จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 7 “จากหนึ่งแยกเป็นสาม”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุคสามรัฐ

การสิ้นสุดลงของฮั่นสมัยหลังคือหลักหมายของการเริ่มยุคสามรัฐ ซึ่งคือ ค.ศ.220 ยุคนี้สิ้นสุดลงใน ค.ศ.280 รวมเวลาราว 60 ปี ตลอดห้วงเวลาของยุคนี้ในด้านหนึ่งคือการศึก แต่อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนาที่มีขึ้นในแต่ละรัฐ ในด้านหลังนี้เป็นไปเพื่อที่อย่างน้อยก็ให้รัฐของตนสามารถตั้งรับรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ได้

จากเหตุนี้ ยุคสามรัฐจึงใช่แต่เป็นยุคที่มีแต่การศึกสถานเดียว หากยังมีผลงานให้แก่สังคมของตนอีกด้วย และผลงานบางด้านยังตกทอดมาจนทุกวันนี้

การศึกษายุคสามรัฐในที่นี้จึงนอกจากจะกล่าวถึงการเมืองและการศึกแล้ว ก็ยังจะกล่าวถึงแง่มุมการพัฒนาแทรกไว้ด้วย และจะกล่าวถึงทีละรัฐไปในสามรัฐ แน่นอนว่า เมื่อกล่าวถึงรัฐใดแล้วก็ย่อมจะมีรัฐที่เหลือในสามรัฐหรือรัฐอื่นแทรกเข้ามาด้วย

 

รัฐสู่

รัฐสู่คือรัฐที่มีหลิวเป้ยเป็นผู้นำด้วยการตั้งตนเป็นจักรพรรดิฮั่น บางที่จึงเรียกรัฐของเขาว่า รัฐสู่ฮั่น รัฐนี้มีเมืองหลวงคือเฉิงตูที่ปัจจุบันนี้ก็ยังคงชื่อนี้โดยเป็นเมืองเอกของซื่อชวน ชื่อเมืองซื่อชวนจึงเป็นชื่อเก่าแก่ที่ใช้กันมายาวนานราวสองพันปี

เมื่อเข้าสู่ยุคสามรัฐใน ค.ศ.220 แล้ว เหตุการณ์แรกที่พึงกล่าวถึงก็คือ กรณีที่กวานอี่ว์ถูกฆ่าโดยทัพซุนเฉีว์ยน จากเหตุนี้ จึงทำให้หลิวเป้ยยกทัพไปตีรัฐอู่ของซุนเฉีว์ยนด้วยตนเอง ซึ่งในด้านหนึ่งเพื่อล้างแค้นให้กวานอี่ว์ อีกด้านหนึ่งเพื่อหมายชิงพื้นที่แถบแม่น้ำหยังจื่อมาเป็นของตน

ศึกนี้มีขึ้นในปลาย ค.ศ.221 ต่อเนื่องไปถึง ค.ศ.222 และราวกลาง ค.ศ.222 ก็ปรากฏว่า ทัพหลิวเป้ยได้ปะทะกับทัพซุนเฉีว์ยนที่เมืองอี๋หลิง ซึ่งปัจจุบันคือเมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย ทัพทั้งสองเผชิญหน้าและสู้รบกันอย่างยาวนาน จนส่งผลให้ทัพของหลิวเป้ยที่เป็นฝ่ายบุกมาเกิดความเหนื่อยล้า

ช่วงนี้เองทัพอู่ก็ฉวยโอกาสเข้าโจมตีทัพหลิวเป้ยอย่างรุนแรง และทำให้ทัพของหลิวเป้ยพ่ายแพ้ไปในที่สุด หลิวเป้ยนำทัพของตนถอยร่นลงมา จากนั้นก็ล้มป่วยลงจนเสียชีวิตไปในที่สุด

การเสียชีวิตของหลิวเป้ยทำให้เห็นว่า หลิวเป้ยเป็นผู้นำรัฐสู่หรืออยู่ในยุคสามรัฐได้ราวสองปีเท่านั้น หลังจากนั้นตำแหน่งจักรพรรดิก็ตกไปเป็นของหลิวซั่น (ค.ศ.207-271) ผู้เป็นบุตรซึ่งมีภาพพจน์ไปในทางที่อ่อนแอ แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากความอ่อนประสบการณ์ของเขาเอง และด้วยเหตุนี้ หลิวเป้ยผู้เป็นบิดาจึงได้ฝากฝังรัฐสู่ไว้กับจูเก๋อเลี่ยง

และทำให้บทบาทของจูเก๋อเลี่ยงโดดเด่นมากกว่าหลิวซั่น ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็คือ ทำให้ภาพของหลิวซั่นดูด้อยลง

การฝากภารกิจของรัฐสู่ให้แก่จูเก๋อเลี่ยงเป็นผู้ดูแลดังกล่าวปรากฏว่า จูเก๋อเลี่ยงปฏิบัติภารกิจของตนด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีจนวาระสุดท้ายของชีวิต

นั่นคือ ในระหว่าง ค.ศ.224-225 เขาได้ขยายดินแดนลงไปทางใต้ไปจนถึงทะเลสาบเตียนในอวิ๋นหนันได้สำเร็จ และพอถึง ค.ศ.227 ก็นำทัพเข้ายึดอาณาบริเวณฮั่นจงโดยทำศึกกับรัฐเว่ย แต่ศึกนี้มิได้ง่าย ถึงแม้เขาจะมีขุนศึกฝีมือดีอยู่หลายคนก็ตาม

จูเก๋อเลี่ยงจึงตรากตรำกรำศึกกับเว่ยอย่างหนัก จนถึงช่วงท้ายที่ต้องทำศึกกับมหาอำมาตย์ของรัฐเว่ยที่ชื่อ ซือหม่าอี้ (ค.ศ.179-251) นั้นเองจูเก๋อเลี่ยงก็ล้มป่วยลงและเสียชีวิตใน ค.ศ.234 จากนั้นทัพเว่ยก็ขับไล่ทัพสู่ให้ถอยกลับไปได้สำเร็จ

ภายหลังมรณกรรมของจูเก๋อเลี่ยงไปแล้ว รัฐสู่ยังมีเสนามาตย์ที่มากความสามารถอยู่อีกจำนวนหนึ่ง บุคคลเหล่านี้โดยมากได้รับการวางตัวจากจูเก๋อเลี่ยงมาก่อนแล้ว จากเหตุนี้ รัฐสู่จึงยืนหยัดต้านทานหรือต่อสู้กับอีกสองรัฐที่เหลือมาได้อีกเกือบ 20 ปี

ตราบจน ค.ศ.263 รัฐเว่ยภายใต้การนำของซือหม่าเจา (ค.ศ.211-265) บุตรของซือหม่าอี้ได้กรีธาทัพมาบุกรัฐสู่ หลิวซั่นก็เปิดประตูเมืองยอมแพ้ให้แก่ทัพเว่ยอย่างง่ายดาย

รวมความแล้วรัฐสู่เมื่อแรกก่อตั้งโดยหลิวเป้ยใน ค.ศ.220 จนถึงล่มสลายใน ค.ศ.263 นั้นสามารถอยู่มาได้นาน 43 ปี ดังนั้น หากพิจารณาจากที่จูเก๋อเลี่ยงเสียชีวิตใน ค.ศ.234 แล้วก็แสดงว่ารัฐสู่ยังอยู่ต่อมาได้อีกเกือบ 30 ปี

จะเห็นได้ว่า หากรัฐสู่ปราศจากเสนามาตย์ที่จงรักภักดีและมากความสามารถ และตัวหลิวซั่นเป็นผู้นำที่อ่อนแอแล้ว รัฐสู่ก็ไม่น่าที่จะอยู่มาได้ยาวนานเช่นนี้ และที่พ่ายแพ้ให้แก่รัฐเว่ยนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่เหล่าเสนามาตย์รุ่นเก่าได้ทยอยล้มหายตายจากกันไป

ในขณะที่รุ่นใหม่ก็อ่อนประสบการณ์จึงได้พ่ายแพ้ไป

ในขณะเดียวกัน การที่รัฐสู่อยู่มาได้ยาวหลายสิบปีนั้น ในด้านหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นด้วยว่า หากรัฐสู่ไม่มีการพัฒนาใดๆ เลยก็คงยากที่จะอยู่ได้นานเช่นกัน รัฐสู่มีการพัฒนาในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการตัดถนนเพื่อการคมนาคม ตลอดจนการสร้างเขื่อนทั้งเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการเกษตร

กล่าวกันว่า งานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงมากคือ แพรปักดอก1 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เฉิงตู ในบันทึกระบุว่า แพรปักดอกของรัฐสู่นี้ยังขายไปไกลถึงเว่ยและอู่ที่เป็นรัฐปฏิปักษ์ของตนอีกด้วย

นอกจากนี้ หากกล่าวเฉพาะจูเก๋อเลี่ยงแล้วก็ยังมีผลงานที่เป็นงานเขียน 24 ม้วน แต่ผลงานเหล่านี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว จนถึงราชวงศ์หมิงและชิงจึงมีผู้นำเอาหลักคิดจากผลงานของเขามาเขียนต่อเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหากออกไป

 

รัฐเว่ย

รัฐเว่ยหรือที่บางที่เรียกว่า เฉาเว่ย ด้วยเป็นรัฐที่มีสกุลเฉาเป็นเจ้าผู้ปกครอง รัฐเว่ยที่เฉาพีตั้งตนเป็นจักรพรรดินั้นปกครองได้เพียงประมาณหกปีก็เสียชีวิต ผู้ที่ขึ้นมาสืบอำนาจต่อคือ เฉาญุ่ย (ค.ศ.204 หรือ 206-239) ขณะที่มีอายุ 22 ปี

หลังจากนั้นเสนามาตย์รุ่นเก่าก็ทยอยจากไปทีละคนสองคนจนเหลือซือหม่าอี้เพียงคนเดียว และทำให้ซือหม่าอี้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในรัฐเว่ย

ซือหม่าอี้ได้แสดงความสามารถของเขาในหลายประการ เช่น ค.ศ.226 เขาสามารถต้านทานการบุกของรัฐอู่ได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นการนำทัพครั้งแรกของเขา พอปีถัดมาเขายังได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการทหาร หรือใน ค.ศ.238 เขายังนำทัพบุกเข้าตีแมนจูเรียจนยึดเมืองหลวงได้ เป็นต้น

หลังจากนั้นในระหว่าง ค.ศ.244-245 รัฐเว่ยก็สามารถยึดครองบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นชายแดนเอาไว้ได้ และทำให้รัฐเว่ยมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เฉาญุ่ยได้เสียชีวิตไปใน ค.ศ.238 แล้ว รัฐเว่ยก็ประสบกับปัญหาภายในอันเนื่องมาจากการแก่งแย่งอำนาจกันในหมู่พี่น้องตระกูลเฉา ส่วนตระกูลซือหม่าที่เป็นเสาหลักให้แก่รัฐเว่ยก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และต่างก็ถูกบรรจุให้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยทั่ว จนตระกูลซือหม่าได้ครอบครองรัฐเว่ยไปในทางพฤตินัย พอถึง ค.ศ.265 ที่เฉาห้วน (ค.ศ.246-302) เป็นจักรพรรดินั้นก็ถูกบุตรของซือหม่าเจาคือ ซือหม่าเอี๋ยน (ค.ศ.236-290) บีบบังคับให้สละบัลลังก์

จากนั้นซือหม่าเอี๋ยนก็สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นมา กลุ่มอำนาจสกุลเฉาในรัฐเว่ยจึงจบบทบาทของตนด้วยเหตุนี้

การล่มสลายของรัฐเว่ยนี้เห็นได้ชัดว่า หากไม่ใช่เพราะบุคคลสกุลเฉาในชั้นหลังที่ต่างก็ด้อยความสามารถแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งยังมาจากการขาดความจงรักภักดีของซือหม่าอี้อีกด้วย ทั้งนี้ เห็นได้จากการสร้างสมอิทธิพลให้กับวงศ์ตระกูลของตน และความทะเยอทะยานทางการเมือง ที่ตรงกันข้ามกับจูเก๋อเลี่ยงแห่งรัฐสู่อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

เว่ยเป็นรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับสู่และอู่ ผลงานที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งในยุคเฉาเชาคือ การพัฒนาด้านการเกษตร ด้วยดังที่รู้กันดีว่าสาเหตุของวิกฤตที่นำมาซึ่งกบฏทั่วจักรวรรดินั้น เป็นเพราะการปกครองที่ล้มเหลวของฮั่นสมัยหลัง และผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือชาวนา

เฉาเชาซึ่งรู้ปัญหานี้ดีจึงแก้ด้วยการตั้งขุนนางด้านการเกษตรขึ้นมาเฉพาะ จากนั้นสำนักขุนนางนี้ก็บริหารที่ดินขึ้นใหม่จนชาวนามีที่ดินทำกินอีกครั้ง และทำให้ปัญหาความอดอยากก่อนหน้านี้ถูกแก้ไปในดินแดนทางเหนือของเฉาเชา

ส่วนผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นนักวิชาการต่างยอมรับว่า รัฐเว่ยได้สร้างสรรค์เอาไว้ไม่น้อย ผลงานบางชิ้นยังกลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องแรกคือ การเกิดขึ้นของสำนักเต้าที่ชื่อว่า สำนักรหัสธรรม อันเป็นสำนักที่ใช้ปรัชญาเต้ามาอธิบายปรัชญาหญูของขงจื่อ

เรื่องที่สองคือ ผลงานกวีนิพนธ์ของสองพ่อลูกเฉาเชากับเฉาจื๋อ (ค.ศ.192-232) ที่เป็นที่ยกย่องกันแม้ในทุกวันนี้

———————————————————————————————————————
(1) แพรปักดอกของจีนคือ การนำผ้าแพรหรือผ้าไหมมาปักเป็นภาพ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพดอกไม้ที่เต็มไปด้วยลวดลายและสีสันจนดูเหมือนของจริง แพรปักดอกจะมีหลายขนาดตั้งแต่เท่าผ้าเช็ดหน้าจนถึงผืนยาวหลายเมตร ส่วนการปักนั้นมีทั้งที่ปักให้เห็นลายได้ทั้งสองด้านของผ้า แต่ละด้านสีของภาพจะไม่เหมือนกัน หรือที่ปักให้เห็นด้านเดียว แพรปักดอกถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจีนที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีราคาสูงมาก