“ธนาธร” เยี่ยมชม “เวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูปวัน” ถกความเป็นไปได้แทนไฮสปีดเทรน

วันที่ 20 กันยายน 2561 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนางสาวพรรณิการ์ วานิช ว่าที่โฆษกพรรค เดินทางเยือนฐานทดสอบรถไฟไฮเปอร์ลูปของบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ในลาสเวกัส สหรัฐฯ โดยได้พบกับนายร็อบ เฟอร์เบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน หารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างระบบรถไฟไฮเปอร์ลูปในไทย

นายเฟอร์เบอร์ยืนยันว่าไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก นอกจากจะเป็นระบบรถไฟวิ่งในอุโมงค์ที่ความเร็ว 1,000-1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การที่ยานพาหนะเคลื่อนที่ในอุโมงค์สูญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานจากล้อกับรางและจากลม การใช้พลังงานจึงประหยัดที่สุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานเพียง 5% ของรถไฟแมกเลฟของจีน และ 15% ของรถไฟแมกเลฟของญี่ปุ่น

ส่วนการก่อสร้างและค่าเดินรถก็จะมีราคาถูกกว่ารถไฟความเร็วสูงถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้สามารถคืนทุนได้เร็ว และไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนระดับรัฐ แต่สามารถทำแบบ PPP หรือเอกชนลงทุนทั้งหมดได้ แก้ปัญหาการลงทุนในสาธารณูปโภคเช่นรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองใหญ่ที่มักประสบภาวะขาดทุน ทำให้รัฐและเอกชนไม่กล้าลงทุน ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาคมนาคมของประเทศกำลังพัฒนาเป็นไปอย่างช้า

โดยหากเปรียบเทียบกับการสร้างรถไฟความเร็วปานกลางในไทย สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใช้เงินลงทุน 707 ล้านบาทต่อกิโลเมตร สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ใช้เงินลงทุน 710 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ขณะที่นายเฟอร์เบอร์ยืนยันว่าไฮเปอร์ลูปใช้เงินลงทุน 495-600 ล้านบาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น

แม้นวัตกรรมไฮเปอร์ลูปยังดูเป็นเทคโนโลยีล้ำยุค แต่นอกจากระบบขับเคลื่อนซึ่งใช้เทคโนโลยีเฉพาะของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ส่วนประกอบอื่นๆ ถูกออกแบบให้ผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก เพื่อให้ง่ายต่อการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นราง ท่อเหล็กที่นำมาประกอบเป็นอุโมงค์ หรือตัวรถและอะไหล่ ทั้งหมดสามารถผลิตได้ในประเทศไทย

ในการพบกันครั้งนี้ นายธนาธรยังได้อธิบายให้ผู้บริหารเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ฟังถึงปัญหาการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ในการเสนอสร้างรถไฟไฮเปอร์ลูปแทนที่รถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ก้าวหน้า ทันสมัย สะดวกสบาย กระจายความมั่งคั่งสู่ทุกพื้นที่ที่รถไฟผ่าน และยังทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแถวหน้าผู้นำนวัตกรรมขนส่งมวลชนที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายธนาธรระบุว่า หากสามารถทำให้เกิดการสร้างไฮเปอร์ลูปในประเทศไทยได้จริง ไม่เพียงแต่ไทยจะได้ระบบขนส่งมวลชนที่ดี แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เนื่องจากภาคเอกชนจะได้ผลิตชิ้นส่วนรถ ราง ท่อเหล็ก และพัฒนาสถานีไฮเปอร์ลูป รวมถึงเดินรถเอง ในขณะที่บริษัทต่างชาติอย่างไฮเปอร์ลูป วัน จะเป็นเพียงผู้ขายเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปให้เท่านั้น ซึ่งทางผู้บริหารเวอร์จิน นอกจากนี้ นายธนาธรได้พูดคุยถึงการร่วมกับกับไฮเปอร์ลูป วัน ตั้งทีมเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนไฮเปอร์ลูปในประเทศ การศึกษานี้จะเปรียบเทียบกับการศึกษารถไฟความเร็วสูงที่ทำร่วมกับจีนและญี่ปุ่นเพื่อนำเสนอกับสังคมให้เป็นทางเลือกต่อไป ทั้งนี้ในการศึกษาครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้จากภาคเอกชนอีกมาก จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมโครงการ

นายธนาธรยังกล่าวต่อว่าปัจจุบันการอนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเป็นประเทศที่พลังงานคือสินค้านำเข้าอันดับหนึ่งของประเทศ ถ้าเราสามารถใช้ไฮเปอร์ลูปได้ ไทยจะลดการใช้พลังงานได้อย่างมหาศาลจากการลดการเดินทางโดยรถยนต์ที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่ไม่สะอาดและใช้พลังงานสิ้นเปลือง

ทั้งนี้ รถไฟไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งมวลชนรางที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบวิ่งและการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยฐานทดสอบไฮเปอร์ลูปของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ในลาสเวกัส เป็นอุโมงค์ไฮเปอร์ลูปแห่งแรกของโลก ระยะทาง 500 เมตร ขณะที่การใช้งานไฮเปอร์ลูปเชิงพาณิชย์ที่แรกในโลก จะเกิดขึ้นในนครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี 2020 โดยล่าสุด มีหลายประเทศสนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างไฮเปอร์ลูปในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย

สำหรับการเดินทางต่างประเทศของนายธนาธร นับเป็นวันที่ 2 แล้ว หลังจากที่เดินทางถึงสหรัฐฯและเข้าพบกับรองนายกเทศมนตรีนครลอสแองเจลิส เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดการบริหารงานท้องถิ่น เมื่อวานนี้