ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : แผลเก่ากับความเป็นไทยแบบใหม่ หลังการฆ่าหมู่ 6 ตุลาฯ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หลังการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่ธรรมศาสตร์ช่วงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ผ่านไปกว่าหนึ่งปีเชิด ทรงศรี ทำภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ออกฉายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2520 โดยคนดูให้การตอบรับจนเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดของยุค ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีสายหนังไหนยอมซื้อหนังไปฉายต่างจังหวัดเลย

แม้โครงเรื่องของ “แผลเก่า” คือเรื่องรักที่ไม่สมหวังของไอ้ขวัญ-อีเรียมแต่ผิวหน้าของหนังอัดแน่นไปด้วยการสื่อสารว่าหนังแสดงความเป็นไทยตั้งแต่ต้น

ความสำเร็จของหนังจึงเป็นหลักฐานว่าหนังนำเสนอความเป็นไทยที่ขายได้ในปีนั้น แม้สายหนังจะประเมินว่าคนชนบทไม่ซื้อหนังที่อิงความเป็นไทยแบบนี้ก็ตาม

เพื่อให้เห็นภาพว่าแผลเก่าฉบับนี้ควบแน่นกับความเป็นไทยอย่างไร คุณเชิดทำสิ่งที่ไม่มีผู้กำกับฯ คนไหนทำ อย่างขึ้นข้อความในไตเติลเรียกร้องให้ “ช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ของชาติ”และสั่งการให้ผู้ชมสำแดง “ความเป็นไทย” รวมทั้งโฆษณาหนังผ่านคำขวัญ “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” ตลอดเวลา

นับตั้งแต่วันแรกที่หนังปรากฏเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษ “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิดถูกกล่าวขวัญว่าเป็นแถวหน้าของการถ่ายทอดความเป็นไทยแบบที่ “แผลเก่า” อีกสามฉบับไม่ได้ถูกยกย่องในลักษณะเดียวกัน

คำถามคือ คุณเชิดนำเสนอความเป็นไทยอย่างไรจนประสบความสำเร็จในการทำแผลเก่าฉบับ 2520 แบบสวนทางกับสายหนังซึ่งเชี่ยวชาญที่สุดในการประเมินว่าหนังเรื่องไหนซื้อไปแล้วไม่มีคนดู?

โดยทั่วไปแล้วเรามักพูดถึงความเป็นไทย หรือ “ชาติ” ราวกับเป็นสภาวะธรรมชาติที่ติดตัวมาโดยกำเนิดจนทุกคนเข้าใจคำนี้ตรงกัน แต่ที่จริง “ชาติ” มีความหมายลื่นไหลจนเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา

ส่วนคำว่าความเป็นไทยก็มีความหมายผันผวนจนมีนิยามที่ไม่คงเส้นคงวาด้วยเหมือนกันชาติในอุดมคตินั้นหมายถึงประชาชนหรือดินแดน แต่ถ้าแก่นของชาติคือประชาชนจริงๆ ทำไมบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติจึงเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยมากและหากชาติคือดินแดนตามมโนคติ “มาตุภูมิ” ทำไมคนส่วนใหญ่ในชาติไม่มีที่ดินจนที่จริงแล้วดินแดนในชาติเป็นของเจ้าที่ดินกว่าคนทั่วไป นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องความเป็นไทยเสนอไว้ตรงๆ ว่าความจริงแล้วผู้มีอำนาจพูดถึงชาติหรือความเป็นไทยวนเวียนกับสามเรื่องคือ วัด, วัง และประเพณีจนเอาเข้าจริงๆ ใครอยากให้อะไรในประเทศนี้เป็นไทย ก็ต้องหาทางให้สิ่งนั้นมีกำเนิดที่เชื่อมโยงกับสามเรื่องเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวถึงสำรับอาหาร

ที่จริงแล้วความแตกต่างระหว่างชาติในอุดมคติกับชาติที่เป็นจริงๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายสังคม และเมื่อประชาชนตื่นรู้ว่าชาติมีเนื้อในไม่ตรงกับปก โอกาสที่จะเกิดการตั้งคำถามว่าตกลงชาติเป็นของใครก็จะขยายตัวต่อไปอีก การจรรโลงความเป็นชาติจึงต้องทำให้คนไม่ตั้งคำถามเรื่องชาติตลอดเวลาในกรณีสังคมไทย

การจรรโลงความเป็นชาติไปไกลถึงขั้นทำให้การตั้งคำถามเรื่องชาติกลายเป็นเรื่องที่ “ไม่ไทย” จนกระทั่งมีความหมายเท่ากับ “ชังชาติ” หรือเข้าข่ายถูกกล่าวหาว่าทำลายความเป็นชาติจนเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางกฎหมายหรือเผชิญการประทุษร้ายในทันที

หากถือว่าคุณเชิดสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ในปี 2520 จนเป็นหนังที่โดดเด่นด้านการถ่ายทอดความเป็นไทย

ข้อเท็จจริงที่ต้องพูดให้ครบคือ คุณเชิดทำหนังเรื่องนี้โดยมีพื้นที่ให้กับความเป็นไทยประเภทวัด, วัง และประเพณี หรือแม้กระทั่ง “วัฒนธรรม” น้อยมากเหลือเกิน

แผลเก่าเล่าเรื่องความรักของหนุ่ม-สาวในทุ่งบางกะปิ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นชาวนารายย่อยในชุมชนหมู่บ้านเขตที่ราบภาคกลาง

และถึงคุณเชิดจะไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นตอนไหน ฉากทั้งหมดก็ชวนให้คิดว่าเรื่องในหนังเกิดในเวลาที่ “ไม้ เมืองเดิม” ประพันธ์นวนิยายในปี 2479 นั่นเอง แผลเก่าในนวนิยายพูดถึงชีวิตชาวนาในสังคมที่คณะราษฎรล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สี่ปีแล้วและแผลเก่าในหนังของเชิดก็สะท้อนว่าคนทำหนังในปี 2520 มองสังคมไทยในปี 2479 อย่างไรในเรื่องเล่าว่า ด้วยชาวนาในชุมชนหมู่บ้านฉบับนี้วัดดำรงอยู่แค่ในสถานะลานก่อเจดีย์ทรายเพื่อให้ขวัญเกี้ยวเรียมสงฆ์โผล่ให้เห็นเฉพาะในฉากสวดศพ

ส่วนขวัญกับเรียมเคารพแต่ศาลเจ้าพ่อไทรซึ่งเป็น “ผี”

ขณะที่ไม่มีตัวละครไหนแสดงความซาบซึ้งในรสพระธรรมเลย ยกเว้นแต่พ่อขวัญซึ่งอยากให้ลูกบวชเรียน

นอกจากเชิดจะจำลองโลกของชาวนาเป็นภาพยนตร์โดยที่วัดหรือพุทธศาสนาแทบไม่มีบทบาทเลย “วัง” หรืออำนาจรัฐส่วนกลางก็หายไปเฉยๆ

ทั้งที่เชิดสร้างแผลเก่าฉบับนี้ให้เต็มไปด้วยความรุนแรงตั้งแต่การฆ่า, ข่มขืน, ผัวซ้อมเมีย ฯลฯแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐโผล่มาทำหน้าที่รักษากฎหมายในกรณีใดๆ

ในจักรวาลของเชิดตามที่ปรากฏในแผลเก่าฉบับนี้ รัฐแทบจะไม่ดำรงอยู่ในชุมชนชาวนาในทุ่งบางกะปิทศวรรษ 2470 ทั้งที่การปฏิรูประบบราชการเพื่อรวบอำนาจสู่ส่วนกลางของรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นกว่าสี่สิบปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นคือ ชาวนาในทุ่งบางกะปิยังห่างเหินกับศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในฉากซึ่งขวัญพายเรือจากทุ่งบางกะปิไปตามหาเรียมซึ่งถูกพ่อเอาตัวไปขายเป็นทาสให้คุณนายทองคำ

ผู้ชมจะเห็นภาพขวัญเดินเร่ร่อนหาเรียมแบบชาวนาที่ไม่รู้จักตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ แม้แต่น้อยนิดและในนวนิยายนั้น ขวัญเดินถามหาบ้านคุณนายทองคำตามท่าน้ำและถนนสายต่างๆ นานสามเดือนจึงยุติลงเส้นทางตามหาเรียมจากทุ่งบางกะปิ หมายถึงขวัญต้องแจวเรือจากคลองแสนแสบเข้าคลองมหานาคแล้วตัดเข้าคลองโอ่งอ่างเพื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางในการแจวเรือเส้นนี้มาเขตพระนครยาวประมาณ 70 กิโลเศษๆ แต่กรุงเทพฯ ในเวลานั้นคืออีกโลกที่ไกลเกินความรับรู้ของชาวนาทุ่งบางกะปิอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถือว่าแผลเก่าของคุณเชิดโดดเด่นด้านการถ่ายทอดความเป็นไทย “ประเพณี” ที่คุณเชิดนำเสนอในหนังเรื่องนี้ก็แตกต่างจาก “ประเพณี” หรือ “วัฒนธรรม” ในความเข้าใจของคนไทยด้วยเพราะไม่มีภาพตัวละครสวมชฎา, รำฉุยฉายเบญกายแปลง, ประชันระนาดเอก, ฟังปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ฯลฯ ให้เห็นเลย

ในแผลเก่าฉบับนี้ “ประเพณี” หรือ “วัฒนธรรม” หมายถึงเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นถิ่นของชาวนาเขตภาคกลางอย่างเพลงเหย่ย, เพลงนางหงส์, เพลงลิเก, เพลงพวงมาลัย, เพลงพาดควาย, เพลงกล่อมขวัญนาค, เพลงกล่อมลูก รวมทั้งการรำพาดผ้าในฉากเปิดเรื่องที่มีนักแสดงเป็นร้อยในซีนที่ยาวกว่าหกนาที

จริงอยู่ว่าเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของ “ประเพณี” และ “วัฒนธรรม” ที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมศิลปากรอนุรักษ์มานานแต่ในโครงสร้างของวัฒนธรรมประเพณีแบบไทยๆ การละเล่นเหล่านี้มีสถานะเป็นเพียงของ “พื้นบ้าน”, ไม่มีศักดิ์เท่าโขน และไม่มีทางถูกสดุดีเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย

ด้วยการนำเสนอของเชิด ทรงศรี อย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ฉบับ 2520 เพลงและการละเล่นซึ่งในตอนนั้นจนถึงตอนนี้ถูกจัดประเภทว่าเป็นของวรรณะ “พื้นบ้าน”

กลับเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดเรื่อง “ความเป็นไทย” ตลอดเวลา

เมื่อใดที่ใครสักคนยกย่องแผลเก่าฉบับคุณเชิดในแง่ถ่ายทอดความเป็นไทย เมื่อนั้นโลกทัศน์แบบคุณเชิดว่าเพลงและการละเล่นในวิถีชีวิตของชุมชาวนา “เป็นไทย” เหมือนประเพณีราชสำนักและวัฒนธรรม “ผู้ดี” ก็จะถูกสืบทอดให้มีชีวิตต่อไปโดยที่ผู้พูดเองอาจไม่รู้ตัว

ภายใต้แกนเรื่องว่าด้วยความรักของหนุ่ม-สาวที่จบด้วยความตาย เชิดสร้างจักรวาลของความเป็นไทยที่ปลดแอกวัด, วัง และประเพณีไปแทบทั้งหมด

ความเป็นไทยในหนังคือวิถีชีวิตชาวนาจนในชุมชนหมู่บ้านภาคกลาง ความสำเร็จของหนังมาจากการนำเสนอความเป็นไทยแบบ “ประชาชน” ยิ่งกว่า “ชนชั้นนำ”

แม้คุณเชิดจะประกาศตรงๆ ว่าขอบคุณความสนับสนุนของสำนักนายกฯ ในรัฐบาลจากการรัฐประหารหลังฆ่าหมู่ประชาชนวันที่ 6 ตุลาคมแต่แผลเก่าไม่ใช่หนังโฆษณาชวนเชื่อความเป็นไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมเว้นเสียแต่จะตีความว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเป็นไทยคือการผลิตซ้ำอุดมการณ์ของรัฐทุกกรณีการขยับย้ายความเป็นไทยให้เคลื่อนจากชนชั้นนำสู่ชาวนาแบบเนียนๆ

คือความแหลมคมของการทำหนังซึ่งเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ชนชั้นนำสามัคคีปราบปรามประชาชนโดยกล่าวหาว่าคนเหล่านั้น “ไม่ไทย”จนถึงขั้นจับคนเผาทั้งเป็น หรือแขวนคอให้ขาดใจตาย แล้วทำร้ายศพซ้ำในวันที่ 6 ตุลาคม 2519