ซินเดอเรลล่า และปลาบู่ทอง มีที่มาจากนิทานของชาวจ้วง?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นับจากที่วอลต์ดิสนีย์ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเมื่อ พ.ศ.2493 ทำให้ใครต่อใครต่างก็รู้จักกับ “ซินเดอเรลล่า” กันไปทั้งโลกเลยนะครับ

นิทานเรื่อง “นางซิน” ในฉบับของวอลต์ดิสนีย์นั้นเล่าถึงสาวน้อยชะตาโศก ที่ถูกทั้งแม่เลี้ยงและลูกสาวที่ติดแม่เลี้ยงมาอีกสองคน สารพัดสับโขกอยู่หลังครัว

จนในท้ายที่สุดนางฟ้าแม่ทูนหัวก็โผล่มาเนรมิตชุดราตรีสีฟ้าสวยกับรองเท้าแก้ว พร้อมด้วยรถม้าที่เสกขึ้นมาจากฟักทอง ขับพาไปงานเลี้ยงของเจ้าชายในวัง จนได้เต้นรำและพบรักกับเจ้าชาย

น่าเสียดายที่นางซินต้องรีบกลับออกมาก่อนเที่ยงคืน เพราะมนต์วิเศษของนางฟ้าแม่ทูนหัวจะคลายลงในเวลาที่ว่า และความเร่งรีบก็ทำให้เธอทำรองเท้าแก้วหลุดทิ้งไว้ข้างหนึ่ง

เจ้าชายจึงนำเอารองเท้าแก้วข้างนั้น ประกาศหาคู่แต่งงานจากผู้หญิงโสดสนิทภายในเมืองที่สามารถสวมใส่รองเท้าข้างนี้ได้พอดิบพอดี และแน่นอนว่าเรื่องราวย่อมต้องจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ตามสไตล์ของวอลต์ดิสนีย์ เมื่อผู้หญิงทั้งเมืองก็มีแค่นางซินคนเดียวเท่านั้นที่สวมรองเท้าแก้วข้างนั้นได้ จนได้แต่งงานกับเจ้าชายไปในที่สุด

แต่นิทานเรื่องนางซินที่วอลต์ดิสนีย์เลือกเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนนั้น ก็เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเรื่องเล่าเกี่ยวกับซินเดอเรลล่าสารพัดสำนวนที่มีอยู่ในโลกตะวันตกเท่านั้น

บางสำนวนเรื่องราวก็ไม่ได้พาฝันและโรแมนติกไปเสียหมด

บางสำนวนก็เล่าถึงชะตากรรมของบรรดาหญิงสาวผู้อยากแต่งงานกับเจ้าชายรูปงามเสียจนยอมตัดบางส่วนของเท้าตนเอง เพื่อให้ใส่เข้าไปในรองเท้าแก้วข้างนั้นได้เลยทีเดียว

 

ว่ากันว่านิทานเรื่องซินเดอเรลล่า มีบันทึกเก่าแก่ที่สุดจดเอาไว้เมื่อปี พ.ศ.2180 โดยชาวอิตาลีชื่อจิอัมบาตติสตา บาซิเล่ (Giambattista Basile) ที่เขียนถึงเรื่องของเจ้าหญิงเซโซลลา (Zezolla) ผู้ถูกแม่เลี้ยงใจร้ายใช้งาน และเปลี่ยนชื่อของเธอเป็น “เซเนเรนโทลา” (Cenerentola) ซึ่งแปลว่า “นางขี้เถ้า” ไม่ต่างจากนางซิน (cinder ในภาษาอังกฤษแปลว่าขี้เถ้า เช่นเดียวกับคำว่า cenere ในภาษาอิตาลี) หลังจากพ่อผู้เป็นกษัตริย์ของเธอตายลง

แต่นิทานเรื่องนางซินสำนวนที่โด่งดังที่สุดเป็นของชาร์ลส์ แปร์โรลส์ (Charles Perrault) ชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2240 ซึ่งเรียกชื่อนางซินด้วยสำเนียงฝรั่งเศสว่า ซงดริลลง (Cendrillon) ซึ่งจะถูกแปลออกมาในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษพร้อมชื่อซินเดอเรลล่า

ดังนั้น จึงมักจะเชื่อกันมาตลอดว่านิทานเรื่องนี้เป็นของเมด อิน ยุโรป มาตั้งแต่แรก จนกระทั่งต่อมาได้มีการแปลหนังสือเก่าที่ชื่อ “โหย่วหยางจ๋าจู่” หรือ “เรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเมืองโหย่วหยาง” ที่รวบรวมขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ถังของจีนโดยต้วนเฉิงซี (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1346-1406) นี่แหละครับที่ทำให้ใครต่อใครต้องเปลี่ยนความคิด

เพราะว่าในหนังสือโบราณสมัยราชวงศ์ถังเรื่องที่ว่านี้ ได้บันทึกนิทานว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวชะตาโศกอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า “เย่เสี้ยน” เอาไว้ด้วย

 

นิทานเรื่องนี้เล่าว่า เย่เสี้ยนเป็นลูกหัวหน้าเผ่าของพวกมนุษย์ถ้ำ ต่อมาพ่อและแม่ตายลง ก็เลยต้องอยู่กับแม่เลี้ยงที่มีลูกสาวติด

แม่เลี้ยงใช้งานเย่เสี้ยนเหมือนทาส ทั้งให้ตัดฟืนในที่อันตรายและไปตักน้ำในบ่อที่ลึก แต่ที่บ่อน้ำก็ทำให้เย่เสี้ยนได้พบปลาคาร์พครีบแดง ที่มีตาสีทอง

ปลาตัวนี้ตอนแรกตัวนิดเดียว เย่เสี้ยนจับใส่ไว้ในชาม วันรุ่งขึ้นก็โตจนตัวเต็มชาม เธอจึงต้องเปลี่ยนภาชนะสำหรับเลี้ยงใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นปลาก็โตขึ้นจนเต็มภาชนะทุกครั้ง จนต้องปล่อยในบ่อ จนทั้งสองก็เป็นเพื่อนรักกันในที่สุด

วันหนึ่งพี่สาวลูกแม่เลี้ยงของเธอแอบตามไปดูที่บ่อจึงเห็นเย่เสี้ยนคุยกับปลา ก็เกิดโทสะ เพราะไม่อยากให้เย่เสี้ยนมีเพื่อน

จนออกอุบายร่วมกับแม่โดยการขอยืมเสื้อผ้าเย่เสี้ยนมาใส่ แล้วไปหลอกปลามาฆ่า

จากนั้นก็ทำเป็นอาหารเย็น

เย่เสี้ยนรู้เข้าก็เสียใจมาก แต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนฟ้า (ข้อความในหนังสือโหย่วหยางจ๋าจู่ไม่ระบุเพศของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า) ลงมาบอกให้เธอเอาก้างปลาใส่ภาชนะ แล้วฝังไว้ที่ขาเตียงทั้งสี่มุม

และกำชับว่า หากต้องการสิ่งใดให้ภาวนากับก้างปลา แล้วจะได้ทุกสิ่งตามต้องการ

 

ต่อมาก็ถึงงานเทศกาลปีใหม่ ที่หนุ่มสาวในเมืองของเธอจะออกไปเกี้ยวพาราสีกัน แม่เลี้ยงไม่ยอมให้เย่เสี้ยนไป และเย่เสี้ยนก็ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ จะใส่ไปงาน เมื่อแม่เลี้ยงกับลูกสาวออกไปแล้ว เธอจึงภาวนากับก้างปลา ทันใดนั้นเธอก็มีชุดสวยสีน้ำเงินกับรองเท้าทองคำใส่ไปงาน ในงานแม่เลี้ยงกับพี่เลี้ยงจำเธอได้ เธอจึงรีบหนีกลับ แต่ทำรองเท้าหลุดไว้ข้างหนึ่ง

จากนั้นมีพ่อค้าไปพบรองเท้าเข้าก็เอาไปขายจนส่งต่อไปถึงกษัตริย์บนเกาะแห่งหนึ่งซึ่งควบคุมเกาะเล็กเกาะน้อยอีกนับพัน กษัตริย์ได้เอารองเท้าไปให้หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานในเมืองของเย่เสี้ยนทดลองสวมใส่ จนสุดท้ายมีแค่เย่เสี้ยนที่ใส่ได้คนเดียว จึงแต่งงานกัน

และไปเป็นราชินีที่เกาะแห่งนั้นในที่สุด

 

แน่นอนว่า ถึงแม้จะมีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างไปจากเรื่องของนางซินในยุโรป แต่ก็ชวนให้ระลึกถึงขึ้นมาอย่างอดไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของรองเท้าและกษัตริย์ผู้หลงรักเธอ ดังนั้น จึงไม่มีใครปฏิเสธเลยนะครับว่า เรื่องของเย่เสี้ยนนี่แหละ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดนิทานเรื่องนางซิน

แต่นิทานนางเย่เสี้ยนก็ไม่ใช่เรื่องที่มีต้นฉบับมาจากชาวจีนอยู่ดี เพราะนายต้วนเฉิงซีคนเขียนเขาได้บอกเอาไว้ด้วยว่า เป็นนิทานที่เขาได้รับฟังต่อมาจากคนรับใช้ที่ชื่อหลี่สื้อหยวน

และต้วนเฉิงซีก็ยังระบุเอาไว้ด้วยว่า หลี่สื้อหยวนคนนี้ก็ไม่ใช่ชาวจีนฮั่น แต่เป็นชนพื้นเมืองในเขต “ยงโจว” ซึ่งใครหลายคนอธิบายเอาไว้ว่า คือชื่อเดิมของพื้นที่บริเวณเมืองหนานหนิงในมณฑลกวางสี ประเทศจีนปัจจุบัน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทกลุ่มใหญ่ ที่เรียกกันว่า “จ้วง”

ที่สำคัญก็คือ หลี่สื้อหยวนคนนี้อ้างเอาไว้ด้วยว่า พ่อของเย่เสี้ยนนั้นเป็นหัวหน้าของชาวถ้ำจากเมืองยงโจวเช่นกัน

แต่ชาวจ้วงนั้นไม่ใช่ “มนุษย์ถ้ำ” (หรือ cave dweller ตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ) นะครับ นักวิชาการหลายท่านที่ศึกษาเรื่องนี้ในระยะหลังก็ทราบดี จึงมีคำอธิบายในโลกภาษาอังกฤษไปในทิศทางที่ว่า คำว่ามนุษย์ถ้ำในที่นี้ น่าจะหมายถึงคนที่อาศัยอยู่บนภูเขา (ก็ “ชาวเขา” นั่นแหละ) มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้รู้เกี่ยวกับจีนศึกษาอย่างคุณทองแถม นาถจำนง ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า คำว่า “ถ้ำ” ในที่นี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด เพราะชนพื้นเมืองที่พูดภาษาตระกูลไทในกวางสีและกุ้ยโจวเรียกเขตการปกครองของตนเองว่า “ต้ง” ซึ่งก็คือคำว่า “ท่ง” หรือ “ทุ่ง” ในภาษาไทย ชาวจีนฮั่นได้ยินเข้าก็จดด้วยตัวอักษร “ต้ง” (?) ที่แปลว่า “ถ้ำ” จนกลายเป็นมนุษย์ถ้ำมันเสียอย่างนั้น

ดังนั้น นางเย่เสี้ยนจึงน่าจะเป็นชาวจ้วง มากกว่าชาวจีน

 

และเรื่องราวต่างๆ ในนิทานเรื่องของนางเย่เสี้ยน ก็แสดงให้เห็นถึงธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาวจ้วงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับรองเท้า เรื่องของการขุดบ่อเลี้ยงปลา และการใช้ก้างปลาในพิธีกรรม

เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากฟ้า ซึ่งก็คือ “ผี” หรือ “แถน” ซึ่งสามารถให้ทั้งคุณทั้งโทษ และไม่มีเพศที่ชัดเจน

รวมไปถึงประเพณีการจับคู่เกี้ยวพาราสีกันในช่วงเทศกาลสำคัญ และชุดที่ใส่ในพิธีเหล่านี้ ซึ่งก็มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละเผ่า แน่นอนว่าหลายเผ่าก็ใช้สีฟ้า หรือสีน้ำเงินนั่นเอง (ประเด็นเรื่องชุดออกงานสีฟ้าของนางเย่เสี้ยนนี้ ยังสำคัญพอที่จะทำให้ซินเดอเรลล่าฉบับวอลต์ดิสนีย์นั้นต้องสวมชุดสีฟ้าไปในงานเลี้ยงเต้นรำของเจ้าชายเลยทีเดียว)

ในกลุ่มของชาวจ้วงเองก็มีนิทานเรื่องคล้ายๆ กับนางเย่เสี้ยนอีกหลายๆ สำนวน บางสำนวนก็ไม่มีปลาคาร์พครีบแดง แต่เป็นควาย หรือเต่า และมีรายละเอียดต่างๆ กันไป ไม่ต่างอะไรกับนิทานเรื่องนางซินในยุโรป ที่มีทั้งเวอร์ชั่นที่สวมรองเท้าแก้วและรองเท้าทองคำ (ไม่ต่างอะไรกับเย่เสี้ยน)

และการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชาวจ้วงกับผู้คนในอุษาคเนย์ รวมไปถึงการขยายตัวของการพูดภาษาตระกูลไทในดินแดนแถบนี้ ก็นำเอาพล็อตนิทานเรื่องนี้มายังภูมิภาคแห่งนี้ด้วย โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคมวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่จะเลือกรับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่คนไทยจะมีนิทานเรื่องอีเอื้อยในสังคมที่ไม่ใส่รองเท้า จะได้ไม่ไปทำรองเท้าหล่นในงานเลี้ยงของเจ้าชาย แต่เลือกที่จะนั่งคุยกับ “ปลาบู่ทอง” ที่เป็นแม่ของตัวเองกลับชาติมาเกิด ตามความเชื่อแบบพุทธๆ ผีๆ

ในขณะที่ปลาของเย่เสี้ยน ที่คนจีนฮั่นแบบต้วนเฉิงซีจดไว้จะเป็นปลาคาร์พครีบแดง สีเดียวกับครีบและหางของมังกร ในสมัยที่ชนชั้นสูงและวัดวาอารามสมัยราชวงศ์ถังจะนิยมขุดบ่อเลี้ยงปลาคาร์พ