เปิดเบื้องลึก! ยึดอำนาจ2549 เบื้องหลัง คปค. เบื้องหลัง”พล.อ.สนธิ” เบื้องหลัง วินาทีเครียด

เผยแพร่ครั้งแรกใน พฤหัส อัสดง / รายงานพิเศษ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1363

ต้องยอมรับว่า คืนวันที่ 19 กันยายน ราว 22.15 น. หลังที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถ่ายทอดสัญญาณเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และแต่งตั้งให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. แล้วนั้น

เมื่อตามท้องถนนและสถานที่สำคัญต่างๆ มีกำลังทหารและรถถังเข้ายึด ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นกำลังของฝ่ายรัฐบาลที่ออกมาดูแลความเรียบร้อย มาปราบทีมปฏิวัติด้วยซ้ำ

จนเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ออกแถลงการณ์ประกาศการยึดอำนาจรัฐบาล ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ในตอนเกือบห้าทุ่ม นั่นเอง ที่ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง

ทั้งนี้ ก็ด้วยใครๆ เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ถอดสลักปฏิวัติแล้ว ตลอดเวลาที่นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 ปี ด้วยการตั้งทหารเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ให้คุมกำลังสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยปฏิวัติในกรุงทั้งหมด และยาวนาน โดยไม่วางใจเปลี่ยนมือให้ใคร รวมทั้งดันเพื่อนหลายคนขึ้นเป็นบิ๊กในห้าเสือของแต่ละเหล่า และจ่อเป็น ผบ.เหล่าทัพ แบบยกแผงในไม่ช้านี้อีกด้วย จึงไม่น่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือมีทหารกลุ่มไหนกล้าปฏิวัติ

อีกทั้งเมื่อมองไปที่ตัว ผบ.เหล่าทัพที่คุมกำลัง ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. บิ๊กอุ๊ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ล้วนเป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณเนรมิตเก้าอี้ให้ทั้งสิ้น

แม้ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเคยยอมรับว่า มีคนเตือนเรื่องการแต่งตั้งนายทหารและนายตำรวจที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 เดียวกันหมด ขึ้นเป็น ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. แบบยกแผง นั้นเป็นอันตรายต่อเก้าอี้นายกฯ ก็ตาม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เชื่อมั่นในเรื่องหนี้บุญคุณ

ที่สุด คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ล้วนเป็นเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ. ก็ยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ แบบกลางอากาศ ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ต่างประเทศ

นอกจากนั้น ก็มีการดึง บิ๊กตุ่น พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อน ตท.6 อีกคน มาเป็นเลขาธิการของคณะปฏิรูปฯ ทำให้ คปค. จึงเป็นคณะของ ตท.6 ที่อาจมองได้ว่ามีความเป็นเอกภาพเหนียวแน่น เพราะต่างเป็นเพื่อนเรียนร่วมชั้นกันมา

หากแต่ทว่า กว่าที่ พล.อ.สนธิจะคลอด คปค. ของ ตท.6 นี้ออกมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ…

ด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจในครั้งนี้ พล.อ.สนธิ ผบ.ทบ. เป็นแกนนำหลัก และเป็นต้นตอความคิดเพียงลำพัง โดยมีขุนพลคู่ใจอย่าง บิ๊กป็อก พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 ที่แม้จะเป็น ตท.10 เพื่อนนายกฯ เป็นฝ่ายวางแผนและคุมกำลังหลักทั้งหมด ในการเข้ายึดอำนาจ

โดยที่ พล.อ.สนธิมีคำสั่งลับสุดยอด ถึง พล.ท.สุเจตน์ วัฒนสุข แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ให้เตรียมกำลังในการสกัดและต่อต้านกำลังจากต่างจังหวัดที่จะเข้าไปช่วยฝ่ายรัฐบาล

สำหรับ พล.ท.สพรั่ง นั้น พล.อ.สนธิไม่ห่วง เพราะรู้มือรู้ใจ รู้จุดยืนเดียวกันมานานแล้ว เขานำกำลังทหารม้าจาก พล.ม.1 จ.เพชรบูรณ์ และกำลังผสมจากกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร.4) และกรมทหารพรานที่ 35 จ.น่าน และกรมทหารพรานที่ 32 จ.กำแพงเพชร มาร่วมปฏิวัติ ซึ่งเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ที่กองทัพภาคที่ 3 ได้มาร่วม แม้จะไม่ใช่ช่วงไคล์แมกซ์ คืนวันที่ 19 กันยายน เพราะกำลังเดินทาง และทำหน้าที่สกัดกำลังทหารม้าของ พล.ม.2 รอ. ที่สระบุรีด้วยก็ตาม

ส่วน พล.ท.องค์กร นั้น แม้จะวุ่นๆ กับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แต่ก็มีส่วนร่วมด้วย เพราะได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารมาดักที่ จ.ชุมพร และระนอง เพื่อป้องกันกำลังทหารจากภาคใต้บางส่วนขึ้นมาหนุนรัฐบาล

คงมีแต่ พล.ท.สุเจตน์ แม่ทัพภาคที่ 2 ที่มีความสนิทสนมกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม ที่คุมเสียงไทยรักไทยในอีสาน แต่ทว่า พล.อ.สนธิ ก็ต้องให้ร่วมด้วย เพราะเชื่อในความที่เป็นทหาร ที่รักและเคารพศรัทธาในตัวป๋าเปรม และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.7 ของ พล.ท.สพรั่ง อีกด้วย

หากแต่ที่สำคัญก็คือ ในส่วนยอดของคณะปฏิรูปฯ นั้น กว่าจะเป็นภาพที่สวยงาม เป็นหนึ่งเดียวของ คปค. ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ พล.อ.สนธิต้องเตรียมกำลังมากกว่า 30 กองพัน เนื่องจากต้องพึ่งตนเอง พึ่งกำลังของ ทบ. เท่านั้นก่อน โดจะเห็นกำลัง ทบ. ไปยึดพื้นที่ของทั้งทหารเรือ และทหารอากาศ จนเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว 3 วัน จึงวางใจให้ ทร. และ ทอ. ออกมาดูแลพื้นที่เอง แต่กระนั้น ก็ยังมีกำลังของ ทบ. ผสมอยู่ด้วย

ด้วยก่อนหน้านี้มีข่าวสะพัดว่า พล.อ.สนธิ ก็ไม่มั่นใจใน ผบ.เหล่าทัพ เพื่อน ตท.6 ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะต่างเป็นหนี้บุญคุณและสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ ที่วันก่อการนั้น มีรายงานว่ายังอยู่ระหว่างการเตรียมพิธีอำลาเกษียณให้ พล.อ.เรืองโรจน์ ที่สัตหีบ มาได้รับแจ้งให้เข้าร่วมในภายหลัง

“ผบ.ทร. ท่านไม่รู้ล้วงหน้าด้วยซ้ำว่าจะมีปฏิวัติ เพราะไปสัตหีบ เตรียมพิธีอำลาเกษียณราชการให้ ผบ.สส. อยู่เลย” แหล่งข่าวชาวนาวีระบุ

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.โกวิท ที่ด้วยความเป็นตำรวจ แม้จะเป็นเพื่อนรัก แต่ก็ไม่อาจให้ล่วงรู้แผนตั้งแต่แรก เพราะกลัวสายสัมพันธ์สีกากีจะแรงกว่าความเป็นเพื่อน ตท.6

คงมีเพียง พล.อ.อ.ชลิต ผบ.ทอ. เท่านั้น ที่วางตัวเป็นกลางและประกาศเป็นทหารของในหลวงมาตั้งแต่แรก ที่เป็นคนแรกที่ พล.อ.สนธิดึงให้เข้าร่วม

ทั้งนี้ ก็เพื่อภาพของความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของคณะปฏิรูปฯ แม้แต่ พล.อ.เรืองโรจน์ ผบ.สส. นายทหารรุ่นพี่ ตท.5 ที่ถูกมองตั้งแต่แรกว่าเป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะได้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณให้ดูแลสถานการณ์ตามประกาศภาวะและถูกจับตามองว่า พ.ต.ท.ทักษิณวางตัวให้เป็น รมว.กลาโหมในรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

พล.อ.สนธิ ก็ยังต้องเชิญมาร่วมด้วย ในฐานะประธานที่ปรึกษา คปค. ที่ พล.อ.เรืองโรจน์เองก็อิหลักอิเหลื่อ เพราะเกรงถูกมองว่าแปรพักตร์

แต่กระนั้น การเข้าเฝ้าฯ ในหลวงและพระราชินี เมื่อช่วงเกือบเที่ยงคืน หลังยึดอำนาจนั้น ก็มีเพียง พล.อ.สนธิ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ และ พล.อ.อ.ชลิต เท่านั้น ไม่มี พล.ต.อ.โกวิท และ พล.อ.เรืองโรจน์ ที่สร้างความฉงน

แหล่งข่าวในคณะปฏิรูปฯ เปิดเผยว่า เพราะในเวลานั้น พล.ต.อ.โกวิทยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถคุมกำลังของตำรวจได้ทั้งหมด จึงไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมด้วย เพราะกำลังส่วนใหญ่ล้วนภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และบิ๊กตำรวจสายทักษิณ

ส่วน พล.อ.เรืองโรจน์ นั้น ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายที่จะเข้าร่วมกับคณะปฏิรูปฯ จึงจะไปเข้าเฝ้าฯ ด้วย แต่เมื่อไปถึง พล.อ.สนธิ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ และ พล.อ.อ.ชลิต ที่มาถึงก่อน ได้เข้าเฝ้าฯ ไปก่อน พล.อ.เรืองโรจน์จึงได้แต่นั่งรอข้างนอก

สำหรับ พล.อ.เรืองโรจน์ นั้น หลังประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว มีรายงานว่า มีการตั้งกองบัญชาการเพื่อต่อสู้ โดยรวบรวม ตท.10 วางแผนประชุม มี พล.ต.อ.ชิดชัย และ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ (ในขณะนั้น) มาสมทบด้วย

“แต่ก่อนที่ พล.ต.อ.ชิดชัยและหมอพรหมินทร์จะมาถึงที่ บก.สส. แจ้งวัฒนะ พล.อ.เรืองโรจน์ ก็ตัดสินใจร่วมกับคณะปฏิรูปฯ เสียก่อน เพราะยังไงก็ทหารก็เป็นพี่น้องกัน จึงรีบตามไปเข้าเฝ้าฯ แต่ก็ไม่ทัน” แหล่งข่าวในเหตุการณ์เปิดเผย

ผลจากการกลับใจของ พล.อ.เรืองโรจน์ ทำให้ พล.ต.อ.ชิดชัยและหมอพรหมินทร์ขาดที่พึ่ง ที่สุดก็ถูกทหารของ พล.ท.อนุพงษ์ เชิญตัวจาก บก.สส. ไปยัง บก.ทบ. กองบัญชาการของคณะปฏิรูปฯ และถูกกักตัวไว้จนกว่าคณะปฏิรูปฯ จะวางใจ

แต่มาวันนี้ หลังยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ภาพของคณะปฏิรูปฯ ที่มี พล.อ.เรืองโรจน์ พล.อ.สนธิ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ พล.อ.อ.ชลิต และ พล.ต.อ.โกวิท ก็ปรากฏหน้าจอโทรทัศน์อย่างเข้มแข็งขึงขังและเป็นเอกภาพ

สำหรับการเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ของ พล.อ.สนธิ อาจเป็นความแปลกประหลาดใจของหลายฝ่าย เพราะมองว่า เขาเป็นคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่คนวงในรู้ดีว่า พล.อ.สนธิตัดสินใจเลือกที่จะเป็นทหารอาชีพ ทหารของชาติ และทหารของในหลวง เช่นคำพูดของ พล.อ.เปรม ตั้งแต่เข้าเฝ้าฯ เมื่อเดือนมิถุนายน(ปี2549) และเข้ามาใกล้ชิด พล.อ.เปรม มากขึ้น

ระหว่างบุญคุณกับหน้าที่ จะต้องแบ่งแยกให้ถูกว่า ควรจะทำอย่างไร” พล.อ.สนธิเคยตอบคำถามถึง พ.ต.ท.ทักษิณ

แม้ว่าจะมีกำลังทหารจากหลายกลุ่มที่เป็น “เบี้ยหัวแตก” จากหลายกลุ่มที่แอนตี้ พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามหาจังหวะปฏิวัติก็ตาม แต่ก็ไม่มีทางสำเร็จได้หาก ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ไม่เอาด้วย จนต้องมีปฏิบัติการดึงและเชียร์ทหารให้มาล้มล้างการเมืองที่วุ่นวาย

จนที่สุด พล.อ.สนธิ ก็ไม่อาจทนต่อเสียงเรียกร้องได้ แม้เขาจะออกมาปฏิเสธทุกครั้ง เมื่อมีข่าวลือเรื่องปฏิวัติก็ตามที

เพราะนอกจากเหตุที่รัฐบาลรักษาการก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความสามัคคีของชนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ และมุ่งเอาชนะกันด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น และบริหารราชการส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง จนถึงพฤติกรรมแทรกแซงการทำงานและอำนาจขององค์กรอิสระ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาความสำคัญของชาติได้ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์แล้ว

พล.อ.สนธิยังระบุว่า เพราะเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ให้ทหารออกมาแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมือง

อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.สนธิเปิดเผยว่า เขาได้รับจดหมายจากประชาชนจำนวนมาก เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ และแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง โดยจำนวนจดหมายนั้น กองและเก็บเต็มลิ้นชักโต๊ะทำงานในห้อง ผบ.ทบ. ของตนเอง และวางกองไว้อีกจำนวนมาก แต่เราอดทนอยู่ โดยกองทัพได้รับกระแสร้องเรียนมาจนนับครั้งไม่ถ้วน

ในเบื้องลึกของการตัดสินใจยึดอำนาจของ พล.อ. สนธิ นั้น ต่างก็รู้ดีว่า มีอีกหลายสาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

โดยเฉพาะคดีลอบสังหาร ทักษิณ ที่ฝ่ายรัฐและตำรวจกำลังรุกฝ่ายทหาร จนกลายเป็นศึกระหว่างสี และมีความพยายามจะโยงไปถึง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีต รอง ผอ.กอ.รมน. และพาดพิง พล.อ.เปรมให้เสียหายด้วย

แต่ที่กระตุ้นปฏิวัติอีกประการก็คือ ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและมีปัญหาของ พล.อ. สนธิ และ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเห็นได้จากความไม่พอใจของ พล.อ.สนธิที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่ให้เกียรติตนเองในการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มักจะไม่พอใจ พล.อ. สนธิ และสั่งให้ ผบ.ทบ. ลงไปพื้นที่ภาคใต้ด้วยตนเองเสมอ ทั้งๆ ที่ พล.อ. สนธิ ก็เดินทางลงไปเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาภาคใต้ ก็เป็นผลพลอยได้ของการปฏิวัติ เพราะจะทำให้ พล.อ.สนธิ จะมีอิสระในการแก้ปัญหา โดยไม่ต้องห่วงการเมืองจะแทรกแซงอีก และมีอำนาจตัดสินใจทุกอย่าง ทั้งการเปิดโต๊ะเจรจาลับกับหัวของขบวนการ ที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ชิดชัยออกมาคัดค้าน หรือการใช้งบประมาณและการระดมทุกอย่างในการแก้ปัญหา

รวมทั้งการที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงกองทัพในทุกหัวระแหง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร และสภาพการณ์ของ ตท.10 ที่กำลังยึดกองทัพ โดยไม่สนใจทหารรุ่นพี่และรุ่นน้อง

“ผมคิดอยู่ 2 วัน และก็ตัดสินใจทำ โดยไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เราตัดสินใจกันเอง ดูแลกันเอง” คือสิ่งที่ พล.อ.สนธิพอจะตอบได้ในเวลานั้น…

เนื้อหาทั้งหมดนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกใน พฤหัส อัสดง / รายงานพิเศษ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1363