลี่ยนแปลงสุดกู่ชนิดไม่อาจหวนกลับ และมีบางแง่มุมที่ยังย่ำแย่เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม

ในภาพรวม “Youth” เป็นหนังชีวิตที่อบอุ่นกรุ่นๆ กำลังดี แต่ยังมี “จุดติดขัด” อยู่บ้างข้อสองข้อ

จากมุมมองส่วนตัว “เฝิงเสี่ยวกัง” อาจอยากเล่าเรื่องของคนซื่อ คนตรง คนมักน้อยไม่ทะเยอทะยาน หรือคนเหลาซิก ที่ “เอาดี” ไม่ได้ ในทุกๆ สังคมและทุกๆ ระบอบการปกครอง ซึ่งสะท้อนผ่านบุคลิกลักษณะของพระเอก

แต่ “คนที่เอาดีไม่ได้” ในทุกระบบ ก็ไม่จำเป็นจะต้อง “ดีงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง” และ “แบนราบ” โดยสิ้นเชิง ดังเช่นพระเอกผู้เป็น “ประชาชนตัวอย่าง” ในหนังเรื่องนี้

ตรงกันข้าม ดูเหมือนผู้กำกับฯ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ จะประสบความสำเร็จสูงกว่า ในการสร้างตัวละครนางเอกให้มีมิติซับซ้อนลุ่มลึก เธอจึงเป็นมนุษย์ “โดยสมบูรณ์” ผู้กอปรขึ้นจากความผิดบาป ความผิดแปลก อาการหลุดโลก อารมณ์เกรี้ยวกราดเจ้าคิดเจ้าแค้น และปูมหลังชีวิตที่รันทดรวดร้าว

อีกข้อที่น่าเสียดายคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอาการ “จบไม่ลง” ในช่วงท้ายๆ ส่วนหนึ่งคงเพราะนอกจากเส้นเรื่องหลักว่าด้วยชีวิตของตัวละครนำสองรายแล้ว หนังยังมี “ซับพล็อต” เกี่ยวกับชีวิตของตัวละครอื่นๆ เข้ามาพัวพันยุ่งเหยิงอีกเยอะแยะ

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง “เฝิงเสี่ยวกัง” น่าจะจงใจยืดขยายเรื่องราวให้ชีวิตพระเอก-นางเอก ต้องล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกทำลายให้แหลกละเอียดสิ้นซากแบบรวบรัดตัดตอน

เพราะหากเขาเลือกเส้นทางหลัง ตัวละครนำทั้งคู่ก็จะกลายสถานะเป็น “วีรบุรุษ-วีรสตรี-มรณสักขี” นิรนาม ที่ถูกกล่าวอ้างถึงอย่างเลื่อนลอย ไร้ชื่อเสียง ในเพลงปฏิวัติสักเพลง (หรือหลายเพลง)

แต่พอหนังเลือกเดินบนเส้นทางสายแรก ชีวิตที่เต็มไปด้วยตำหนิริ้วรอยของ “สามัญชน” คู่หนึ่งจึงยังดำรงอยู่ และปรากฏแจ่มชัดในความทรงจำของพวกเขาเองและมิตรสหายใกล้ชิดบางคน