บทวิเคราะห์ : “นอร์ท มาซิโดเนีย” ชื่อนี้สำคัญ?

สาธารณรัฐมาซิโดเนีย เรียกกันติดปากเฉยๆ ว่ามาซิโดเนีย เป็นประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป

เดิมทีเคยเป็นดินแดนในอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาเวียเก่า

แต่อย่าไพล่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นจังหวัดมาซิโดเนีย เขตปกครองทางตอนเหนือที่ใช้ชื่อเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศกรีซ เพราะเป็นคนละเรื่อง

แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่อง ที่เป็นข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างมาซิโดเนียกับกรีซ ชาติเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันมายาวนานหลายทศวรรษ ที่ฝ่ายหลังหวั่นกลัวว่ามาซิโดเนียจะทะยานอยากแอบอ้างเอาดินแดนทางตอนเหนือที่มีชื่อเดียวกันของกรีซไป

จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องชื่อประเทศของมาซิโดเนียเป็นสิ่งที่กรีซออกมาคัดค้านชนิดหัวชนฝามาตั้งแต่มาซิโดเนียประกาศเอกราชในการแยกตัวออกจากอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาเวียตั้งแต่ปี 2534 แล้ว

และเอาจริงๆ แล้วข้อพิพาทในเรื่องนี้ระหว่างสองประเทศยังมีปูมหลังความขัดแย้งย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ยุคเก่านับหลายร้อยปีที่ดินแดนมาซิโดเนียและกรีซเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันก่อนจะมาถึงยุคใหม่ที่มีการแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐชาติใหม่กันขึ้น

ที่ในเวลาต่อมาการคัดค้านอย่างแข็งกร้าวเรื่องชื่อประเทศมาซิโดเนียของกรีซ ยังเป็นผลให้สหประชาชาติซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือสำคัญของประชาคมระหว่างประเทศ เมื่อกล่าวอ้างถึงประเทศมาซิโดเนีย ก็จะเรียกขานว่าอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนียแทน

เพื่อไม่ให้เกิดภาวะบัวช้ำน้ำขุ่น

 

ก่อนที่เรื่องนี้จะมีพัฒนาการก้าวมาสู่การจัดลงประชามติของชาวมาซิโดเนียไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยการผลักดันอย่างเต็มสูบจากรัฐบาลโซราน เซฟ นายกรัฐมนตรีมาซิโดเนีย ในประเด็นที่ว่า “เห็นชอบกับการจะให้เปลี่ยนชื่อประเทศมาซิโดเนียใหม่เป็น “นอร์ท มาซิโดเนีย” หรือไม่” โดยยกเอาผลประโยชน์แห่งชาติในการที่ชาวมาซิโดเนียจะได้ก้าวเข้าสู่อ้อมอกของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองของชาวมาซิโดเนีย เป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้ชาวมาซิโดเนียสนับสนุนเห็นชอบในวาระแห่งชาตินี้

โดยการจัดแสดงประชามติเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนี้ เป็นผลมาจากการบรรลุข้อตกลงร่วมกันหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลมาซิโดเนียของนายเซฟกับรัฐบาลนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อประเทศของมาซิโดเนียในท้ายที่สุด บนความสมประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

ที่เป้าหมายหลักสำคัญของฝ่ายมาซิโดเนีย คือการที่จะได้ร่วมเข้าเป็นสมาชิกภาพในกลุ่มอียูและนาโต โดยปราศจากการขัดขวางจากกรีซอีกต่อไป

ส่วนกรีซเองก็อาจจะเกิดความวางใจที่จะมีต่อมาซิโดเนียได้ในระดับหนึ่ง

ผลการลงประชามติในวาระแห่งชาตินี้ของชาวมาซิโดเนียปรากฏออกมาว่า เสียงส่วนใหญ่มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ “เห็นด้วย” กับการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นนอร์ท มาซิโดเนีย

ทว่าปัญหาใหญ่ก็คือ ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิลงประชามตินั้นมีจำนวนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้น จากประชากรในประเทศทั้งสิ้นราว 2.1 ล้านคน

ขณะที่ตามรัฐธรรมนูญมาซิโดเนียกำหนดให้จำเป็นจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิโหวต

นั่นทำให้พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านการเปลี่ยนชื่อประเทศมาซิโดเนียออกมาโต้แย้งถึงความไม่ชอบธรรมของผลประชามตินี้

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเซฟประกาศกร้าวเรียกร้องให้รัฐสภาให้การรับรองเห็นชอบในผลการลงประชามติ ที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้จะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดในการให้สัตยาบันรับรองผลประชามติเพื่อที่จะให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

แต่ก็ดูจะเป็นงานหนักอีกสำหรับรัฐบาลนายเซฟที่พรรคร่วมรัฐบาลกุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 69 เสียงจากทั้งสิ้น 120 เสียง ทำให้นายเซฟจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเพิ่มเติมเพื่อความแน่นอนให้ได้อย่างน้อย 11 เสียงในการเดินหน้าเปลี่ยนชื่อประเทศต่อไปให้ได้

ส่วนพรรคฝ่ายค้านเองก็มีพันธมิตรสำคัญอย่างประธานาธิบดียอร์ช อิวานอฟ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างสุดตัว ที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านอย่างแข็งกร้าวว่า ข้อตกลงการเปลี่ยนชื่อประเทศของมาซิโดเนียกับกรีซ เป็นข้อตกลงที่เป็น “การฆ่าตัวตายทางประวัติศาสตร์” ชัดๆ ขณะที่นายฮริสเทียน มิชโคสกี แกนนำฝ่ายค้านบอกว่า ข้อตกลงนี้จะสร้างความอัปยศให้กับมาซิโดเนีย

ด้านนายเซฟกล่าวยืนยันกับบีบีซีว่า การเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ไม่ใช่เพราะเราต้องการ แต่ทำเพื่ออนาคตของมาซิโดเนียในอียูและนาโต ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวมาซิโดเนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลมาซิโดเนียยังขู่จะใช้ไม้ตาย โดยให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเร็วกว่ากำหนด หากรัฐสภาไม่รับรองผลประชามติครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่จะต้องรอดูผลกันต่อไป ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเช่นไร

ในขณะที่กระบวนการสุดท้ายของการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ของมาซิโดเนียเอง ยังต้องผ่านความสนับสนุนเห็นชอบในข้อตกลงนี้จากรัฐสภาของกรีซเองด้วย ที่ตามข่าวบอกว่าก็มีการงัดข้อกันอยู่ภายในด้วยเช่นกัน…