“เจ้าสัวธนินท์” กับยุทธศาสตร์ใหม่ซีพี ปั้นโมเดลเช่านาปลูกข้าว-โดดอุ้มโชห่วย ทุ่มสุดตัวสร้างเมืองใหม่-ไฮสปีดอีอีซี

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์สื่อไทยแบบมาราธอนถึงยุทธศาสตร์ใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจเครือซีพี ขณะร่วมเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีน

การปรับเปลี่ยนของกระแสโลก ผลพวงจากดิจิตอลดิสรัปชั่น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง

และเจ้าสัวธนินท์ก็มองทะลุสิ่งเหล่านี้

แม้เจ้าสัวซีพีจะมีอายุ 79 ปีแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประกาศว่าตัวเองจะวางมือจากธุรกิจทั้งหมดตอนอายุ 89 ปี หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยวางตัวนายสุภกิต (เจียรวนนท์) ที่ตอนนี้เป็นประธานกรรมการเครือซีพีขึ้นเป็นประธานอาวุโสแทนตัวเอง และให้นายศุภชัย (เจียรวนนท์) ขึ้นจากซีอีโอ เป็นประธานกรรมการ

อีกหนึ่งหน้าที่ใน 10 ปีนี้ก็คือ การเฟ้นหาผู้บริหารใหม่ที่จะขึ้นมาเป็นซีอีโอของทั้งเครือ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพ หรือเจียรวนนท์ ที่สำคัญคือ ต้องทำงานได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

 

สําหรับยุทธศาสตร์ใหม่เครือซีพีจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งในธุรกิจใหม่อย่างโปรเจ็กต์สร้างเมืองใหม่-โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมถึงการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเดิมของเครือซีพี แม้กระทั่งธุรกิจการเกษตรในโมเดลใหม่ เพื่อที่ไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เจ้าสัวธนินท์กล่าวว่า กลุ่มซีพีมีแผนลงทุนหลายแสนล้านบาท เพื่อสร้างโครงการเมืองใหม่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ในคอนเซ็ปต์เมืองอัจฉริยะ ที่มีการวางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน รวมทั้งบริการอื่นๆ ของเมืองให้มารวมกันอยู่ในจุดเดียว เช่น โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ศูนย์การค้าใหญ่กลางเมือง เป็นต้น

“ฉะเชิงเทราจะเป็นโครงการทดลองที่เชื่อมต่อกับอีอีซี ซึ่งจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเชื่อมต่อเข้ามายังสถานีมักกะสัน เพื่อให้การเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ทำได้ภายใน 20 นาที”

ภายในเมืองใหม่จะใช้ระบบ zero waste หรือการรีไซเคิลขยะให้เป็นศูนย์ ถนนจะทำเป็น 3 ชั้น ชั้นบนเป็นสวนสาธารณะ ชั้นกลางเป็นถนนและทางรถไฟ ชั้นล่างสุดเป็นส่วนของระบบสาธารณูปโภค เช่น ขยะ ท่อน้ำเสีย ท่อบริการของระบบไฟฟ้า-ประปา

“แนวคิดเมืองใหม่ คือรถต้องไม่ติด หรือคนสามารถเดินไปทำงานได้ และต้องรองรับประชากรได้ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพื่อให้ธุรกิจและบริการคุ้มทุน เมืองยิ่งใหญ่จะยิ่งดี เพราะจะคุ้มค่าในการลงทุนสาธารณูปโภค โดยขณะนี้ได้ให้สถาปนิกและที่ปรึกษาจากสหรัฐและอังกฤษออกแบบและวางแผนอยู่”

ยังมีโครงการใหญ่ในการเข้าร่วมประมูลโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน ที่ประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จต้องใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านบาท

นายธนินท์กล่าวว่า ขณะนี้มีพันธมิตรทั้งจากจีนและญี่ปุ่นร่วมลงทุน รวมทั้งมีการคุยกับฝรั่งเศสและอิตาลีไว้ด้วย แต่ที่อยากได้เพิ่มก็คือสหรัฐ เพราะยังไงก็ทิ้งสหรัฐไม่ได้ ส่วนพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยก็กำลังเจรจากันอยู่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน

รวมไปถึงโปรเจ็กต์สร้าง “เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา” และ “ไฮสปีดอีอีซี” คือ 2 โปรเจ็กต์ยักษ์ที่เจ้าสัวธนินท์มุ่งมั่นจะให้เป็นธุรกิจแห่งอนาคตของเครือเจริญโภคภัณฑ์

 

ขณะเดียวกันภาคเกษตรที่เป็นฐานเดิมของซีพี ได้กล่าวถึงคอนเซ็ปต์การพัฒนาเกษตรรูปแบบใหม่ 2 เรื่อง คือ 1.ทำนาแบบไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง

เจ้าสัวอธิบายว่า การทำนาแบบนี้ต้องอยู่ในเขตชลประทาน โดยใช้วิธีกั้นคันดินให้สูง 1.50 เมตร ปรับพื้นข้างล่างที่เป็นดินเหนียวให้แน่นไม่ให้น้ำซึม ใช้แทร็กเตอร์ลงลุย แล้วลงดินซุยสำหรับปลูกข้าวหนาประมาณ 50-60 ซ.ม. เพราะรากข้าวยาวแค่นั้น ปกติแมลงจะมากินข้าว 2 ช่วงคือ ตอนเป็นต้นอ่อนกับตอนออกดอก ซึ่งช่วงนั้นให้ปล่อยน้ำเข้าให้ท่วมมิดต้นข้าว เพราะข้าวทนจมน้ำได้ 8 ช.ม. ขณะที่แมลงจมน้ำ 1 ช.ม.ก็ตาย เมื่อเกิน 1 ชั่วโมงแล้วก็ระบายน้ำออก จึงแทบไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือไม่ใช้เลยก็ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังทดลองอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร

และอีกหนึ่งแนวคิดของเจ้าสัวคือ 2.ควรลดพื้นที่ปลูกข้าว จากตอนนี้มี 105 ล้านไร่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่จีนและอินเดียกินข้าวน้อยลง หรือส่งออกมากขึ้นก็จะแย่ และวันนี้พม่ากำลังกลับมาเริ่มพัฒนาที่นาเป็นการใหญ่ ดังนั้น จึงต้องดูพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม เช่น ภาคกลางน้ำมาก สวนผลไม้ดีที่สุด แต่ต้องรอ 3 ปี ตรงนี้ต้องคิดว่าจะเสริมรายได้เกษตรกรในช่วงต้นอย่างไร หรือในพื้นที่ถ้าปลูกข้าวไม่คุ้ม ผลผลิตต่ำ ก็ควรไปปลูกอย่างอื่นที่คุ้มกว่า

“เรื่องปลูกข้าวถ้าเจ้าของไม่พร้อมทำเอง ซีพีพร้อมสวม โดยจ่ายค่าเช่านาเท่ากับรายได้เดิมบวกเพิ่ม 10% แต่ซีพีจะไม่ทำเอง ใช้วิธีไปหาคนรุ่นใหม่มาทำเกษตรและใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเถ้าแก่ในแต่ละพื้นที่” เจ้าสัวซีพีกล่าว

 

ในส่วนธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพีที่มีบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ดูแลกิจการร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ตกเป็นจำเลยสังคมว่าทำให้ร้านโชห่วยล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

แต่วันนี้เจ้าสัวธนินท์เริ่มวางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับธุรกิจค้าปลีกด้วยการเข้าไปดูแลปรับปรุงร้านโชห่วย และสร้างให้เป็นเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีพี ไม่ใช่คู่กรณีเหมือนที่ผ่านมา

เจ้าสัวซีพีฉายภาพไว้ว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีโชห่วยอยู่ถึง 600,000 ร้าน เป็นเซเว่น-อีเลฟเว่นราว 11,000 สาขา ซึ่งถ้าจะเปิดเต็มที่ก็คงไม่เกิน 20,000 สาขา แม้จะมีพื้นที่อีกมากที่ยกระดับได้ แต่ปัญหาคือร้านเยอะไป จะแย่งกันจนไม่มีใครกำไร และที่สำรวจคิดว่าโชห่วยทั่วประเทศควรมีประมาณ 200,000 ร้านค้า และสิ่งที่ต้องขายเพิ่มก็คือ “ของสด” สิ่งที่ซีพีจะทำคือ 1.อบรมเจ้าของร้าน 2.ลงตู้แช่ให้ฟรี 3.จัดการเรื่องขนส่งสินค้าให้ 4.จัดหน้าร้านใหม่ให้สะอาด และสว่าง เจ้าของร้านแค่ทำหน้าที่เช็กสต๊อกให้ดี

เจ้าสัวธนินท์อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากการปรับปรุงร้านโชห่วยแล้ว ซีพีมีแผนจะเปิดภัตตาคาร/ร้านอาหาร 50,000 จุด ในรูปแบบแฟรนไชส์ ตอนนี้กำลังอบรมคนที่จะเป็นเถ้าแก่และเจ้าของร้าน โดยให้ร้านอาหารซื้อสินค้าจากร้านโชห่วย เป็นการช่วยระบายสินค้า อาหารที่ผลิตก็หลากหลาย ร้านอาหารไม่ต้องทำเอง เอาวัตถุดิบสำเร็จไปต้ม ผัด ทอด นึ่ง และสร้างความแตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปใน 2 เรื่อง คือมีบริการเดลิเวอรี่ด้วยมอเตอร์ไซค์, จักรยาน หรือเดินในรัศมี 1 กิโลเมตร และมีโคเวิร์กกิ้งสเปซในร้าน ให้มานั่งทำงาน สั่งอาหาร สั่งกาแฟได้ด้วย ซึ่งเซเว่นฯ ก็ต้องปรับ เพิ่มบริการเดลิเวอรี่ด้วย

บทสัมภาษณ์ของเจ้าสัวธนินท์ นอกจากสะท้อนภาพการลงทุนระลอกใหญ่ในโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกภาพที่ชัดเจนก็คือการเดินยุทธศาสตร์ใหม่ของซีพี ที่พยายามพลิกภาพ ด้วยการเข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนา โชห่วย หรือร้านอาหารต่างๆ

นี่คือจังหวะก้าวใหม่ของยักษ์ใหญ่ซีพี ที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้รับการตอบรับอย่างไร