โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/หนึ่งในชุดเบญจภาคี ตำนานพระนางพญา พระเครื่องพิษณุโลก

วัดนางพญา จ.พิษณุโลก

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ

 

หนึ่งในชุดเบญจภาคี

ตำนานพระนางพญา

พระเครื่องพิษณุโลก

 

“พิษณุโลก” เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ขอมมีอำนาจ จนไล่มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ประติมากรรมของขลังต่างๆ จึงมีหลายสมัยรวมกัน ไม่ว่า ขอม สุโขทัย อยุธยา ตลอดจนรัตนโกสินทร์ และวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระบูชา และพระเครื่องของเมืองพิษณุโลก ก็มีวัสดุแทบทุกอย่างในการสร้างไม่ว่าทองคำ เงิน ดิน ชิน สำริด

พิษณุโลก จัดว่าเป็นเมืองพระเมืองหนึ่ง พระที่ขึ้นชื่อเสียงของเมืองพิษณุโลก และเรียกได้ว่าชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศก็คือ พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” หรือ “วัดใหญ่” พระหลวงพ่อชินราช เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งประเทศ

นอกจากนี้ พระเครื่องของเมืองพิษณุโลก ก็มีอีกหลายองค์ที่มีชื่อเสียงในด้านพุทธคุณ และความต้องการของผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องเป็นอันมาก เช่น พระนางพญาของวัดราชบูรณะ หรือวัดนางพญา ซึ่งถูกจัดให้เป็นพระชั้นนำหนึ่งในห้าของประเทศไทย หรือชุดเบญจภาคี ที่มีชื่อเสียงนั่นเอง และจัดให้เป็นพระชั้นนำประเภทเนื้อดิน

พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง

 

พระนางพญา กำเนิดที่ “วัดนางพญา” พิษณุโลก ความจริงวัดนางพญาก็เป็นวัดเดียวกับ “วัดราชบูรณะ” ต่อมาภายหลังได้สร้างถนนผ่ากลางเลยกลายเป็น 2 วัด การได้ชื่อว่า “วัดนางพญา” ก็เพราะได้พบพระนางพญานั่นเอง

ตามการสันนิษฐาน พระนางพญานั้นผู้ที่สร้างคือ “พระวิสุทธิกษัตรี” ซึ่งเป็นอัครชายาของพระมหาธรรมราชา และเป็นพระราชมารดาของพระสุพรรณกัลยา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้าใจว่าการสร้างพระนางพญานั้น ประมาณปี พ.ศ.2090-2100 หรือประมาณสี่ร้อยกว่าปี

ต่อมา วัดถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานอันเนื่องจากศึกสงคราม กระทั่งเมื่อมีการขุดค้นพบ “พระนางพญา” วัดนางพญาจึงกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหนึ่ง

พระนางพญา เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยม ทุกพิมพ์นั่งมารวิชัยไม่ประทับบนอาสนะหรือมีฐานรองรับ รูปทรงงดงามแทบทุกพิมพ์โดยเฉพาะจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่น และลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับ “ผู้หญิง” จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่าพระพิมพ์ “นางพญา” อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่สร้างก็คือ “พระวิสุทธิกษัตรี” นั่นเอง

พระนางพญา ถูกค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ทางจังหวัดจึงจัดเตรียมการรับเสด็จที่วัดนางพญา โดยจัดการสร้างปะรำพิธีรับเสด็จ เมื่อคนงานขุดหลุมก็เกิดพบพระเป็นจำนวนมากก็คือ พระนางพญานั่นเอง ทางจังหวัดและเจ้าอาวาสก็เก็บพระเหล่านั้นไว้

พอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมา ทางเจ้าอาวาสและทางจังหวัดก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็พระราชทานให้แก่ราชบริพารที่ตามเสด็จถ้วนหน้า

ส่วนที่เหลือก็โปรดเกล้าฯ ให้นำกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง

 

พระนางพญาถูกค้นพบต่อมาอีกหลายกรุ แต่ก็เป็นพระพิมพ์เดียวกับพระที่วัดนางพญาทุกอย่าง และเนื้อพระก็เนื้อเดียวกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงภูมิประเทศที่ค้นพบ เช่น พบที่บ้าน “ตาปาน” บริเวณนี้น้ำท่วมประจำ พระเสียผิวมีเม็ดแร่ลอยมาก จึงเรียกว่า “กรุน้ำ” ในปี พ.ศ.2479 มีผู้พบพระนางพญาที่วัด “อินทรวิหาร” บรรจุอยู่ในบาตรที่เจดีย์องค์เล็ก

ต่อมามีผู้พบนางพญาที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ในกรุงเทพฯ พบที่ “พระราชวังบวรมงคล” (วังหน้า) พบที่ “วัดสังขจาย” ฝั่งธนบุรี

ครั้งสุดท้ายพบที่ “วัดราชบูรณะ” จังหวัดพิษณุโลกอีกครั้ง เมื่อมีการทำท่อระบายน้ำในบริเวณวัดประมาณปี พ.ศ.2532

 

พระนางพญา เป็นพระที่สร้างจากเนื้อดิน ผสมว่านเกสรของดอกไม้ 108 ตลอดจนแร่กรวดทรายต่างๆ แล้วนำไปเผา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อหยาบ ที่ละเอียดจะมีน้อยกว่ามาก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้ทราบว่าพระนางพญาเป็นการผสมผสานทางด้านศิลปะของสุโขทัยและอยุธยา มีการตัดขอบแม่พิมพ์ด้วยตอกชิดองค์พระ ส่วนด้านหลังจะมีรอยหดตัว พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดที่พระชานุ (หัวเข่า) พระหัตถ์ซ้ายวางตรงหน้าพระเพลา (หน้าตัก) พระเกศเมาลีมีลักษณะคล้ายปลีกล้วย

มีทั้งหมด 7 พิมพ์ด้วยกันคือ

  1. พิมพ์เข่าโค้ง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่พิมพ์หนึ่ง
  2. พิมพ์เข่าตรง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่โดยเฉพาะพิมพ์เข่าตรง แยกออกเป็น 2 พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์เข่าตรง “ธรรมดา” กับพิมพ์เข่าตรง “มือตกเข่า” แต่ทั้งสองพิมพ์ก็ถือว่าอยู่ในความนิยมเหมือนกันทั้งคู่
  3. พิมพ์อกนูนใหญ่ ถือเป็นพิมพ์ใหญ่
  4. พิมพ์สังฆาฏิ ถือเป็นพิมพ์กลาง
  5. พิมพ์อกแฟบ (หรือพิมพ์เทวดา) ถือเป็นพิมพ์เล็ก
  6. พิมพ์อกนูนเล็ก ถือเป็นพิมพ์เล็ก
  7. พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วงหรือพิมพ์ใหญ่พิเศษ

พระนางพญาไม่ว่าพิมพ์ไหน ลักษณะของเนื้อจะเหมือนกันหมด ผิดกันแต่พิมพ์ทรงเท่านั้น ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้นยอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเป็นเลิศ

จึงนับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญ ที่ปรากฏหลักฐานการสร้างและการค้นพบมาแต่โบราณ มีพุทธลักษณะงดงามสง่า กอปรกับพุทธาคมที่ปรากฏเป็นเลิศเป็นที่กล่าวขาน ทำให้ได้รับการยอมรับ

และยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “พระชุดเบญจภาคี” สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย

 

บรรยายภาพ

1.วัดนางพญา จ.พิษณุโลก

2.พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง

3.พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง