บทวิเคราะห์ : จับสัญญาณ “คสช.” คลายล็อก กาบัตรเลือกตั้งเมื่อรู้ว่า “ชนะ”

ความจริงแล้วพรรคการเมืองควรดำเนินการเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล่นบทพี่ใหญ่ผู้คุมกฎ ไม่ยอมปลดล็อกให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องต่างๆ จึงต้องยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ และการเลือกตั้งก็ต้องลากยาวออกไปด้วย

นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองกดดันอย่างหนักให้ คสช.ปลดล็อก

เพราะทุกวันนี้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้เลย เนื่องจากติดกับดักที่ คสช.วางไว้

ไม่ว่าจะเป็น คำสั่งที่ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง

รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ดูเหมือนจะออกมาเพื่อช่วยพรรคการเมือง แต่สุดท้ายกลับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2561 เลื่อนไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562

เหตุผลหนึ่งที่ คสช. ยังไม่ยอมเปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อม

แม้จะตั้งพรรคการเมืองใหม่มาหนุนหลัง อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

แต่ คสช.ไม่เคยลืมเลยว่า การทำพรรคการเมืองนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกมาก

แม้จะมีมือดีอย่าง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมร่วมไปขับเคลื่อนพรรคหากได้รับสัญญาณ

แต่อาจารย์ใหญ่อย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีไม่เคยลืมเลยว่า ทั้ง 2 รัฐมนตรีในสังกัดนั้น ล้วนไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง เมื่อเทียบกับเซียนในสนามการเมือง

ดังนั้น คสช.จึงไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

เพราะ คสช.เองไม่ได้ต้องการเป็นเพียงกรรมการตัดสินอยู่ข้างสนาม

ทว่าหวังกลับที่จะกระหายร่วมลงเล่นในสนามการเมืองด้วย กับคำตอบสุดท้ายไม่ให้ทุกอย่างต้องเสียของ เหมือนกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สุดท้ายพรรคพลังประชาชนของนายทักษิณ ชินวัตร ก็กลับมาชนะเลือกตั้ง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน

แต่เวลานี้ คสช.หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำต้องเปิดทางให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวสู่การเลือกตั้งบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ

และที่สำคัญ คสช.ฝืนสิ่งที่ควรจะเป็นมานานมากแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือการฝืนสิ่งที่ คสช.กำหนดขึ้นมาเอง

ดังนั้น 28 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงนั่งหัวโต๊ะประชุม คสช.พิจารณาผ่อนปรนข้อบังคับให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ แต่ไม่ถึงกับเต็มร้อย เรียกว่า “คลายล็อก” ตามที่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้เสนอ

การคลายล็อกครั้งนี้ เป็นเพียงการเปิดทางให้พรรคการเมืองได้ทำงานธุรการของตัวเองตามข้อกฎหมายเท่านั้น

โดยจะใช้กรอบเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจานุเบกษา จนมีผลบังคับใช้ คือระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม ให้พรรคการเมืองดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนับหนึ่งสู่การเลือกตั้งในกรอบ 150 วัน หรือประมาณ 5 เดือน

โดยเปิดทางให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ พรรคการเมืองยังสามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เปิดทางให้ กกต.จัดแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เปิดช่องให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกพรรคได้ พร้อมกับให้สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง ให้สามารถเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้สามารถจัดประชุมใหญ่ได้

แต่การคลายล็อกหนนี้ เหมือน คสช.พยายามยื่นมือเข้าไปช่วยพรรคการเมืองใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่พร้อมจะยกมือสนับสนุน คสช.ภายหลังการเลือกตั้ง

เพราะมีรายงานข่าวว่า คสช.เปลี่ยนกรอบเวลาในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่นับ 1 เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้ คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

เปลี่ยนใหม่เป็นนับ 1 เมื่อมีคำสั่งใหม่ออกมา เช่น การหาทุนประเดิม 1 ล้านบาท ใน 180 วัน หาสมาชิก 500 คนภายใน 6 เดือน เป็นต้น

ส่วนไพรมารีโหวต ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านในวงกว้างถึงความเป็นไปได้ และรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดให้ทำไพรมารีโหวตเหมือนอเมริกา เพียงแต่บัญญัติว่า สมาชิกพรรคจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ดังนั้น “เนติบริกร” จึงเสนอไอเดียให้นำรูปแบบที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยให้แต่ละพรรคตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 11 คน มีสมาชิกพรรคร่วมด้วย ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วเสนอชื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณา แค่นี้ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว

ความจริงแล้ว คสช.อุ้มพรรคการเมืองใหม่มาโดยตลอด เป็นเกมการเมืองที่ทำควบคู่กับการเตะสกัดพรรคการเมืองเก่า เช่น ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ได้รับการยืนยันเป็นร้อยครั้งว่าไม่เซ็ตซีโร่พรรคการเมือง แต่ปรากฏว่ากำหนดให้สมาชิกเก่าต้องมายืนยันการเป็นสมาชิก ถ้าไม่มาถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เหลือสมาชิกไม่ถึงแสนคนจากเดิมที่มีเกือบ 3 ล้านคน

แม้พรรคการเมืองเก่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ทุกพรรคต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้ “บิ๊กตู่” เปิดทางเลือกตั้งเร็วๆ ดังนั้น การจะเลือกตั้งเร็วหรือไม่ จึงอยู่ที่ความพร้อมของพรรคการเมืองใหม่ด้วย โดยเฉพาะพรรคที่สนับสนุน “ลุงตู่อยู่นานๆ”

ซึ่งมีทั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ชวน ชูจันทร์” เป็นผู้ยื่นจัดตั้งพรรค พรรคร่วมพลังประชาชาติไทย ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” พรรคประชาชนปฏิรูป ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และพรรคเล็กพรรคน้อยที่ยังไม่เปิดตัวอีกหลายพรรค เหล่านี้ล้วนยังไม่มีความพร้อม

จึงไม่แปลกที่ “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งนำโดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” “สมศักดิ์ เทพสุทิน” “อนุชา นาคาศัย” จะยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐอย่างที่ปล่อยข่าวออกมาหลายครั้งหลายครา

นั่นเพราะ “กลุ่มสามมิตร” เองยังไม่มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะไปได้สักกี่น้ำ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ “สามมิตร” ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่

แต่คอการเมืองใจชื้นขึ้นมาทันทีที่เมื่อ กกต.ชุดใหม่กางปฏิทินเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้ในเดือนมกราคม 2562 แล้วจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และยิ่งใจชื้นเมื่อ “บิ๊กตู่” ยืนยันว่า เวลากาบัตรเลือกตั้งยังยึดมั่นตามปฏิทินของ กกต.

แต่จากสถิติที่ผ่านมา ก่อนจะเลื่อนเลือกตั้ง มักมีการยืนยันวันเลือกตั้ง แล้วค่อยเลื่อนด้วยปัจจัยในข้อติดขัดทางกฎหมาย ซึ่งมีมากมายหลายกับดักด้วยกัน

จึงต้องรอลุ้นว่า ในเดือนกันยายน ที่ “บิ๊กตู่” บอกจะประกาศความชัดเจนในอนาคตทางการเมือง บวกกับเป็นเดือนที่ คสช. ต้องเชิญหน่วยงานต่างๆ รวมถึงพรรคการเมืองมาให้ความเห็นเกี่ยวกับอนาคตการเลือกตั้ง ถ้าทุกอย่างยังไม่พร้อมเช่นนี้ จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกหรือไม่

เพราะปัจจัยเดียวที่จะกำหนดวันหย่อนบัตรเลือกตั้งคือ คสช.จะต้อง “ชนะ” เท่านั้น