ปศุสัตว์จ่อชง รมว.เกษตร ออกประกาศ ‘ห้ามนำเข้าสุกรจากจีน’ หาก ‘อหิวาต์แอฟริกา’ รุนแรง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ด่านกักกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดชุดปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนซากสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นทางจากประเทศจีน เนื่องจากขณะนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ระบาดรุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบ จะยึด และทำลายทิ้ง อีกทั้งให้กองสารวัตรและกักกันเข้มงวดตรวจค้นและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสุกรเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและด่านพรมแดนทั้ง 89 ช่องทาง ใน 25 จังหวัด ล่าสุด ออกประกาศชะลอการนำเข้าหมูเป็นรวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนและประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า แม้มาตรา 33 ของพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจอธิบดีกรมปศุสัตว์ในการออกประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ หากปรากฏว่า ท้องที่ใดภายนอกราชอาณาจักรมีโรคระบาด หรือสงสัยว่ามีโรคระบาดได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน แต่หากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากประเทศจีนยังมีความเสี่ยงอยู่ อธิบดีก็มีอำนาจที่จะประกาศชะลอการนำเข้าต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 90 วันต่อเนื่องไป ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากประเทศจีนยังมีความรุนแรงมากขึ้น กรมปศุสัตว์จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจออกประกาศกำหนดห้ามการนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสุกรหรือซากสุกรจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเลยได้

“นอกจากนี้ เมื่อออกประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสุกรหรือซากสุกรจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.2561 ได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอความร่วมมือให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมทุกภาคส่วน ทั้งทางอากาศยานและตามแนวชายแดน ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ตามแนวชายแดน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ทุกช่องทางที่มีการนำเข้าและนำผ่านทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศยาน รวมถึงเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในพื้นที่ สำหรับตรวจชันสูตรและยืนยันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หากพบเชื้อไวรัสก่อโรคจะได้เร่งป้องกันและควบคุมการระบาดได้อย่างทันท่วงที โรคนี้แม่ไม่ระบาดจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว