บทวิเคราะห์ : จับสัญญาณ “พุทธิพงษ์” ร่วม “บิ๊กตู่” คสช.ชิงพื้นที่ กทม. “ประชาธิปัตย์”

อยู่ๆ ก็มีเซอร์ไพรส์

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ มีมติแต่งตั้ง “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง จากการเสนอของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ผ่านการเซ็นเสนอโดย “บิ๊กอ้อ” พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แต่งตั้งให้มีหน้าที่สนับสนุนงานของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่นายสุวพันธุ์เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.)

การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเรื่องร้องเรียนของประชาชน ซึ่งนายสุวพันธุ์มักได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะกรณีบ้านป่าแหว่ง ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มพีมูฟ

นอกจากนี้ “พุทธิพงษ์” ยังเป็นผู้ประสานงานรัฐสภา ตามที่นายสุ;พันธุ์ที่เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มอบหมาย

นอกจากให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ยังให้ “บี” เร่งพีอาร์งานของรัฐบาลสู่การรับรู้ของประชาชน และให้ทำงานใกล้ชิด อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า เสมือนเป็นโฆษกประจำตัว คอยชี้แจงแถลงไขตามที่ “บิ๊กตู่” ต้องการ

ในแง่หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง “บี” มาช่วยงานจริงๆ

แต่อีกแง่หนึ่งนั้น “บิ๊กตู่” ต้องการส่งสัญญาณความเป็นมิตรทางการเมืองกับนักการเมืองทุกฝ่าย ที่ไม่รังเกียจทหารและ คสช.

 

คอการเมืองฟันธงตรงกันว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ย่อมหวังผลทางการเมืองแน่นอน เหมือนกับที่แล้วมา ที่มีการแต่งตั้ง “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง และแต่งตั้งน้องชาย “อิทธิพล คุณปลื้ม” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากที่ “บิ๊ก คสช.” เล่นเกมดูดนักการเมืองเข้าเป็นแนวร่วมหวังสู้ศึกเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ทำไมต้องเป็น “พุทธิพงษ์”

นั่นเพราะเขาคุ้นเคย ช่ำชองการเมืองพอตัว ลงเล่นการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขตพญาไท กทม. แต่แพ้ “กรรณิกา ธรรมเกษร” ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย

ต่อมาไม่นาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบเหลืองให้ “กรรณิกา” “บี” จึงลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม จนชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังเคยเป็นโฆษก กทม.ในสมัยที่ “หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ ก่อนได้รับความไว้วางใจให้ขยับขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลงานด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม กีฬา การท่องเที่ยว และด้านการพาณิชย์

ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เวลาแถลงข่าว หน้าหล่อๆ ของเขากระชากใจนักข่าวสาวๆ อยู่ร่ำไป

 

เส้นทางการเมืองพลิกผัน เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ตั้ง กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนที่รัฐบาลนายกฯ หญิงเดินเกมพลาด เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เหมารวมให้คนแดนไกลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นผิดกลับบ้าน

โดย “พุทธิพงษ์” ประกาศลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เข้าร่วมกับ กปปส. มีบทบาทสำคัญ พามวลมหาประชาชนไปปฏิบัติการเสี่ยงอันตราย

นับเป็นหนึ่งใน “สี่ทหารเสือ” คนหนุ่มของ กปปส. อันได้แก่ พุทธิพงษ์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, ชุมพล จุลใส และสกลธี ภัททิยกุล

 

จะว่าไปแล้ว “พุทธิพงษ์” ถือเป็นคนรุ่นใหม่ภาพลักษณ์ดี ตรงนี้เป็นเครื่องมือให้ คสช.ตัดสินใจเลือกเขาได้ง่ายขึ้น นอกจากมีฐานมวลชนชาว กทม.สนับสนุนแล้ว เขายังเป็นคนเก่ง เป็นบุคลากรคุณภาพของพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่แปลกที่คนในพรรคจะออกอาการเสียดายเมื่อทราบข่าวว่าเขาตัดสินใจเข้าร่วมงานกับรัฐบาล

โดยคนในรัฐบาลส่งเทียบเชิญ “บี” มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการทาบทาม เพราะก่อนหน้านั้นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เคยขอให้มาช่วยงานอาจารย์เอ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่เนื่องด้วยความไม่พร้อม จึงตอบปฏิเสธไป

ครั้งนี้เขาใช้เวลาพอสมควรตัดสินใจก่อนจะตกปากรับคำ โดยได้ปรึกษากับหัวหน้าพรรค “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแจ้งให้ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรค ปชป.รับผิดชอบพื้นที่ กทม.ทราบ ก่อนจะตัดสินใจร่วมทำงานกับรัฐบาล “บิ๊กตู่”

ซึ่ง “บี” วิเคราะห์แล้วว่า แม้ตัวเองจะเป็นที่ยอมรับของคนในพรรค แต่อนาคตในพรรคกลับเป็นเรื่องไม่มั่นคง หากพรรคไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.เขต และขยับขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่นย่อมเสี่ยงที่จะไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ เพราะลำดับการได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจมาไม่ถึงเขา

“บี” ในฐานะอดีต ส.ส.หลายสมัย เข้าใจปัญหา กทม.เป็นอย่างดี มีความคุ้นเคยกับภาคประชาสังคมหลายเครือข่าย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทหารและ คสช.ไม่อาจเข้าถึงได้ ยิ่งบวกกับความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำงาน รัฐบาลจึงไม่รอช้าที่จะดึง ดูดมาร่วมงาน

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกดูดโดย คสช. เพราะก่อนหน้านี้ “สกลธี ภัททิยกุล” หนึ่งในสี่ทหารเสือ กปปส. ก็ได้รับโอกาสแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

คสช.ทราบดีว่าพื้นที่ กทม.นั้นเป็นฐานเสียงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กทม.นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงานการเมือง การได้ครองพื้นที่ กทม.ก็นับว่าเกือบครองประเทศได้แล้ว ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงตกเป็นเป้าการถูกดูด เพื่อไปเสริมประสิทธิภาพให้ คสช.

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนสร้างเนื้อเดียวกันระหว่าง คสช.และพรรคประชาธิปัตย์ แม้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะยืนยันทุกเช้า-เย็นว่าไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก แต่ก็ไม่พูดให้ชัดเลยว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ดังนั้น คอการเมืองแทบทุกสำนักจึงฟันธงว่า หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง “อภิสิทธิ์” จะลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้ตัวเอง เมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล

 

การเมืองวันนี้ พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ขึ้นมาหนุนหลัง “บิ๊กตู่” มีความพร้อมมากขึ้นทุกขณะ โดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยื่นจัดตั้งโดย “ชวน ชูจันทร์” จะเปิดประชุมวิสามัญในวันที่ 29 กันยายนนี้ ขณะที่กลุ่มสามมิตร ที่นำโดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ต่างเดินสายสร้างแนวร่วมและฐานเสียงกันยกใหญ่

แต่ด้วยงานของรัฐบาลก็ล้นมืออยู่แล้ว จึงเป็นไปได้สูงที่ “ชวน ชูจันทร์” จะเลือกกรรมการบริหารพรรคใช้ตัวสำรองขับเคลื่อนพรรคพลางๆ ไปก่อน รอจนเมื่อ “บิ๊กเนม” พร้อม จะเห็นโฉมหน้าแกนนำพรรคพลังประชารัฐตัวจริงลงสนาม

นั่นคงเป็นเวลาเดียวกับที่ “บิ๊กตู่” จะได้ฤกษ์ประกาศความชัดเจนอนาคตทางการเมืองว่าจะอยู่เป็น 1 ใน 3 ของบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมือง หรือจะมาในรูปแบบของนายกฯ คนนอก

เพราะเมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศชัดแล้ว จะเป็นเวลาที่ “พุทธิพงษ์” ต้องเริ่มทำงานการเมืองในนามพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกรอบ