งานศิลปะกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ญี่ปุ่นเขาทำอย่างไร? ให้เงินสะพัด!

งานศิลปะกับเศรษฐกิจท้องถิ่น

ได้ยินเรื่อง Krabi Biennale 2018 ก็เลยไปเสาะแสวงหาความรู้ด้วยการไป สังเกต Echigo-Tsumari Art Triennale 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น (ด้วยทุนตัวเอง)

โครงการกระบี่เบียนนาเล่ในประเทศไทย ประชาสัมพันธ์ว่าเป็นโครงการเฉพาะที่ (site specific project) เป็นศิลปะสมัยใหม่แบบจัดวาง และเป็นงานแบบน่ามหัศจรรย์ (ภาษาอังกฤษเขาบอกว่าเป็น wonderland) ซึ่งจะจัดขึ้น 4 เดือนเต็มๆ ในฤดูท่องเที่ยวของอันดามัน ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562

ตามชื่อแปลว่าจะจัดขึ้นทุกสองปี

บางคนสงสัยว่า “ง่าย” ไปไหมที่จะจัดงานศิลปะระดับนานาชาติเพื่อดึงดูดคนให้ไปเที่ยว ในที่ที่ธรรมชาติสวยลือชื่อระดับโลกอย่างจังหวัดกระบี่

และนักท่องเที่ยวก็ไปกันเองอยู่แล้วไม่ว่าจะมีงานเทศกาลศิลปะหรือไม่ก็ตาม

แต่อีกฝ่ายหนึ่งอธิบายว่า กระบี่ทำงานศิลปะมานานแล้ว นี่คืองานต่อเนื่อง

เป็นการเติบโตของเมืองในบรรยากาศของศิลปะร่วมสมัย

ก็แล้วแต่จะถกกันไป ในระหว่างที่รอศิลปินกำลังเตรียมงานของตนให้เสร็จ เราไปดูที่อื่นก่อนดีกว่า เพื่อเรียกน้ำย่อย

และเพื่อดูว่าศิลปะ “ให้อะไร” กับท้องถิ่นบ้าง

ปีค.ศ.2018 เป็นปีของงาน Echigo-Tsumari Art Triennale ชื่อ Triennale บอกว่า งานศิลปะนี้จัดทุกสามปี เอชิโกะ-ซูมาริ อยู่ในจังหวัดนิอิกะตะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น

ก่อนไปชมงานได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับงานนี้มาจากหนังสือแปลภาษาไทยจากต้นฉบับที่ผู้จัดเขียนขึ้นมาชื่อ Art Place Japan : The Echigo-Tsumari Art Triennale and the Vision to Reconnect Art and Nature งานศิลปะร่วมสมัยงานนี้เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2000 และจัดเรื่อยมาจนครั้งปัจจุบัน คือปีนี้

หลักคิดในการจัดงานศิลปะในบริเวณดังกล่าวมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า จังหวัดนี้หรือบริเวณแถบนี้ของญี่ปุ่นเป็นเขตทำการเกษตรและมีหิมะมาก มีช่วงเวลาที่หนาวเย็นนาน

ชีวิตผู้คนแถวนี้จึงค่อนข้างลำบาก หนุ่มสาวทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในเมืองใหญ่ ปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่กันตามลำพัง เมืองทั้งเมืองเหงาเงียบลงเป็นลำดับ

โจทย์ที่ต้องการแก้คือ ทำอย่างไรให้ชนบทตรงนี้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่

ขับรถตระเวนชมงานรวม 3 วัน ลองผิดลองถูก โง่ก่อนฉลาดไปก็หลายครั้ง แต่ก็นับว่าได้ชมเต็มอิ่ม และได้ข้อสังเกตมาหลายอย่าง

– งานศิลปะแบบ site specific มากมายหลายชิ้นเป็นศิลปะที่เข้ากับบรรยากาศของท้องถิ่นตรงนี้ ที่เป็นเขตชนบท มีท้องฟ้ากว้าง มีนาข้าว มีโรงเรียนที่ค่อนข้างร้าง มีสถานที่ทำการของชุมชนที่ใหญ่เกินขนาดของประชากรในปัจจุบัน เป็นต้น จึงใช้ศิลปะดึงความมีชีวิตกลับมาสู่ท้องทุ่งท้องนาและชนบท

– บางชิ้นเป็นงานศิลปะที่เสริมธรรมชาติ บางชิ้นเป็นงานศิลปะที่ดึงธรรมชาติเข้ามาเล่นด้วย บางชิ้นเป็นการแต่งแต้มศิลปะเข้าไปในสิ่งที่เห็นอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางชิ้นก็ “หลุดโลก” และอีกบางชิ้นชวนให้ผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเติมให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ สมบูรณ์

– คนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของสถานที่ให้ความร่วมมือ ให้สถานที่ติดตั้งชิ้นงาน

– ท้องถิ่นได้โอกาสในการแสดงสินค้าเด่นของตนสู่สายตาคนนอกพื้นที่ ชัดเจนที่สุดคือข้าวญี่ปุ่น นิทรรศการชื่อ art by eat นำเสนอข้าวนานาพันธุ์ ให้กิน ให้ชิม และขายในบรรจุภัณฑ์หลากหลายแบบ ข้าวแต่ละชนิดมีเรื่องราวของตนเอง ผลิตผลการเกษตรที่ขายเน้นสินค้าดีมีคุณภาพ ราคาไม่ถูก เช่น ข้าวชนิดหนึ่ง 5 กิโลกรัม ราคาถึง 4,500 เยน (100 เยน = 30-32 บาท)

– การจัดงานแสดงศิลปะเช่นนี้ เพิ่มการจ้างงานในเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่มีงานทำ เช่น งานเฝ้าพิพิธภัณฑ์ งานผลิตสินค้าประจำถิ่น หนุ่ม-สาวกลับมาบ้านเพราะมีโอกาสในการทำธุรกิจด้านบริการ เช่น ที่พักแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกอันเน้นงานออกแบบและการผลิตในท้องถิ่น (รวมถึงร้านค้าในพิพิธภัณฑ์ ที่ขายของมีรสนิยมดี ออกแบบดี ฝีมือประณีต เป็นหน้าเป็นตาของเมือง) ยิ่งในช่วงเทศกาลงานแสดงศิลปะงานยิ่งมีมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากจังหวัดอื่นและจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก

– เป็นโอกาสของการเปิดตัวให้ชาวโลกรู้จัก ผู้มาช่วยงานนอกจากเป็นคนญี่ปุ่นแล้วก็มีนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้คุยด้วยสองคนที่ดูแลเรื่องการลงทะเบียนเขาบอกว่าเรียนหนังสืออยู่ที่สเปนคนหนึ่ง ฝรั่งเศสคนหนึ่ง อาจารย์ส่งมาช่วยงาน สองคนรวมกันพูดได้ สี่ภาษา เป็นการสร้างองค์ประกอบความเป็นนานาชาติเข้าไปในงานนี้ในทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานช่วยงานไปจนถึงศิลปินที่แสดงผลงาน และผู้มาชมงาน

– เงินสะพัดมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดนักท่องเที่ยวก็ต้องกิน ต้องพัก ต้องไปเที่ยวในสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะชมงานศิลปะทุกเวลานาที และยังมีค่าเข้าชม ซึ่งจ่ายเป็นรายพื้นที่ก็ได้ เสียเงินครั้งเดียวเหมารวมทั้งงานก็ได้ ในราคา 3,500 เยน (1,000 กว่าบาท) โดยผู้จ่ายเงินแล้วจะได้รับ “พาสปอร์ต” เป็นสมุดหนึ่งเล่มมีรายการงานศิลปะครบถ้วนให้ตามไปดูได้ทุกที่ แบบนี้น่าจะมีส่วนดึงให้นักท่องเที่ยวมีเวลาอยู่ในพื้นที่นานขึ้น เพื่อตามเก็บดูงานศิลปะในบริเวณต่างๆ

– มีตราให้ประทับบนตารางที่ระบุชิ้นงานในพาสปอร์ต เป็น “ลูกเล่น” ที่กระตุ้นให้บางคน “ไล่ล่า” หาตราเพื่อประทับไว้ เป็นประวัติส่วนบุคคลในการมาชมงานครั้งนี้ เหมือนๆ กับได้เล่น art rally

– นอกจากงานศิลปะแบบจัดตั้งแสดงแล้ว ยังมีดนตรีและการบรรยายอีกหลายกิจกรรมที่ผู้ถือพาสปอร์ตจะได้รับส่วนลดในการเข้าฟังและเข้าชม คนรักงานศิลปะเลือกไม่ถูกจริงๆ เพราะนี่ก็อยากไป โน่นก็อยากดู

– เปิดให้คนในญี่ปุ่นเองได้ชื่นชมศิลปะร่วมสมัยอย่างใกล้ชิด และในพื้นที่ห่างไกลเมืองหลวงขนาดนี้ เมืองชื่อนิอิกะตะเมืองเดียว มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะถึง 3 แห่ง จัดแสดงตั้งแต่งานระดับสากล ไล่ลำดับมาถึงงานของศิลปินในพื้นที่และงาน “ศิลปะของพลเมือง” (citizen arts) ที่แสดงผลงานของประชาชนที่ลองฝีมือด้านสร้างสรรค์งานศิลปะ

– งานศิลปะที่ร่วมในงาน Triennale ตั้งแสดงกระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณ ทั้งกลางแจ้งและในร่ม มีทั้งงานของปีนี้และงานของปีก่อนๆ ซึ่งผู้ชมสามารถมาชมได้ตลอดทั้งปี รวมๆ แล้วหลายร้อยชิ้น ในปีนี้จุดที่มีผลงานศิลปะจำนวนมากตั้งแสดงอยู่ที่ 6 บริเวณ โดยจุดศูนย์กลางของแต่ละบริเวณต่างกันไปตามที่มีพื้นที่ให้ใช้ เช่น บริเวณ Tokamachi มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ชื่อ Echigo-Tsumari Satoyama Museum of Contemporary Art เป็นที่รวมงานตั้งแสดงในร่ม บริเวณ Kawanishi มีนากาโกะ ปาร์ก และบริเวณที่โล่งกว้างข้างเคียงรวมกันเป็นศูนย์ที่ผู้ชมจะได้เห็นงานกลางแจ้งหลายชิ้นตั้งแสดงอยู่ ส่วนที่บริเวณ Matsudai มีสถานีรถไฟและบริเวณโดยรอบเป็นจุดศูนย์กลาง ในเมือง Niigata เองซึ่งห่างจากบริเวณ 6 แห่งนี้เป็นระยะทางที่ขับรถร่วมชั่วโมงก็มีงานหลายชิ้น ทั้งงานกลางแจ้งและในพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง นับว่าบรรยากาศของท้องทุ่งชนบทอวลไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะแปลกตา น่าสนใจ

– ดีใจที่ศิลปินไทยก็ได้มีผลงานแสดงในงาน Triennale นี้ด้วย เป็นงานว่าด้วยเรื่องข้าว แสดงในพื้นที่ชั้นบนของศูนย์ชุมชน มีผู้สูงอายุและสาวน้อยวัยเรียนช่วยกันเฝ้า ช่วยกันเก็บค่าเข้าชม

– ดูหมดแล้ว คิดต่อได้ว่า การสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องเป็นงานไฮเทคเท่านั้น และงานไฮเทคก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นงานแบบดิจิตอลเท่านั้น งานสร้างสรรค์มีได้ทุกด้าน ขอเพียงให้มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดและจินตนาการที่ไม่ติดกรอบ ทั้งกรอบความคิดและกรอบเทคโนโลยี

Echigo-Tsumari Art Triennale 2018 ให้กับชุมชนและสังคมญี่ปุ่นมากมาย ทั้งด้านศิลปะและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น

ต่อไปนี้ก็จะคอยติดตามกระบี่เบียนนาเล่ของเราต่อไป