การศึกษา / ส่อง… ‘วิกฤต’ มหาวิทยาลัยไทย ในภาวะ ‘หมาถูกน้ำร้อนลวก’??

การศึกษา

 

ส่อง… ‘วิกฤต’ มหาวิทยาลัยไทย

ในภาวะ ‘หมาถูกน้ำร้อนลวก’??

 

มีโอกาสไปร่วมงาน “มหกรรม 20 ปี แม่ฟ้าหลวงวิชาการ” เนื่องในวาระที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ครบรอบ 20 ปี เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ได้พบปะพูดคุยกับอดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตปลัดทบวงฯ และฟังผู้รู้หลายๆ ท่านพูดถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยไทย นิสิตนักศึกษา และอาจารย์ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะ “วิกฤต” จริงๆ

เพราะหากติดตามข้อมูลข่าวสารมาโดยตลอด จะเป็นที่รู้กันดีว่ามหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ต้องทยอยเลิกจ้างครูอาจารย์ และหลายแห่งต้องปิดตัวลง

นายมนตรี ด่านไพบูลย์

“นายมนตรี ด่านไพบูลย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในแวดวงอุดมศึกษาหลังพ้นตำแหน่งไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงเกาะติดข้อมูลข่าวสารมาโดยตลอด

อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ฟันธงว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังประสบกับภาวะวิกฤตจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์กันว่าวันหนึ่งต้องเจอ เพราะเราไม่ได้มองภาพรวมของประเทศ ที่ผ่านมาเรามองการเจริญเติบโตของบ้านเมือง มองการขยายตัวของประชากร กำลังคน และคิดแบบการขยายตัวของสังคมที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนสูงๆ จึงมุ่งผลิตบุคลากรระดับอุดมศึกษา แล้ววันหนึ่งเรามาถึงจุดที่เจอวิกฤต เนื่องจากไม่มีการวางกลไกระดับประเทศ

นายมนตรีบอกด้วยว่า มหาวิทยาลัย และผู้ที่คุมนโยบาย ไม่ได้มองสถานการณ์กำลังคนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สถาบันการศึกษาที่ผลิตครู รับนักศึกษาจำนวนมาก สถาบันการอาชีวศึกษาถูกยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นฐานการขยายตัวในการรองรับบุคลากรในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาในขณะนั้นมา อัตราการเกิดลดลง จึงเกิดปัญหาขึ้น

“ที่ผ่านมา เรามองแต่ข้างหน้า โตไป แล้ววิกฤตก็มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงไว ถ้าเราเรียนรู้แบบเก่า ศาสตร์เฉพาะทางเริ่มเปลี่ยน ผมเคยคุยกับอดีตปลัดทบวงฯ ว่าถ้าเรียนแบบเก่า ไม่เรียนรอบด้าน เรียนเฉพาะศาสตร์ใครศาสตร์มัน จะไม่ยืดหยุ่น วิธีคิด หรือมองเฉพาะมุมตัวเอง ทำให้ไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก คณะต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนเป็นสหวิชามากขึ้น เพื่อสร้างคนที่ได้หลายๆ ศาสตร์ เพราะวันนี้จะอยู่กับวิธีคิดเก่าๆ ไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นคณะต่างๆ จะค่อยๆ หายไปอีกเยอะ”

อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ยังมองว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลิตคน แต่มีปัญหาด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสั่งสม ผู้ที่บริหารด้านการศึกษา ต้องมองภาพรวมของประเทศเป็นหนึ่งเดียว ก็อาจมีมุมแก้ปัญหาได้มากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นายมนตรีกล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยไปไม่ถึงไหนเสียที

“ผมมองว่าถ้าใครเป็นรัฐมนตรี และเห็นวิสัยทัศน์ ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมา รัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งแค่ไม่นานแล้วเปลี่ยน ทำให้ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง”

!?!?

 

ขณะที่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุดมศึกษามาอย่างยาวนาน อย่าง “รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ” อธิการบดี มฟล. และอดีตปลัดทบวงฯ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้แบบถึงกึ๋น ว่า

มหาวิทยาลัยอยู่ในถ้ำ อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ถ้ำ ดูเฉพาะเรื่องที่สนใจ วิชั่นแคบ ดูเฉพาะเรื่องที่เรียนมา ทำประโยชน์เฉพาะเรื่องที่เรียนให้เกิดประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งตามที่เรียนมา ยิ่งหมอยิ่งวิชั่นแคบ

“ฟังจากผู้รู้คนอื่นๆ การวิเคราะห์สถานการณ์ของสังคม มองคนละด้าน คนละมุมที่จะเอาชีวิตให้รอด ดังนั้น ต้องหยุดคิดแบบมนุษย์ถ้ำ ต้องออกจากถ้ำ มองสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงว่าเกิดอะไรขึ้น และปรับตัวให้สอดคล้อง เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วชั่วข้ามคืน มหาวิทยาลัยจึงต้องคิดล่วงหน้า ไม่ใช่รอว่าอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้น คือทำอย่างไรให้เติบโต และดีกว่าคนอื่น เราจำเป็นต้องเป็นตัวของตัวเอง อะไรต้องเปลี่ยนแปลง และก้าวให้ทันโลก”

ทั้งนี้ การประยุกต์งานวิจัยเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรม ต้องมีภาคเอกชนช่วยกันคิดว่าจะเอาไปใช้ได้อย่างไรเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะวันนี้เราอยู่ในถ้ำไม่ได้ ออกจากถ้ำก็อาจไม่เข้มแข็งพอ จึงต้องดึงคนนอกเข้ามาในถ้ำ และช่วยกันคิด เพื่อทำสิ่งแปลกและใหม่ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง

ฉะนั้น ถ้าไม่คิดใหม่ เราจะกลายเป็น “หมาหางด้วน” นี่คือสิ่งที่ รศ.ดร.วันชัยฟันธงแบบไม่ลังเล!!

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ

 

ส่วนประเด็นที่อธิการบดี มฟล.เห็นว่าเป็น “จุดอ่อน” ของมหาวิทยาลัยไทยในขณะนี้ คือมุ่งเน้นให้อาจารย์ทำวิจัยเพื่อขอ “ตำแหน่งทางวิชาการ” อาจารย์จึงมุ่งทำแต่งานวิจัยพื้นฐาน จนอาจ “ละเลย” ภารกิจหลัก

แต่ถามว่านิสิตนักศึกษามี “คุณภาพ” เพิ่มขึ้นหรือไม่??

ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่นักเรียนในโรงเรียนต้องประสบพบเจอ คือ “ครู” มุ่งเน้นทำผลงานเพื่อขอ “วิทยฐานะ” จนหลายคนอาจละเลยภารกิจหลักของความเป็นครูเช่นกัน

รศ.ดร.วันชัยมองว่า มาตรการที่ส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งวิชาการระดับมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเป็น “ผลเสีย” เพราะทุกคนมุ่งทำงานวิจัยพื้นฐานเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ควรศึกษาในเชิงลึกว่าการให้อาจารย์ทำวิจัยมากๆ มีผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่

เพราะหากดู “งานหลัก” ของมหาวิทยาลัย จะมี 4 ภารกิจหลักๆ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่เมื่อมีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์ทำวิจัยมากขึ้น

จะทำให้ภารกิจหลักอีก 3 ด้าน ลดน้อยลงหรือไม่??

ความตั้งใจสอนของอาจารย์ลดน้อยลงหรือไม่??

เพราะตำแหน่งวิชาการจะมี “เงินประจำตำแหน่ง”!!

เหล่านี้คือเหตุผลที่ ก.พ.อ.ควรศึกษา “ข้อดี” และ “ข้อเสีย”??

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทในการ “ชี้แนะ” ให้ “คนรุ่นใหม่” รู้ว่า “อยากเป็น” หรือ “อยากทำ” อาชีพอะไรในอนาคต ซึ่ง รศ.ดร.วันชัยได้ยกตัวอย่างในการพัฒนาประเทศของ “จีน” ให้เห็นกันชัดๆ ว่า จีนมีนโยบายดึงนักวิทยาศาสตร์กลับบ้าน โดยให้เงินเดือนสูงๆ ช่วงแรกๆ เริ่มจากก๊อบปี้ ค่อยๆ ดีไซน์ และพัฒนา จนวันนี้จีนสร้างเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นการซื้อความรู้มาต่อยอดทั้งสิ้น

เหล่านี้ไม่ใช่ “หัวใจ” ที่ทำให้จีนเติบโต…

สิ่งที่ทำให้จีนเติบโตอย่างแท้จริงคือ “จิตวิญญาณ” ของคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะ “แข่งขัน” และพร้อม “เปลี่ยนแปลง” ทำให้จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้ “นักศึกษาจีน” พูดภาษาอังกฤษได้เกือบทุกคน เพราะต้องแข่งขัน ไม่มองเฉพาะในประเทศ และมีแรงบันดาลใจออกสู่โลกกว้าง

แต่ “เด็กไทย” ไม่คิดแบบนี้!!

ฉะนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับอนาคตของมหาวิทยาลัยไทยในเวลานี้ คือเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยลง

เราก็ “โทษ” ว่าเพราะเด็กเกิดน้อย

โทษ…ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส)

โทษ…เด็กว่ามีค่านิยมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง เพราะดูตัวอย่างจาก “สตีฟ จ็อบส์” และ “บิล เกตส์” ที่ถึงไม่จบมหาวิทยาลัยก็รวยได้

ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้เด็กไทยมี “แรงบันดาลใจ” ที่ดี??

 

มฟล.จึงมีแนวคิดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ต้องคิดให้ได้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ต้องมีแรงบันดาลใจ และต้องทำให้ได้ เพื่อให้เป็น “ที่สุดของที่สุด”

โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาเอกก็ได้ หรืออาจารย์ไม่เป็น “ศาสตราจารย์” ก็ได้ แต่ต้องเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็น

พร้อมทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะ “หมาถูกน้ำร้อนลวก” จึงต้องวิ่งหาที่เย็นเพื่อรักษาตัว หวังว่ามหาวิทยาลัยจะตื่นจากภวังค์ และปรับตัวเอง ต้องมีแรงบันดาลใจ ประยุกต์ คิดสร้างสรรค์ และต้องดูโลกภายนอกว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ซึ่งเป็นโลกที่โหดร้าย ถ้าใครเดินไม่ทันก็จะถูกทิ้งให้ทนทุกข์ทรมาน!!