บทวิเคราะห์ : “โมดีแคร์” โครงการประกันสุขภาพใหญ่สุดในจักรวาล

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ “โครงการประกันสุขภาพ” ของโลก

ด้วยการประกาศโครงการประกันสุขภาพสำหรับชาวอินเดียขึ้น

และกลายเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เพราะครอบคลุมชีวิตของชาวอินเดียผู้ยากไร้มากถึงราว 500 ล้านคน

โครงการประกันสุขภาพดังกล่าวถูกขนานนามว่า “โมดีแคร์” ที่รับประกันว่าจะมอบเงินประกันสุขภาพให้แก่ครอบครัวผู้ยากไร้ครอบครัวละ 5 แสนรูปี หรือราว 223,000 บาท ไว้รักษากรณีป่วยด้วยโรคร้ายแรง

ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินในแต่ละปีรวมถึง 51,800 ล้านบาท

และงบประมาณจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการของประชาชน

 

โดยนายโมดีประกาศเปิดตัวโครงการประกันสุขภาพดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “อายุศมัน ภารัต” ที่เมืองรันจี เมืองเอกของรัฐฌารขัณฑ์ เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

ซึ่งนายโมดีกล่าวว่า ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของอินเดีย และเป็นก้าวสำคัญที่จะนำมาซึ่งการดูแลสุขภาพที่ดีและสามารถเข้าถึงได้ของผู้คนที่ยากไร้ในอินเดีย

โดยจะมีครอบครัวที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า 100 ล้านครอบครัว

และถือเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เพราะได้ประโยชน์ต่อผู้คนมากกว่าประชากรของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกรวมกัน

นายโมดีกล่าวด้วยว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงทะเบียนแยกเพื่อเข้าสู่โครงการ ผู้คนสามารถที่จะเช็กผ่านออนไลน์ได้เลยว่าตัวเองถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิหรือไม่ และครอบครัวที่อยู่ในเกณฑ์ จะได้รับจดหมายจากนายกรัฐมนตรี

พร้อมกับ “บัตรทอง” เพื่อนำไปใช้สำหรับรับสิทธิตามโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ลงทะเบียนไว้กับรัฐบาล

โดยโครงการประกันสุขภาพใหม่นี้ เริ่มต้นใช้งานได้ทันที ซึ่งหมายความว่า ประชาชนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ยากไร้ จะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่รูปีเดียวสำหรับการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน

 

ถือเป็นความพยายามล่าสุดของนายโมดีที่ต้องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของอินเดียที่ประสบปัญหามายาวนาน เนื่องจากการขาดแคลนโรงพยาบาลและแพทย์ และประชาชนส่วนใหญ่ที่พอจะมีเงินก็จะต้องหันไปพึ่งพาคลินิกและโรงพยาบาลของเอกชนแทน ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินมากถึงครั้งละ 1,000 รูปี หรือเกือบ 500 บาท ที่ถือว่าเป็นเงินที่มากโขสำหรับชาวอินเดียที่คนหลายล้านมีรายได้ไม่ถึง 60 บาทต่อวัน

ขณะที่ตัวเลขของรัฐบาลอินเดียระบุว่า ชาวอินเดียส่วนใหญ่ต้องใช้เงินไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จ่ายค่าหมอและค่ายา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอินเดียใช้เงินราว 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไปยังงานด้านสาธารณสุข

ซึ่งติดอันดับหนึ่งในประเทศที่ใช้เงินกับด้านสาธารณสุขที่ต่ำที่สุดในโลก

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการประกันสุขภาพโมดีแคร์กลายเป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องจากนักเคลื่อนไหวทั่วโลก ในฐานะที่เป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ได้รับการรักษาสุขภาพอย่างทั่วถึง

หากแต่ก็มีบางเสียงที่ออกมาแสดงความห่วงกังวลว่าโครงการประกันสุขภาพนี้อาจจะไปกัดกร่อนแก่นกลางของระบบประกันสุขภาพเดิมที่มีอยู่และอาจจะล่มสลายลงในระยะเพียงแค่ 1 ปี หากนำไปใช้อย่างไม่ดีพอ

เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าสถานพยาบาลต่างๆ ในอินเดียนั้นยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร

รัฐบาลเองจึงควรประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่โรงพยาบาลก่อน

ไม่เช่นนั้น โรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ในโครงการอาจจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้

ปัญหาอีกอย่างคือ เงินประกันสุขภาพที่ทางโรงพยาบาลจะได้รับในกรณีรักษาโรคที่ร้ายแรง อาจจะไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลจริง

และทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระเงินส่วนต่างที่เหลือเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

สุดท้ายคือ โครงการโมดีแคร์ตอนนี้ยังครอบคลุมแค่กรณีผู้ป่วยโรคร้ายแรงเท่านั้น

 

หากแต่เป็นที่รู้กันว่า โครงการนี้มีขึ้นก็เพราะต้องการที่จะเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน เนื่องจากอินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปีหน้า

ซึ่งหากโครงการนี้ได้รับการตอบรับดี ก็ย่อมจะหมายถึงคะแนนเสียงสนับสนุนจำนวนมากจากผู้ยากไร้ที่ได้รับประโยชน์ที่จะตามมาจำนวนมหาศาล

เมื่อนั้น หากโมดีได้เป็นผู้นำอีกสมัย โครงการโมดีแคร์ก็อาจจะมีการขยายครอบคลุมผู้ป่วยทั่วไปด้วยหรือไม่

แต่ตอนนี้โมดีแคร์ไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่สุดในโลก แต่ได้ชื่อว่าเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของจักรวาลไปแล้ว