พิศณุ นิลกลัด : ประโยชน์ ‘ท่ายาก’ สำคัญอย่างไร? สำหรับคนเล่นโยคะ

พิศณุ นิลกลัด

เดือนแห่งโยคะ

เดือนกันยายนของทุกปี หลายประเทศถือเป็นเดือนโยคะแห่งชาติ หรือ National Yoga Month จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2008 โดยกระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา เพื่อให้คนเห็นถึงประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจจากการเล่นโยคะ

โยคะเป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงความเป็นหนึ่งเดียว

ซึ่งจุดประสงค์ของการฝึกโยคะก็คือสร้างความสมดุลของร่างกายและจิตใจ

การฝึกโยคะในท่าต่างๆ นอกจากเป็นการออกกำลังแล้ว

ยังเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกควบคุมลมหายใจเข้า-ออก

โยคะถือกำเนิดที่ประเทศอินเดียเมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และเริ่มเป็นที่นิยมในโลกตะวันตก หลังจากดาราและนักร้องชื่อดังของโลกหันมาฝึกโยคะ

เช่น อาลี แม็กกรอว์ (Ali MacGraw) นางเอกฮอลลีวู้ดที่ดังมากช่วงทศวรรษที่ 70 หันมาฝึกโยคะอย่างจริงจังเมื่อ 20 กว่าปีก่อนตอนอายุ 50 กว่าๆ และทำวิดีโอฝึกโยคะขายในปี 1994 ชื่อ Yoga Mind & Body เป็นวิดีโอสอนฝึกโยคะรุ่นแรกๆ และยังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น โซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญมากที่ทำให้โยคะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเวลาเห็นดาราหรือคนดังโพสต์การเล่นโยคะหรือแสดงลีลาท่ายากก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นเล่นโยคะตาม

สําหรับคนที่เล่นโยคะท่ายากในฝันที่อยากทำได้กันก็คือ ท่ายืนด้วยมือ หรือแฮนด์สแตนด์ค้างกลางอากาศแบบไม่ต้องพึ่งพิงฝา ซึ่งใน Instagram มี #handstand เกือบ 5 ล้านโพสต์

รองลงมาคือ #headstand หรือเฮดสแตนด์ ซึ่งเป็นการยืนด้วยศีรษะ มี #headstand มากถึง 1.4 ล้านโพสต์

การทำท่ายืนด้วยมือให้ได้นั้นต้องมีพื้นฐานความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ มาก่อน ไม่ใช่เริ่มหัดโยคะก็อยากทำท่ายืนด้วยมือเพื่อถ่ายรูปอวดลง Instagram

แม้ในท่ายืนด้วยมือ มีเฉพาะมือเท่านั้นที่สัมผัสพื้น แต่น้ำหนักไม่ได้ลงเฉพาะที่มือ

คนที่จะทำท่านี้สำเร็จต้องรู้วิธีกระจายน้ำหนักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายคือ ต้นแขน, ไหล่, กล้ามเนื้อช่วงท้อง และสะโพก

กล่าวกันว่าประโยชน์ของการทำท่ายืนด้วยมือและยืนด้วยศีรษะคือช่วยฝึกการทรงตัว และฝึกสมาธิ รวมถึงการฝึกความพยายาม
นอกจากนี้ หลายคนเชื่อว่าช่วยในการไหลเวียนโลหิตไปสู่สมอง และช่วยให้ใบหน้าอ่อนกว่าวัย

การทำท่ายืนด้วยมือ Handstand ค้างกลางอากาศไว้หลายวินาทีโดยไม่มีฝาให้พึ่งพิง ยากกว่าท่ายืนด้วยศีรษะ หรือ Headstand

ปัจจุบันคลาสโยคะหลายแห่งเปิดคลาสสอนท่ายืนด้วยมือโดยเฉพาะ เพราะเป็นท่ายากที่คนเล่นโยคะอยากทำให้สำเร็จ

สตูดิโอสอนโยคะ Pure Yoga ในนิวยอร์ก มีคลาสที่เน้นสอนยืนด้วยมือ หรือ Handstand โดยเฉพาะ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

สำหรับสตูดิโอสอนโยคะ Pure Yoga นั้น หนังสือพิมพ์ New York Times เคยเขียนบทความถึงในปี 2016 ชื่อบทความว่า Yoga for the Showoff. Namaste หรือ โยคะเพื่ออวด. นมัสเต (นมัสเต เป็นภาษาสันสกฤต เป็นคำทักทายและบอกลา แสดงการเคารพให้เกียรติกันและกัน)

ในบทความพูดถึงคลาสโยคะพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับคนที่ฝึกโยคะบางคนที่มุ่งมั่น ฝึกท่ายืนด้วยมือ ซึ่งอาจถูกมองว่าฝึกเพื่อที่จะโชว์ออฟ ถ่ายรูปลง Social Media โดยดูได้จากแฮชแท็ก #handstand และ #headstand ที่มีมากเป็นหลักล้านโพสต์

สอดคคล้องกับรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมันน์ไฮม์ (University of Mannheim) ประเทศเยอรมนี พบว่าโยคะนั้นเสริมอัตตา หรือเล่นโยคะแล้วทำให้อีโก้สูงขึ้น ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยทดลองให้นักเรียนโยคะจำนวน 93 คน ประเมินผลเพื่อหาระดับอัตตาของตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 สัปดาห์ด้วยวิธีการต่างๆ

เช่น ประเมินว่าตัวเองอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับความสามารถของนักเรียนในชั้นโดยเฉลี่ย และให้ทำแบบทดสอบเพื่อดูแนวโน้มการหลงตัวเอง และการเคารพตนเองของแต่ละคน

งานวิจัยพบว่าเมื่อทำการทดสอบภายในหนึ่งชั่วโมงหลังเสร็จจากการฝึกโยคะ นักเรียนแต่ละคนมีระดับการยกย่องตัวเองในอัตราที่สูงกว่าช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหน้านี้

แต่นักวิจัยก็บอกว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ฝึกโยคะในงานวิจัยนี้ไม่ได้ฝึกตามรูปแบบดั้งเดิมที่ถูกต้อง เพราะทุกคนมาจากประเทศเยอรมนีทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คนที่ฝึกโยคะและจริงจังกับการทำท่ายืนด้วยมือให้สำเร็จว่า ช่วยสร้างความมั่นใจ และทำให้มีสมาธิ

เมตตา เมอร์ดาย่า (Metta Murdaya) นักธุรกิจหญิงชาวอินโดนีเซีย เจ้าของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวยี่ห้อจูอาร่า (JUARA Skincare) ซึ่งเธออาศัยอยู่ที่อเมริกาเล่าว่า เธอฝึกท่ายืนด้วยมือเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งเธอเห็นว่าการฝึกท่ากลับหัวกลับหางนี้ ทำให้เธอมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ไม่กลัวสิ่งใดๆ และมีสมาธิ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักธุรกิจ

ไคลีย์ ฮอลลิเดย์ (Kiley Holliday) ครูสอนโยคะที่ Pure Yoga บอกว่า ท่ายืนด้วยมือได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนของเธอ เพราะหากทำได้จะรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ

ไคลีย์กล่าวว่า การทำท่ากลับหัวกลับหางเวลาฝึกโยคะนั้น ทำให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่กำลังปฏิบัติในขณะนั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกโยคะ เพราะเวลาทำท่ากลับหัวกลับหาง จิตใจจะคิดถึงแต่การทำท่าโยคะนั้นๆ

สรุปแล้วโยคะทำให้มีสมาธิ ใจจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ จึงเป็นประโยชน์กับคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ