คนไทยกับ “หนี้” ความเปราะบางทาง ศก.

อ่านข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิจัยของเอฟที คอนฟิเดนเชียล รีเสิร์ช (เอฟทีซีอาร์) บริษัทวิจัยอิสระในเครือไฟแนนเชียล ไทม์ส ที่เผยแพร่ผ่านนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว เมื่อ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้วถึงบางอ้อ

พอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมคนไทยถึงได้ไม่รู้สึกรู้สาว่าเศรษฐกิจกำลังดี ไตรมาสแรกผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวถึง 4.9 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว

ไตรมาสที่สองถัดมาก็ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์

แต่คนเดินดินกินข้าวแกงทั่วๆ ไปก็ยังรู้สึกอึดอัด หายใจเข้า-ออกติดขัดอยู่ดี เพราะมีหนี้อยู่รอบตัว

เอฟทีซีอาร์บอกว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกครั้ง

โดยในช่วงไตรมาสแรก หนี้ครัวเรือนของคนไทยยังอยู่ที่ระดับ 77.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ทั้งๆ ที่จีดีพีในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มสูงขึ้นมากเกินคาดอย่างที่ว่า

และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยไม่ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม

เป็นระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะถือเป็นระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียนด้วยกัน เป็นรองก็แต่มาเลเซียประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างหนี้แบบไทยอยู่เช่นเดียวกันในขณะนี้

 

เมื่อเทียบกับสิงคโปร์แล้ว ทั้งไทย ทั้งมาเลเซีย มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่าอยู่มาก แถมยังสูงกว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีโดยเฉลี่ยของกลุ่มจี 20 ด้วยซ้ำไป

ในจำนวนนี้ราว 1 ใน 3 ยอมรับว่าลำบากในการชำระหนี้ตามกำหนดชำระ

เกือบครึ่งหนึ่งบอกว่า ต้องนำเงินคิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนไปชำระหนี้

อีก 22 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ต้องใช้เงินถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนทั้งเดือนไปชำระหนี้

ผลการสำรวจของเอฟทีซีอาร์ ด้วยการออกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ราย มีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่ามีหนี้ติดตัวอยู่อย่างน้อย 1 ราย หรือมีเครดิตการ์ดอยู่อย่างน้อย 1 บัญชี

 

เมื่อแจกแจงประเภทของหนี้ครัวเรือนของคนไทย พบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่คือ 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบ บอกว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต รองลงมาเป็นสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ 34 เปอร์เซ็นต์ ถัดไปเป็นหนี้ที่กู้ไปใช้เป็นการส่วนตัว 24 เปอร์เซ็นต์ อีก 11 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้นอกระบบ

หนี้ครัวเรือนในประเภทที่เป็นผลบวกในระยะยาว อย่างเช่น การกู้ยืมเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจ หรือการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยกลับมีน้อย หนี้ครัวเรือนที่ใช้ไปเพื่อที่อยู่อาศัยมีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ไปทำธุรกิจมีน้อยมาก แค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ระดับหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง เพราะต้องนำเงินรายได้ในแต่ละเดือนส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศลดน้อยลงตามไปด้วย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยถึงได้จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศและการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ขยายตัวอยู่ต่อไป

ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังคงต้องผูกติดกับสภาวะแวดล้อมภายนอกประเทศอยู่ต่อไป เมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าหลักๆ เกิดปัญหา หรือนักท่องเที่ยวเกิดเลิกมาไทยเมื่อไหร่ จีดีพีก็วูบตามไปด้วยเมื่อนั้น

เป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของประเทศ

 

ความเปราะบางอีกอย่างเกิดขึ้นกับบรรดาครัวเรือนที่มีหนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดสภาวะอึดอัด คับข้องใจ แต่ยังส่งผลให้ 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยตกอยู่ในความเสี่ยง ตกอยู่ในสภาพไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต

ต้องทำมาหากินอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับที่หลายคนรู้สึกว่า จะเจ็บป่วย เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องลุกขึ้นไปทำงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีเงินซื้อหาอะไรมาใส่ปากท้อง และไม่มีเงินส่วนที่จำเป็นต้อง “ใช้หนี้”

เงินที่หาได้ ต้องใช้อย่างจำกัด มีรายจ่ายพิเศษนอกเหนือปกติไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนทั่วไปถึงได้เดือดร้อนนักหนาทุกครั้งที่น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ฯลฯ ขึ้นราคา

เป็นความเปราะบางอีกอย่างหนึ่งของชีวิต

จะให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีหนี้สินอยู่ในเวลานี้ ยิ้มแย้มลืมตาอ้าปากได้พร้อมๆ กับเศรษฐกิจขยายตัว ก็ต้องไม่ลืมหาทางเพิ่มปริมาณเงินในกระเป๋าของสามัญชนเหล่านี้ด้วยครับ