สุรชาติ บำรุงสุข : การเติบโตของรัฐมหาอำนาจใหม่ ความหวาดกลัวของรัฐมหาอำนาจเก่า!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คนเข้มแข็งทำในสิ่งที่เขาอยากทำ [ในขณะที่]คนอ่อนแอทนทุกข์ทรมานในสิ่งที่ต้องทำ”

ทูซิดิดิส

วลีทองประโยคนี้เป็นคำสอนที่นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนักยุทธศาสตร์ถูกพร่ำสอนเสมอมา

เพราะสถานะของรัฐในเวทีโลกมีสองอย่างคือ แข็งแรงและอ่อนแอ

และด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้เองที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐดำรงอยู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

และในหลายครั้งที่ความขัดแย้งนี้ขยายตัวเป็นสงคราม

ปรากฏการณ์เช่นนี้จากประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันมิได้เปลี่ยนแปลงไป

อันทำให้สงครามกลายเป็นคำถามสำคัญในทุกยุคทุกสมัย

คำถามอันเป็นอมตะนิรันดร์

ฉะนั้น นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนักยุทธศาสตร์จึงมีโจทย์สำคัญประการหนึ่งร่วมกันทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติก็คือ “อะไรคือสาเหตุของสงคราม” (หรือในทางวิชาการคือประเด็นเรื่อง causes of war)

หัวข้อนี้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการศึกษาในสาขาทั้งสอง และว่า ที่จริงมนุษย์เองก็มีความพยายามในการศึกษาประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน

อย่างน้อยความสนใจอย่างยาวนานนี้ปรากฏชัดจากผลงานในยุคกรีก ที่นักเรียนในสาขาการเมืองระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์จะต้องอ่าน (หรือถูกบังคับให้อ่านในชั้นเรียน) คือหนังสือเรื่องสงครามเพโลโพนิเชียนของทูซิดิดีส (Thucydides, History of the Peloponnesian War) แทบไม่น่าเชื่อว่าบันทึกการสงครามระหว่างนครรัฐกรีกคือ เอเธนส์กับสปาร์ตา ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล (the fifth-century BC) จะยังคงความเป็น “มหาตำรา” เล่มสำคัญที่นักศึกษาในยุคปัจจุบันยังต้องใช้เรียน

ในปัจจุบันได้มีนักวิชาการใหญ่ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ แอลิสัน หยิบเอาเรื่องสาเหตุของสงครามกลับมาสู่การถกเถียงอีกครั้ง และการนำเสนอนี้ยืนอยู่บนบ่าของชายชาวกรีกที่ชื่อทูซิดิดิส (ดูผลงานของ Graham Allison, Destined For War : Can America and China Escape Thucydides”s Trap?, 2017)

แม้ชาวกรีกผู้นี้จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่มรดกทางความคิดของเขายังถูกทิ้งไว้ให้คนในภายหลังต้องถกเถียงกันต่อ

จนอาจจะต้องถกกันต่อในอนาคตสำหรับผู้คนในภายภาคหน้าเช่นกันด้วย

และบทความนี้ก็มาจากแรงกระตุ้นของหนังสือเล่มดังกล่าว อีกทั้งยังมาจากแรงบันดาลใจจากหนังสือของทูซิดิดิสโดยตรง ที่แม้จะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับผู้คนในสังคมไทยก็ตาม

สถานะของผู้เขียนและหนังสือ

หนังสือสงครามเพโลโพนิเชียนได้รับการยกย่องในหลายๆ ด้าน สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว บันทึกการสงครามเล่มนี้เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ คือมีลักษณะที่เป็นการบันทึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (เป็น scientific history) ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานในการบันทึก และขณะเดียวกันก็พยายามบันทึกแบบไม่มีฝ่าย ด้วยการวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง

สำหรับนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หนังสือเล่มนี้คือ ตำราเล่มแรกของสาขา หรืออาจกล่าวยกย่องได้ว่าทูซิดิดิสเป็น “ผู้ให้กำเนิด” การศึกษาการเมืองระหว่างประเทศของสำนักสัจนิยม (the school of political realism)

ที่มีผู้รับมรดกอันเป็นดังบุตรคนใหญ่และเป็นหนึ่งในนักปรัชญาคนสำคัญของโลกคือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, Leviathan, 1651)

สำหรับรุ่นหลานต่อมาที่เป็นนักวิชาการคนสำคัญในสาขานี้อย่างฮันส์ มอร์เกนเทา (Hans Morgenthau, Politics Among Nations, 1948)

หรือนักปฏิบัติคนหนึ่งที่สำคัญอย่างเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger, A World Restored, 1957) เป็นต้น

จนกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า ทูซิดิดิสคือ “บิดา” ผู้ให้กำเนิดสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกปัจจุบัน

เพราะหลายคนมักจะคิดว่าวิธีคิดที่มองโลกและการเมืองแบบสัจนิยมนั้นเป็นผลพวงที่เป็นมรดกทางความคิดของแม็กเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli, The Prince, 1532)

จนลืมนึกไปว่าหนังสือจากสงครามในยุคกรีกเล่มนี้ต่างหากที่ทำให้สำนักสัจนิยมเกิดขึ้นในการศึกษาการเมืองโลก

แต่ถ้าเป็นนักศึกษาสงครามหรือนักประวัติศาสตร์สงคราม งานของทูซิดิดิสได้รับการยกย่องให้เป็น “ตำราประวัติศาสตร์สงครามเล่มแรกของโลก” ไม่เพียงเพราะการบันทึกที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเท่านั้น

หากยังมีลักษณะของการบันทึกในแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์เช่นกันด้วย

ซึ่งในประเด็นทั้งสองนี้ทำให้บันทึกการสงครามของทูซิดิดิสดำรงอยู่อย่างยาวนาน แม้จะเป็นการบันทึกเรื่องราวการสงครามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรีก

แทบไม่น่าเชื่อว่าบันทึกสงครามในยุคคลาสสิค (The Classical Age) ของโลก จะยังเป็นข้อคิดและบทเรียนที่คนรุ่นหลังยังต้องหวนกลับมาอ่านแม้จะอยู่ในยุคปัจจุบันของศตวรรษที่ 21 อีกทั้งยังเป็นบทเรียนด้านการทหารที่สำคัญด้วย

ประเด็นสำคัญที่ทูซิดิดิสเปิดทัศนะให้เราเห็นก็คือ สงครามเป็นเรื่องของมนุษย์ และมนุษย์ที่เป็นผู้นำ

ต่างจากแนวคิดเดิมในยุคกรีกขณะนั้นอย่างมากที่สงครามเป็นเรื่องของเหล่าทวยเทพ เช่น สงครามทรอย (Troy) [ซึ่งคนไทยอาจจะคุ้นกับเรื่องม้าไม้แห่งกรุงทรอย]

หรือสงครามแบบเดิมถูกมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งในเทพปกรณัม ซึ่งมีบรรดาเทพเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง

และในความขัดแย้งนี้ต่างก็มีเทพเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

สงครามจึงดำเนินไปด้วยอำนาจและอิทธิพลของเหล่าทวยเทพในฐานะของการเป็นคู่ขัดแย้งหลัก

แต่ทูซิดิดิสกลับเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในยุคนั้นที่สงครามเป็นเรื่องของผู้คนอย่างเราๆ ไม่ใช่เรื่องราวของทวยเทพ… สงครามกระทำด้วยคน ไม่ใช่ด้วยเทพ!

นัยของการศึกษาสงคราม

แม้สงครามจะเป็นเรื่องของคน แต่ก็มิได้มีความหมายว่าสงครามเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หากในความเป็นจริงแล้ว สงครามเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ปรากฏอยู่ในรูปของความเป็น “รัฐ” (หมายถึงนครรัฐในขณะนั้น)

แม้ปัจเจกบุคคลในฐานะตัวผู้นำจะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในเงื่อนไขของการเกิดและการดำเนินเรื่องของสงครามก็ตาม

เพราะว่าที่จริงในบันทึกการสงครามเล่มนี้ได้เล่าเรื่องราวของตัวบุคคลที่พฤติกรรมและการตัดสินใจที่มีผลต่อการสงครามไว้หลายคน

แต่จากบันทึกก็เห็นได้ชัดว่า ศูนย์กลางของปัญหาความขัดแย้งคือรัฐ

หรืออาจกล่าวได้ว่าปัญหาระหว่างรัฐคือจุดเริ่มต้นของการสงคราม ขณะเดียวกันปัจจัยทางธรรมชาติของมนุษย์ เช่น อารมณ์และยังรวมถึงบุคลิกและพฤติกรรมของแต่ละคนก็มีบทบาทโดยตรงในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐด้วย

นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวน่าสนใจในอีกมุมหนึ่งว่า ทูซิดิดิสเป็นชาวเอเธนส์และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพล (ในความหมายแบบสมัยใหม่คือเป็น “general” หรือเป็น “strategos” ในยุคกรีก) แต่เขาไม่ใช่นายพลผู้ชนะศึก

ตรงกันข้ามเขาเป็นนายพลผู้แพ้ในการรบที่แอมฟิโปลิส (The Battle of Amphipolis) อันเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับเอเธนส์

การที่เขาไม่สามารถรักษาเมืองนี้ไว้ได้จากการเข้าควบคุมของสปาร์ตา ทำให้เขาถูกเนรเทศออกจากเอเธนส์

แม้ทูซิดิดิสจะโต้แย้งว่า ไม่ใช่ความผิดของเขาที่ไม่สามารถรักษาเมืองนี้ไว้ได้ หากเป็นเพราะเขาไม่สามารถเดินทางไปได้ทันเวลาก่อนที่สปาร์ตาจะเข้าควบคุมเมืองดังกล่าวต่างหาก

แต่คำชี้แจงถึงความพ่ายแพ้ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับ เขาจึงถูกเนรเทศออกไปจากเอเธนส์เป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี แต่การต้องโทษด้วยการเนรเทศเช่นนี้กลับกลายเป็นคุณูปการใหญ่สำหรับวงวิชาการของคนรุ่นต่อมา

หรือดังที่เขากล่าวในบันทึกว่า การถูกเนรเทศทำให้ “เขามีเวลาว่างเพื่อที่สังเกตกิจการบางเรื่องอย่างเป็นพิเศษ”

และด้วยสถานะของผู้ถูกเนรเทศจากเอเธนส์ทำให้เขาสามารถเดินทางไปในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม และกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เขาสามารถเก็บข้อมูลที่เป็นทัศนะของคู่สงครามทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น เราอาจจะต้องกล่าวแบบคนเห็นแก่ตัวว่า ต้องขอบคุณผู้นำของเอเธนส์ที่เนรเทศทูซิดิดิส จึงทำให้คนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้มีผลงานการศึกษาสงครามที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของโลก

หากคำชี้แจงที่ยึดเมืองไม่ได้ได้รับการยอมรับ เขาก็คงเดินทางกลับสู่สนามรบ แล้วโลกคงไม่ได้มีหนังสือเล่มนี้เป็นมรดกของมนุษยชาติ

สมมติฐานแห่งการกำเนิดของสงคราม

เมื่อสงครามไม่ใช่เรื่องแห่งทวยเทพ และเป็นเรื่องของรัฐแล้ว ถ้าเช่นนั้นอะไรคือสาเหตุ

แน่นอนว่าในกรณีนี้ทวยเทพทั้งหลายไม่ใช่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งอีกต่อไป

คำอธิบายที่ชัดเจนในกรณีนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของทูซิดิดิสที่ว่า

“การเติบโตของเอเธนส์ และความกลัวที่แทรกซึมอยู่ในสปาร์ตา ทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ซึ่งหากกล่าวในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในเวทีโลกสมัยใหม่ก็คือ สภาวะของการแข่งขันระหว่างรัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ขึ้น และอีกฝ่ายเป็นรัฐมหาอำนาจเก่าที่กลัวการสูญเสียสถานะเดิมของตน

สภาวะเช่นนี้แอลิสันเรียกว่าเป็น “กับดักของทูซิดิดิส” (Thucydides”s Trap) เพราะความตึงเครียดในเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นเมื่อมหาอำนาจใหม่กำลังเติบใหญ่ขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมากต่อมหาอำนาจเดิม ซึ่งในสภาวะเช่นนี้เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (และไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุใหญ่หรืออาจเป็นเพียงเหตุการณ์ทั่วไป) ก็อาจกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่จนเป็นสงครามได้

สงครามในลักษณะเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องของเหล่าเทพทั้งหลาย หากแต่เป็นผลโดยตรงจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ที่เกิดจากการแข่งขันระหว่าง “ผู้มาใหม่” และ “ผู้อยู่เก่า”

และเมื่อการแข่งขันเช่นนี้ไม่มีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงได้แล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นย่อมปูทางไปสู่สงครามอย่างแน่นอน

เพราะต่างฝ่ายต่างจำต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน

และดังได้กล่าวแล้วว่า สภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่การเกิดของปัจจัยสำคัญคือสภาวะแห่ง “ความกลัว” ดังที่ทูซิดิดิสได้บันทึกไว้ว่า

“ชาวสปาร์ตาได้ออกเสียงให้มีการประกาศสงคราม เพราะว่าพวกเขากลัวการเติบโตทางอำนาจที่ไม่หยุดหย่อนของเอเธนส์”

แม้ว่าในช่วงต้นการขยายอำนาจทางทหารของเอเธนส์จะยังไม่เป็นภัยคุกคามต่อสปาร์ตาก็ตาม เนื่องจากสปาร์ตายังคงมีความเชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหารของฝ่ายตนว่า ยังเป็นมหาอำนาจหลักเหนือหมู่นครรัฐกรีกทั้งมวล

แม้ว่าจะเคยมีข้อเสนอให้เปิดการโจมตีตัดหน้าแบบทันที (preemptive attack) เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของเอเธนส์

แต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ ด้วยสปาร์ตายังมีความหวังที่จะใช้มาตรการทางการทูตเป็นเครื่องมือ

และเมื่อสถานการณ์ยิ่งเดินหน้าไป สิ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นก็คือ การขยายอำนาจของเอเธนส์ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับการขยายอำนาจของ “สายเหยี่ยว” ในสปาร์ตาที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

หรือกล่าวได้ว่า ยิ่งเอเธนส์เติบโตเท่าใด สายเหยี่ยวในสปาร์ตาก็ยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น

ในสภาวะเช่นนี้นครรัฐทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ยากจนกลายเป็น “สงครามระหว่างนครรัฐกรีกครั้งที่ 1” (The First Peloponnesian War)

กระนั้นในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตัดสินใจที่จะวางกรอบของสัญญาสันติภาพด้วยการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

แต่สันติภาพระหว่างนครรัฐกรีกที่มีอายุยาวถึง 30 ปี ก็เริ่มปิดฉากลง เพราะสาเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจทั้งสองไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

ความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง (structural stress) ไม่ได้หายไปด้วยเงื่อนไขของสัญญาสันติภาพ หากแต่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจใหม่และมหาอำนาจเดิมยังคงเป็นปริศนาที่แก้ไขไม่ได้ และซ่อนตัวอยู่กับภาวะสันติ

ในขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหารของตน

และเมื่อถึงจุดที่สปาร์ตาเริ่มรู้สึกรับไม่ได้กับสถานะของตนที่ถูกท้าทาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะรวมทั้งปัจจัยด้าน “อารมณ์” ของผู้นำที่เกี่ยวข้อง หรือที่สรุปได้ว่า “เอเธนส์เติบโตมีอำนาจมากขึ้นเท่าใด และสปาร์ตาก็กังวลมากขึ้นเท่านั้น”

เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดเช่นนี้แล้ว คำตอบข้างหน้าจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ สงคราม… สงครามในเงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามร่วมสมัยก็คือ ตัวแบบความขัดแย้งระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาจากสงครามนครรัฐกรีก จะสามารถนำมาอธิบายการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในโลกปัจจุบันได้หรือไม่

เพราะถ้าสหรัฐเป็นตัวแทนของรัฐมหาอำนาจเก่าและจีนเป็นตัวแทนของรัฐมหาอำนาจใหม่ แล้วการแข่งขันนี้จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ “กับดักของทูซิดิดิส” ที่จบลงด้วยสงครามหรือไม่…

ข้อคิดของทูซิดิดีสที่ทิ้งไว้ให้เราจากยุคกรีกดูจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!