เสฐียรพงษ์ วรรณปก : การประยุกต์พุทธธรรมในการดำเนินชีวิต

ครั้งหนึ่ง ขณะกำลังจะเข้าสอนพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนิสิตมหาจุฬาฯ ระดับปริญญาโท

คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยบอกว่า จะมีฝรั่งมาถวายความรู้แก่พระนิสิตปริญญาตรี

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น จะให้ฝรั่งแกคุยอะไรกับพระนิสิตปริญญาโทก่อนไหม เผื่อจะได้แง่คิดอะไรดีๆ บ้าง

ผมเห็นว่าเป็นการ “ทุ่นแรง” ผมอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็จะได้ฟังคนนอกเขาพูดเรื่องพระพุทธศาสนาด้วย จึงยินดีอนุญาต

ในการสนทนาครั้งนี้ คุณประชา หุตานุวัตร (อดีตพระประชา ปสันนธัมโม) ทำหน้าที่ “ล่าม” ตลอดทั้งอธิบายเสริมความแก่พระนิสิตด้วย เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น

คนพูดชื่อนายจอห์น แม็กแคนนอล หรืออะไรนี่แหละ ถ้าจะจำผิดก็ขออภัย แกเป็นพวก “เควกเกอร์”

เควกเกอร์คือพวกไหน เห็นไม่ต้องอธิบาย เข้าใจว่าทุกท่านคงรู้จักแล้ว

เริ่มต้นแกก็บอกว่า เควกเกอร์ก็คล้ายพุทธองค์ หรือสาวกของพระพุทธองค์ เพราะใช้ “ความเงียบ” เป็นวิถีนำชีวิต ว่าอย่างนั้น

แล้วแกก็พูดถึงหลักอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท ตามความเข้าใจของแก เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาของชีวิต

แกออกตัวก่อนว่า ที่แกพูดนี้อาจมิใช่หลักวิชา หรือไม่ถูกต้องตามที่พระคุณเจ้าและชาวพุทธสั่งสอนกัน

แกเพียงแต่เสนอแนวคิดส่วนตัว ตามที่ศึกษามาและเข้าใจเอาเอง และว่าแกนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมได้ผลดีมาแล้วด้วย

ตอนต้นนายจอห์นแกยกเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจ 4 (ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ว่า พระองค์ตรัสว่า มีแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดอยู่ 2 ทางคือ ทางหนึ่งหย่อนเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค = การหมกมุ่นในกาม) กับอีกทางหนึ่งตึงเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค = การทรมานตน)

แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาได้คือ “ทางสายกลาง” การไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยู่กึ่งกลาง อยู่ที่ความพอดี พอเหมาะพอสมนั้นเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้

นายจอห์นแกสรุปในช่วงนี้ว่า เวลาคนสองฝ่ายทะเลาะกันหรือมีความขัดแย้งกันนั้น ถ้าเราในฐานะคนกลางไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รับรองว่าไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะเราจะมีอคติ เมื่อมีใจอคติแล้ว ย่อมจะมองไม่เห็นปัญหาหรือต้นตอของปัญหาจริงๆ

นึกดูง่ายๆ เพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่า แนวทางสายกลางนี้ทันสมัยมาก เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากทีเดียว

ความจริง ทางสายกลางของพระพุทธเจ้ามิใช่ “ตื้นๆ” แค่นี้ ในแง่หลักวิชาแล้ว ทางสายกลางมี 2 ความหมายคือ

1) ในด้านทฤษฎีหรือหลักวิชา หมายถึง “กลาง” ระหว่างรูปธรรม-นามธรรม วัตถุ-จิต ความมี-ความไม่มี หลักคำสอนคือปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท ที่สอนความจริงอันเป็นกลาง มองปัจจัยสัมพันธ์ทั่วถึง รอบคอบ รอบด้าน ไม่เอียงสุดเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในยุคสมัยที่คนปักใจเชื่อลงไปแน่วแน่ในด้านใดด้านหนึ่งเกี่ยวกับวัตถุ กับจิตใจ ฝ่ายหนึ่งก็แน่วแน่ว่าวัตถุเท่านั้นสำคัญที่สุด วัตถุเป็นตัวกำหนดจิต

แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็แน่วแน่เหมือนกัน คือปักใจเชื่อแน่วแน่ว่าจิตเท่านั้นสำคัญที่สุด จิตเป็นตัวกำหนดวัตถุ ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างก็ยึดคนละขั้ว

พระพุทธศาสนากลับสอนว่า มันสำคัญทั้งสองนั่นแหละ

วัตถุกับจิตต่างก็อาศัยกันและกัน เป็น “ปัจจัย” ของกันและกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กายกับใจเรานี้ใครว่าอย่างไหนมันสำคัญกว่าอย่างไหน มันย่อมไม่ถูกดอก กายอยู่ได้ก็เพราะมีใจครอง ใจจะรับรู้อะไรได้ก็เพราะอาศัยกาย กายเหมือนคนตาบอดขาดี ใจเหมือนคนตาดีแต่ไร้ขา ถ้าทั้ง “คนตาบอดขาดี” และ “คนตาดีไร้ขา” มาอาศัยกัน ย่อมจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ คือเดินไปไหนก็ได้ มองอะไรก็เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น

2) ในด้านปฏิบัติ “สายกลาง” หมายถึงการปฏิบัติที่ไม่เอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใน 2 ฝ่ายนี้คือ การหมกมุ่นในกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) อันเป็นการปฏิบัติที่ “หย่อน” เกินไป และการทรมานตน (อัตตกิลมถานุโยค) อันเป็นข้อปฏิบัติที่ “ตึง” เกินไป

สายกลาง ต้องระหว่างแนวปฏิบัติ 2 ทางดังกล่าวนี้

การจับเอาคำว่า “ทางสายกลาง” คือต้องทำตัวเป็น “กลาง” ไม่อคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในหมู่คนที่กำลังมีความขัดแย้ง แม้ในหลักวิชาจะไม่ “ตรง” หรือไม่ถูกนักก็ตาม แต่ต้องชมฝรั่งหนุ่มคนนี้ว่าแกฉลาดจับเอามาใช้ประโยชน์ และเมื่อนำไปใช้ก็ได้ผลเสียด้วย

แนวคิดจากอริยสัจที่นายจอห์นแกได้และนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ หลักที่สอนว่า ทุกข์ (หรือปัญหา) ทั้งหลายนั้นมีสาเหตุให้เกิด วิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหานั้น พระพุทธเจ้าท่านว่า ต้องหันหน้ามาสู้กับปัญหา มาวิเคราะห์ทำความเข้าใจตัวปัญหา

ไม่ใช่หนีปัญหา ยิ่งหนีก็ยิ่งไม่พ้นปัญหา มีแต่ผูกปมให้ยุ่งเหยิงขึ้น

ผมคิดเอาว่านายจอห์นแกคงไม่ได้อ่านพระสูตรฉบับบาลี คงไม่รู้ด้วยว่า ในพระบาลีนั้น พระพุทธเจ้าตรัสบอกหน้าที่ที่พึงกระทำเกี่ยวกับอริยสัจแต่ละข้อดังนี้

ทุกข์ หรือปัญหานั้น เป็นสิ่งที่พึงกำหนดรู้ คือต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

สมุทัย หรือเหตุทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่พึงละเว้นเสีย

นั่นหมายความว่า ในกระบวนการแก้ปัญหานั้น บุคคลจะต้องพิจารณาทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เข้าใจชัดแจ้งจนกระทั่งรู้ว่า นี่คือทุกข์ นี่คือปัญหา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ มิใช่ปิดหูปิดตา แสร้งไม่รับรู้ หลอกตัวเองเสมอว่า ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีปัญหา

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ต้องเข้าใจปัญหาและยอมรับปัญหา

เมื่อรู้และยอมรับว่ามีปัญหาแล้วก็จะไม่กระวนกระวาย จิตก็สงบ ปัญญาก็เกิด และปัญญานั้นเองจะใคร่ครวญหาสาเหตุว่าทุกข์หรือปัญหานี้เกิดจากอะไรบ้าง แล้วก็ใช้ปัญญานี้เองแก้ไขปัญหา ตรงที่สาเหตุ มิใช่แก้ที่ปลายเหตุ

นายจอห์นแกไม่ได้อ่านคัมภีร์บาลี แต่แกสามารถจับประเด็นหลักของอริยสัจ 4 ได้และนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาได้ดี ต้องชมว่ามีความเฉียบแหลมไม่น้อย

ยิ่งตอนอธิบายปฏิจจสมุปบาท โดยยกเอาประสบการณ์ของตนเป็นตัวอย่างอย่างสมเหตุสมผลด้วยแล้ว ยิ่งเห็นว่าเป็นคน “ช่างคิด” จริงๆ

ตอนหนึ่งผู้ฟังถามถึงวิธีแก้ปัญหาของปราชญ์คนอื่นๆ ว่าควรจะนำมาใช้ไหม

นายจอห์นตอบว่า ในเมื่อวิธีแก้ปัญหาดีๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว มีอยู่มากมาย ทำไมเราไม่คิดนำมาใช้เล่า ไปเห่อตามคนอื่นทำไม

ซึ่งบางทีก็มิได้วิเศษไปกว่าพุทธวิธีที่ทรงแสดงไว้เมื่อสองพันกว่าปีแล้ว

ประเด็นที่น่าคิดยิ่ง สมัยหนึ่งมีผู้แนะนำวิธีแก้ปัญหาในหน่วยงานที่เชื่อกันว่าทันสมัยมากเข้ามาให้คนไทยได้รับทราบ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชมกันทั่วไป มีการฝึกอบรมวิธีการดังกล่าวกันกว้างขวาง เรียกว่า “คิวซี” (quality control)

วิธีแก้ปัญหาตามระบบของ “คิวซี” ถ้าผมคิดไม่ผิด มันก็คือหลักการแก้ปัญหาตามนัยอริยสัจ 4 นั้นเอง หาใช่อะไรอื่นไม่

เพียงแต่เขาเอา “วัตถุดิบ” คือหลักพุทธธรรมไป “ปรุง” ใหม่ให้ดูเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบที่ทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง

เหมือนกับฝรั่งชื่อชูมักเกอร์ ได้เขียนตำราเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ออกมาเล่มหนึ่ง ฮือฮากันมากเหมือนกัน นักวิชาการต่างเอ่ยถึงกันมาก ใครไม่รู้จักชูมักเกอร์ถือว่าเชย ใครไม่รู้จักหนังสือ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ถือว่าไม่ทันสมัย ออกจะเซ่อเซอะเอาด้วยซ้ำ

อ่านไปอ่านมา เนื้อหาที่ว่าใหม่ทันสมัยนั้น กลายเป็นการนำแนวคิดเรื่องอริยมรรค 8 ของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้เท่านั้นเอง

เท่านั้นจริงๆ

แต่ชูมักเกอร์แกเก่งที่รู้จักตีประเด็นแตกและปรุงแต่งใหม่ให้เป็นระบบ อธิบายสมเหตุสมผล อ่านไปก็ร้องแบบหนังกำลังภายในไปว่า “เลื่อมใสๆ”

ความจริงเรื่องอย่างนี้ฝรั่งเขาเก่งอยู่แล้ว ขนาดตีความธรรมะผิด เขายังอธิบายได้สมเหตุสมผล อ่านแล้วก็ชม “เลื่อมใสๆ” ไปไม่ขาดปาก ยิ่งถ้าแกตีความถูก จับประเด็นได้ถูกต้อง จะยิ่งเขียนได้น่าเลื่อมใสสักปานใด

การตีความธรรมะ หรือการประยุกต์ธรรมะมาใช้ในการดำรงชีวิตนั้น ความจริงก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้รู้พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งเข้าขั้นปราชญ์

ตราบใดที่ตีออกมาแล้ว ไม่ขัดกับ “หลักการใหญ่” ของพระศาสนา ขอเพียงแต่ให้สมเหตุสมผลและปฏิบัติได้ก็น่าจะใช้ได้แล้ว

อย่างเช่นอ่านเรื่องกตัญญูกตเวที แล้วซาบซึ้งในคุณธรรมสองข้อนี้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยขยายความว่า การรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมว่ามีคุณแก่มนุษย์ แล้วพยายามช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ไม่ทำลาย เป็นกตัญญูกตเวที

อย่างนี้ ถึงจะไม่สอนในคัมภีร์ไหนก็ใช้ได้ เพราะไม่ขัดกับหลักการของพระศาสนาที่สอนให้คนรู้จักคุณคน

เมื่อขยายมาให้รู้จักคุณสิ่งของ (สัตว์, ธรรมชาติแวดล้อม) ด้วยก็ยิ่งดียิ่งขึ้น